เล่าเรื่อง "โขน" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง "หนุมาน" โขนภาพยนตร์

เล่าเรื่อง "โขน" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง "หนุมาน" โขนภาพยนตร์

“อยากให้โขนเป็นที่รู้จักทั่วโลก” เบญจมินทร์ ตาดี หนุ่มชาวแคนาดา บอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อ "โขน" วัฒนธรรมของไทยที่ทำให้เขาหลงใหลจนตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ไทยกว่า 10 ปี และได้ร่วมเป็นหนึ่งในนักแสดงบท "หนุมาน" ใน "โขนภาพยนตร์"

หลังจากมีการเปิดตัว “โขนภาพยนตร์ หนุมาน WHITE MONKEY” ซึ่งผู้แสดงทั้งหมดล้วนเป็นนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง และนักแสดงที่มีความสามารถด้านนาฏศิลป์โขนจากสถาบันต่างๆ ขณะที่ “หนุมาน” ซึ่งถือเป็นตัวเองของเรื่อง ถูกแสดงโดยนักแสดงโขนซึ่งมีความถนัดในแต่ละฉากที่แตกต่างกันราว 4-5 คน และหนึ่งในนั้น คือ “เบญจมนิทร์ ตาดี” ชาวแคนาดา วัย 38 ปี ที่มีความหลงใหลในการศิลปวัฒนธรรมของไทยโดยเฉพาะ “โขน”

 

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ "เบญจมินทร์" ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยและศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ โขนจนจบปริญญาโท ที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม อีกทั้ง ได้ร่วมแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง และปัจจุบันยังเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม อีกด้วย

 

ที่มาชื่อ "เบญจมนิทร์ ตาดี"

สิ่งแรกที่หลายคนสงสัย คือ ชื่อที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทยอยู่ในนั้น แต่ความจริง “เบญจมินทร์” เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า ชื่อนี้คือชื่อที่มีมาตั้งแต่เกิด คือ “Benjamin Tardif” ด้วยความที่นามสกุลเป็นภาษาฝรั่งเศส และตัว F ตัวสุดท้าย ไม่ได้ออกเสียง ดังนั้น เวลาเราพูดภาษาฝรั่งเศส เสียงจะคล้ายๆ คำว่า “ตาดี” เมื่อตอนที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ จ. สุโขทัย หลายคนบอกว่าชื่อและนามสกุลเป็นชื่อไทย "เบญจ" แปลว่า 5 "มินทร์" คือ เทพเทวดา และ “ตาดี” นามสกุลที่ดูโบราณ

 

เล่าเรื่อง \"โขน\" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง \"หนุมาน\" โขนภาพยนตร์

Cr. เฟซบุ๊ก Benjamin Tardif

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"โขน" มิติใหม่บนจอ "ภาพยนตร์" หนุมาน WHITE MONKEY

 

 

จุดเริ่มต้นของการรู้จักกับโขนย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ในช่วงอายุ 18 ปี เบญจมินทร์ ได้มีโอกาสเดินทางมาแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทย ในโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนโรตารี ที่ โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม ขณะนั้น ครูได้พาไปเรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่วิทยาลัยนาฎศิลปสุโขทัย กลายเป็นที่มาของการหลงใหลในศิลปะโขนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

“ตอนนั้นไม่รู้จักโขนมาก่อน เราเห็นตอนเขากำลังซ้อม ใส่โจงกระเบน ไม่รู้ทำไมถึงรู้สึกชอบมาก รู้สึกคุ้นเคย ทั้งๆ ที่เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเรียนรู้และศึกษาให้ลึกซึ้ง”

 

เรียนภาษาไทย จากโขน

"เบญจมินทร์" กลายเป็นคนต่างชาติคนเดียวในตอนนั้นที่เข้ามาศึกษาเรื่อง โขน อย่างจริงจัง ซึ่งการเรียนโขนในฐานะต่างชาติ ที่ไม่คุ้นเคยภาษาไทยมาก่อน แต่ต้องศึกษาท่ารำ บทร้องต่างๆ เป็นภาษาไทย ทำให้ต้องใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน เบญจมินทร์ สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว โดยที่ไม่เคยนั่งเรียนภาษาไทยในห้องเรียนมาก่อน

