คู่มือเที่ยววันเด็กอย่างไร? ให้ปลอดภัย หายห่วง

คู่มือเที่ยววันเด็กอย่างไร? ให้ปลอดภัย หายห่วง

ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 ซึ่งจะตรงกับวันที่ 14 มกราคม 2566 นี้ ด้วยกิจกรรมสุดมหัศจรรย์ สร้างสุขที่เหล่าหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้จัดขึ้น เพื่อให้น้องๆ หนูๆ ได้สนุกสนานเพลิดเพลินในรูปแบบต่าง ๆ  

ทว่าในช่วงเวลาแห่งความสนุก อาจจะเกิดความวุ่นวาย หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ เพราะด้วยความแออัดของผู้คน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ป้องกันเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ลูกๆ ร่วมกิจกรรมได้อย่างราบรื่น  เริ่มจาก

ก่อนไปร่วมงานวันเด็ก พ่อแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

1.คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกด้วยว่า ก่อนวันงานมีอาการไม่สบายไหม ดูสุขภาพร่างกายของเด็กก่อน มีไอ จาม น้ำมูกไหม ถ้ามีอาการไม่ควรพาไป แนะนำพักผ่อนอยู่ที่บ้าน เล่นแถวบ้าน ไม่พาไปที่ไกลๆ คนเยอะๆ เพราะลูกเราอาจได้รับเชื้อมากขึ้น หรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง

2.หาข้อมูลสภาพอากาศล่วงหน้าว่า จะมีอากาศเย็นไหม หรือร้อนมากหรือเปล่า เพื่อเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ควรเน้นสวมใส่สบาย สามารถเคลื่อนไหวคล่องตัว สวมหมวกเพื่อป้องกันแดด หรือเตรียมร่ม หากมีฝนตก และปัจจุบันมีเรื่องของฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในบางพื้นที่ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”โชว์ผลงานดิจิทัลอาร์ท 13-14 ม.ค.นี้

หนูๆ ห้ามพลาด เช็กสถานที่จัดงาน "วันเด็กแห่งชาติ 2566" พร้อมของรางวัลเพียบ

เร่งแก้ "เด็กเกิดใหม่น้อย" ก่อนสังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้บุตรหลาน

เช็กอิน! 9 แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมทั่วประเทศ วันเด็ก 14 ม.ค.นี้

 

เตรียมตัวก่อนเที่ยววันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 

3.เลือกสถานที่ให้เหมาะกับวัย และตามความสนใจของลูก

 สถานที่แต่ละแห่งล้วนมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องดูวัยของลูกเป็นหลักว่าเหมาะกับกิจกรรมนั้น ๆ หรือไม่ รวมถึงเรื่องความปลอดภัย และสุขอนามัยด้วย เพราะบางสถานที่อาจไม่เหมาะกับเด็กเล็ก หรือบางแห่งก็ค่อนข้างจอแจ คนเยอะ ลูกของเราอาจไม่สบายตัว งอแง จนทำให้หมดสนุกได้ และสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ ไม่ใช่เลือกสถานที่ตามความสนใจของพ่อแม่ หรืออยากให้ลูกไป แต่ควรเลือกไปยังสถานที่ที่ลูกชอบจริง ๆ เช่น ลูกชอบเครื่องบิน ก็ควรพาไปดูเครื่องบินของจริง เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้อย่างมีความสุข

4.ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง

เมื่อออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน เขาก็จะเข้าไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง ลูกของคุณจึงควรช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนี้ เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่า ก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ดีกว่าอีกด้วย

5.ฝึกให้ลูกรู้จักการอดทนรอคอย

การฝึกให้ลูกรู้จักการรอ ต้องค่อย ๆ ฝึกทีละน้อย และให้ลูกรอในสิ่งที่รอแล้วได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนลูกคุยเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูกระหว่างรอ และช่วยให้ลูกรอนานขึ้นได้