 

“ในช่วงนั้นนาฎศิลป์ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ และตอนนั้นเรายังพูดภาษาไทยยังไม่ได้ เราไม่ได้เรียนทฤษฎี หรือ เรียนแกรมมาภาษาไทยในห้องเรียน แต่เรียนจากวรรณคดีรามเกียรติ์ การปฏิบัติโขน ขณะเดียวกัน ครูไม่ได้สอนโขนพิเศษหรือแตกต่างจากเพื่อนคนอื่น ครูต่อเพลงให้คนอื่น เราก็ต่อเพลงเหมือนกัน ไม่ได้แบ่งแยก เพื่อให้ลูกศิษย์มีพื้นฐานที่เท่ากัน ซึ่งทำให้เราดีใจมาก”

 

เล่าเรื่อง \"โขน\" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง \"หนุมาน\" โขนภาพยนตร์

Cr. เฟซบุ๊ก Benjamin Tardif

 

 

เบญจมินทร์ เล่าต่อไปว่า สำหรับการเรียนท่ารำไม่ยากเพราะเราสามารถทำตามคนอื่นได้ แต่พอต้องเรียนละเอียดมากขึ้น ต้องพยายามจำคำศัพท์ให้ได้ ให้เข้าใจบทร้อง บทเจรจา เพราะมีคำราชาศัพท์ คำศัพท์โบราณ ภาษาวรรณคดี จึงต้องอ่านและแปลจากคำราชาศัพท์ มาเป็นภาษาไทยธรรมดา เพื่อให้เข้าใจได้ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้าใจศิลปวัฒนธรรมไทยได้ลึก การเรียนที่ต้องฟังซ้ำๆ ทุกวัน ทำให้เราต้องจำ เป็นวิธีการเรียนที่รู้สึกสนุก และไม่เคยเครียดในการเรียนรู้ภาษาไทย

 

10 ปีกับการกลับมา สัมผัสโขนอีกครั้ง

หลังจากต้องกลับไปเรียนต่อปริญญาตรีที่แคนาดาและทำงานเป็นครูด้านสังคมจิตวิทยากว่า 10 ปี แต่ลึกๆ แล้ว เบญจมินทร์ ก็ยังมีความนึกถึงโขนมาโดยตลอด กระทั่งตัดสินใจเดินทางมาที่ไทยและไปที่สุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง การได้กลับมาสัมผัสโขนทำให้อยากจะเรียนอย่างจริงจังและทำเป็นอาชีพ

 

“อาจารย์ที่สุโขทัย แนะนำให้ไปเรียนปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม สาขานาฎศิลป์ไทย ทำให้มีโอกาสได้ไปออดิชั่นที่ศาลาเฉลิมกรุง จนได้เข้าเป็นหนึ่งในนักแสดง นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาส ร่วมแสดงกับกลุ่มศิลปินแห่งชาติ กรมศิลปากร และเทศกาลต่างๆ ทำให้ได้ประสบการณ์มากขึ้น”

 

เล่าเรื่อง \"โขน\" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง \"หนุมาน\" โขนภาพยนตร์

Cr. เฟซบุ๊ก Benjamin Tardif

 

ฝรั่ง หัวใจไทย ภายใต้ “หัวโขน”

เบญจมินทร์ เล่าต่อไปว่า เวลาที่ไปแสดงในที่ต่างๆ ทุกครั้งเมื่อถอดหัวโขนออกมาแล้วคนดูเห็นว่าเราเป็นคนต่างชาติ ทุกคนจะแปลกใจ และส่วนใหญ่คนสูงอายุเขาจะดีใจ ปลื้มใจ ที่เขาได้เห็นต่างชาติที่มีใจรักกับศิลปวัฒนธรรมไทย และเข้ามาขอบคุณ เราไม่เคยคิดว่าเราจะสามารถทำให้คนรู้สึกแบบนี้ได้ มันทำให้เรามีความสุขมาก

 

“เพราะเราเป็นต่างชาติจะเป็นจุดสังเกตที่มากกว่าคนอื่น ทุกรอบที่เล่น จึงคิดเสมอว่าอยากจะทำให้ดีที่สุด ตามที่ครูสอนมา เพื่อให้ครูบาอาจารย์มีความภูมิใจ ดังนั้น จึงพยายามทำให้ดีในทุกๆ รอบที่ได้แสดง”

 

เข้าใจศิลปะ ต้องใช้เวลา

หากจะถามความยากของโขน "เบญจมินทร์" ตอบว่า ยากทั้งหมด เพราะโขนมีความละเอียด ก่อนที่จะเข้าใจทุกด้านของศิลปะ ต้องใช้เวลา เราไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว แต่ต้องมีความเข้าใจกับท่าทาง การร้อง ดนตรี ฉาก อุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย ทุกด้าน หากเรามีความรู้ ความเข้าใจทุกด้าน จะช่วยให้เข้าใจในการแสดงมากขึ้น

 

“ผมชอบเพราะมันไม่มีวันตาย เราสามารถพัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆ เพื่อให้ดีขึ้น ยากตรงที่ต้องฝึกเรื่อยๆ ต้องมีการฝึกปฏิบัติเยอะ และ ต้องมีความรู้ทฤษฎีไปด้วย ไม่ใช่แค่โขน แต่การเต้น การเล่นกีฬา และอาชีพต่างๆ ก็เหมือนกัน เราต้องมีไฟ มี Passion ในการปฏิบัติ พัฒนาตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรอคนอื่นมาบอก เพราะมันคืออาชีพของเรา”

 

“พูดตรงๆ ว่าไม่เคยรู้สึกท้อ ผมเป็นคนที่ใจรัก อยากที่จะทำทุกวัน ในการแสดงทุกรอบรู้สึกแค่อยากจะพัฒนา อยากฝึกไปตลอดแม้จะซ้อมหนักก็สู้ เหมือนน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว มีคนเคยถามว่า เบญจมินทร์ใส่เครื่องแต่งกายโขน รู้สึกอึดอัดหรือไม่ ผมตอบว่าไม่เคยเลย แต่กลับรู้สึกสบายตัว สบายใจ เหมือนเป็นตัวละครนั้นจริงๆ”

 

เล่าเรื่อง \"โขน\" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง \"หนุมาน\" โขนภาพยนตร์

Cr. เฟซบุ๊ก Benjamin Tardif

 

หนึ่งในนักแสดง “หนุมาน”

สำหรับบท “หนุมาน” ในโขนภาพยนตร์ครั้งนี้ เบญจมินทร์ อธิบายถึงที่มาที่ไปว่า ในการแสดงโขน ต้องดูลักษณะของร่างกายว่าควรจะเล่นเป็นบทไหน ซึ่งส่วนตัวจะได้แสดงเป็นลิงน้อย เช่น หนุมาน องคต นิลนนท์ นิลพัท ขณะที่ในโขนภาพยนตร์ซึ่งมีทั้งฉากต่อสู้ ฉากจีบตัวนาง ฯลฯ แต่หนุมานสำหรับผม อาจจะไม่ใช่ตัวที่สู้เป็นหลัก แต่เป็นการรำตีบท รำฉุยฉาย เป็นต้น

 

“ผู้ที่รับบทหนุมานมีทั้งหมดราว 4-5 คน แบ่งกันเล่นในแต่ละฉาก เพราะแต่ละคนเก่งกันคนละแบบ เช่น ฉากการต่อสู้ ฉากโรแมนติก หรือฉากตอนเด็ก ทั้งนี้ การถ่ายทำต้องปรับตัวเพราะนักแสดงโขนไม่ได้มีประสบการณ์ในการแสดงภาพยนตร์ ปกติเราจะเล่นบนเวทีมีแค่มุมเดียว แต่ภาพยนตร์มีหลายมุม จึงต้องปรับตัวในการถ่าย รวมถึงลีลา บุคลิก ทำให้ได้ความรู้ใหม่และสนุก”

 

เล่าเรื่อง \"โขน\" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง \"หนุมาน\" โขนภาพยนตร์

 