6.สอนลูกเรื่องการรับของแจกจากผู้อื่น

เทศกาลวันเด็กส่วนใหญ่มักจะมีการแจกของให้เด็ก ๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกในเรื่องมารยาทการรับของจากผู้ใหญ่ ทั้งการยกมือไหว้ พูดขอบคุณ และการเลือกรับของที่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมนึกถึงเด็กคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับของด้วย รวมถึงการรู้จักเข้าคิวเพื่อรับของแจก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทักษะที่ลูก ๆ จะสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปด้วย

 

เที่ยวงานวันเด็กต้องให้ปลอดภัย ระวังพลัดหลง

ข้อนี้สำคัญที่สุด!!! พ่อแม่ต้องการเตรียมป้ายชื่อ-สกุล ชื่อเล่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ปกครอง ยา/โรคประจำตัว  เพราะถ้าเกิดเหตุพลัดหลง/ลูกหายขึ้นมาจริง ๆ วินาทีนั้นเชื่อว่าคงเป็นวิกฤต ช็อกสุดขีดของพ่อแม่ ยิ่งในสถานที่ที่จัดงานวันเด็ก มีผู้คนหนาแน่น การทำป้ายชื่อ หมายเลขโทรศัพท์พ่อแม่ ยา/โรคประจำตัวใส่ถุงพลาสติกกันน้ำใส่ในกระเป๋าเสื้อ/กางเกง/เป้ของลูก ไว้หลาย ๆ จุด สำหรับป้องกันกรณีพลัดหลงจากผู้ปกครอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อให้มารับตัวเด็กกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ หาสายจูงข้อมือ-หน้าอกกับลูกไว้ตลอดเวลา (คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่คุ้นเคยและอาจมองเราในแง่ลบ แต่สำหรับฝรั่งนั้นเขาใช้สายนี้กันเป็นปกติเวลาที่ต้องพาลูกไปในที่คนหนาแน่นและมีโอกาสพลัดหลงได้)

ถ้าลูกโตพอ ต้องสอนลูกให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ เช่น วิ่งไปแจ้งพิธีกรบนเวที ผู้ประกาศในงาน รปภ. ตำรวจ เป็นต้น

นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดเวลา แต่คงไม่ถึงกับต้องจดจ้องตลอดทุกวินาที แต่ต้องสอนลูกห้ามไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้าเด็ดขาด รวมถึงการรับน้ำ/อาหาร/ขนมจากคนแปลกหน้าโดยเด็ดขาด

ว่ากันว่า ทุก ๆ ปีจะมีรายงานเด็กพลัดหลง/สูญหายตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมาก และจากการสืบสวน ก็พบว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะถูกชักจูงและหายไปกับคนแปลกหน้าโดยเด็กไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด อาชญากรเหล่านี้มักมีทักษะหลอกล่อเด็ก ๆ ได้ดี ทำให้เด็กหลงเชื่อโดยง่าย จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างจากข้อแรก หรืออาจจะร้ายแรงมากกว่า

  • ระวังการพลัดตกหกล้ม

เนื่องจากบางกิจกรรมที่ลูกไปร่วมอาจมีความเสี่ยงของการพลัดตกจากที่สูง เช่น ตกจากเครื่องเล่นปีนป่าย ตกจากยานพาหนะที่จัดแสดง เช่น รถถัง เครื่องบิน เป็นต้น

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องประเมินความสามารถและทักษะของลูกก่อนว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และควรจัดเสื้อผ้ารองเท้าที่รัดกุม มีความยืดหยุ่น ไม่รุ่มร่ามหรือคับแคบจนไม่สามารถขยับแขนขาได้เต็มที่อันจะมีส่วนเสริมให้เกิดการพลัดตกหกล้มมากยิ่งขึ้น

 นอกจากนี้ ควรพกน้ำเกลือขวดเล็ก ๆ แอลกอฮอล์ล้างแผลหรือเบตาดีน และพลาสเตอร์ปิดแผลไปบ้าง เผื่อมีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็สามารถดูแลเบื้องต้นได้ทันที ไม่ต้องไปเดินหาห้องปฐมพยาบาลให้เสียเวลาตะลุยโลกกว้างของเด็ก

การดูแลสุขอนามัยและอาหารของลูกน้อย

แนะนำให้ยึดแนวทางที่ว่า ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ ปลูกฝังให้ลูกน้อยล้างมือทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหารหรือหยิบจับขนม ควรเตรียมน้ำดื่มไปเอง เพื่อระมัดระวังเรื่องความสะอาด ในส่วนของอาหาร หากมองว่าทำไว้นานแล้ว หรือมีแมลงวันตอม วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ หากไม่แน่ใจ แนะนำให้หลีกเลี่ยง ช่วยลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารได้

  • ดูแลเรื่องน้ำดื่ม/นมและอาหาร

ทุก ๆ ปีหลังเสร็จกิจกรรมงานวันเด็ก จะมีเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยที่มีอาการอาเจียน/ท้องเสียอย่างรุนแรง ในคืนนั้นหรือวันถัดมา ซึ่งก็คืออาการของลำไส้อักเสบเฉียบพลันนั่

ส่วนใหญ่แล้วมักมีสาเหตุจากการรับประทานอาหาร/น้ำดื่มไม่สะอาด โดยเฉพาะของโปรดของเด็ก ได้แก่ น้ำแข็ง/น้ำหวาน/ไอศกรีม อีกทั้ง มีสาเหตุอาหารที่ซื้อจากร้านค้าที่มาร่วมจำหน่ายในงาน อาจจะเตรียมอาหารไว้ตั้งแต่กลางดึก หรือสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้อาหารบูดเสียเร็ว เป็นต้น

ฉะนั้น ควรพิจารณาเลือกร้านอาหารให้ดี หรือเตรียมน้ำดื่ม/อาหาร/นม ไปเองน่าจะปลอดภัยกว่า เลี่ยงการดื่มน้ำหวาน/น้ำแข็งบด เพราะมักจะมีแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่เสมอ นอกจากนี้ หากลูกมีภาวะการแพ้อาหารบางชนิด ยิ่งจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารประเภทต่าง ๆ ให้มากขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมอาหารที่เหมาะกับลูก

  • จัดเตรียม เสื้อผ้า/ผ้าอ้อมสำรอง 

เพราะความเลอะเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งในเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการเลอะจากการดื่มกิน เปียกเหงื่อ และการขับถ่าย เตรียมไปเผื่อไว้หลาย ๆ ชิ้นได้เลย

  • การนอนพัก/ดื่มน้ำให้เพียงพอ

เมื่อเล่นไปนาน ๆ เล่นมาก ๆ พลังงานก็จะหมด  ไหนจะต้องต่อสู้กับพลังความร้อน พลังเสียงอันอึกทึกครึกโครมรอบ ๆ ตัวตลอดเวลา ย่อมจะต้องใช้พลังมากเป็นพิเศษ ดีที่สุดก็ควรให้ลูกได้พักครึ่ง เช่น หลังพักทานมื้อกลางวัน ก็ควรหาที่ร่ม ๆ เย็น ๆ เงียบ ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ หาผ้าชุบน้ำเย็น ๆ ลูบหน้า คอ ตามตัวให้สบายแล้วให้นอนพักสักงีบ เป็นการชาร์จพลังในตัวสำหรับการเรียนรู้รอบบ่ายต่อไป

ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือการให้ลูกดื่มน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกขาดน้ำ เพราะทั้งกิจกรรมและสภาพอากาศที่ร้อนจะทำให้ลูกสูญเสียน้ำในร่างกายไปมากมายกว่าที่คิด

รวมทั้ง  ให้สังเกตุจากปัสสาวะของลูกไปด้วย หากปัสสาวะไม่มากร่วมกับมีสีเหลืองเข้ม นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่าลูกกำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ พยายามให้ลูกดื่มน้ำให้บ่อยขึ้น เลี่ยงการตากแดดนานเกินไป เพราะจะสาเหตุให้ลูกเจ็บป่วยตามมาหลังจากนี้ได้

  • ครีมกันแดด

ข้อนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับทุกคน แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่มีปัญหาผิวหนังที่บอบบางและไวต่อแสงแดด ก็ถือว่าจำเป็นทีเดียวครับ โดยเฉพาะถ้าต้องเข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน 

 

อ้างอิง: โรงพยาบาลยันฮี ,โรงพยาบาลเปาโลrakluke.com, มูลนิธิกระจกเงา