ศิลปะไทย ที่ต้องสู้กับการศิลปะทั่วโลก

ปัจจุบัน แม้คนรุ่นใหม่มีคนที่มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติโขนมากขึ้น เนื่องจากในหลายโรงเรียนเริ่มมีชมรมโขน อีกทั้งยังมี สถาบันคึกฤทธิ์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ พยายามที่จะเปิดอบรมโขน เบญจมินทร์ มองว่า คนรุ่นใหม่ตอนนี้เริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับนาฏศิลป์ และ โขน แต่หากถามว่า ความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่จะไปดูโขนยังน้อย หรือ หลายคนอาจจะสนใจแต่ไม่รู้ว่าจะไปดูโขนที่ไหนได้ ขณะเดียวกัน ศิลปะการแสดงของ “เรา” ก็ต้องสู้กับการแสดงของทั่วโลก

 

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่เบญจมินทร์ใช้ชีวิตอยู่ไทย และเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษคณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยพยายามจัดกิจกรรม และวิธีการสอนสอนนาฎศิลป์ ดนตรีไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ มีเทคนิค วิธีการถ่ายทอด ให้กับคนต่างชาติที่ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีความรู้ได้เข้าใจ ปรับให้เป็นสากล โดยไม่ได้โฟกัสเรื่องแกรมมา แต่โฟกัสเรื่องการสื่อสาร การพูด และปฏิบัติ

 

เล่าเรื่อง \"โขน\" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง \"หนุมาน\" โขนภาพยนตร์

Cr. เฟซบุ๊ก Benjamin Tardif

 

อยากให้โขนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

แม้ในปัจจุบัน เบญจมินทร์ จะยังเป็นคนต่างชาติ เพียงหนึ่งเดียวที่ศึกษาเรื่องโขนอย่างจริงจังและลึกซึ้ง แต่เป้าหมายในอนาคตที่มอง คือ “อยากให้โขนเป็นที่รู้จักทั่วโลก” มีวิธีจัดการแสดงที่เข้าถึงสากลให้มากขึ้น เพราะถึงแม้ในบางครั้งจะมีซับไตเติ้ลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผู้ชมที่เป็นต่างชาติก็อาจจะไม่เข้าใจว่าชุดการแสดงโขนคืออะไรอย่างแท้จริง และไม่ได้แปลทุกคำศัพท์ที่ร้องและพูด

 

“ตรงนี้เป็นจุดที่เรามองว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้คงรูปแบบการแสดงตามจารีตประเพณี แต่คนต่างชาติดูและสามารถเข้าใจและสนุก เราจะสามารถเชื่อมวัฒนธรรมไทย กับ ตะวันตกได้อย่างไร และสามารถหยิบเอาวรรณคดีมาตีความหมาย และสะท้อนสังคม ชีวิตคนในยุคปัจจุบันได้อย่างไร”

 

“เราพยายามคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ เช่น รามเกียรติ์ ที่ยังเป็นการแสดงของโขน แต่วิธีการจัดการแสดง เชื่อมกับยุคปัจจุบันมากขึ้น และถือเป็นความท้าทายของนักแสดงที่ต้องแสดงอารมณ์ในหลายๆ แบบในฉากเดียว เป็นสิ่งที่นักแสดงมองว่ายาก แต่สนุก เพราะมีหลายอารมณ์ในการแสดง อีกทั้ง ยังเป็นประโยชน์กับสังคมในการสอดแทรกคำสอน หรือแนวคิดเข้าไปด้วย”

 

“โขนมีหลายด้านไม่ว่าจะสนุกสนานหรือสวยงาม บางคนอาจจะมองโขนเป็นศิลปะโบราณ ประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี หรือ อาจจะมองว่าเป็นคอนเซปต์ ไอเดีย ถ่ายทอดแนวคิดใหม่ให้สังคม ผมมองว่าทั้งหมด คือ “โขน” เพียงแต่มีหลายรูปแบบในการถ่ายทอด” 

 

“รู้สึกดีใจมาก ที่มีโอกาสได้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และส่วนตัวมีความฝันว่าอยากให้โขนได้เข้าถึงชาวต่างชาติหลายๆ คน ให้ได้เข้าใจ ได้เห็นคุณค่าของโขน อนาคตอยากให้มีการอนุรักษ์โขนให้คนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสได้ดู เมื่อมีเทคโนโลยีในการเผยแพร่ได้ง่ายขึ้น เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและสนใจศิลปะนี้มากขึ้นด้วย” เบญจมินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

เล่าเรื่อง \"โขน\" ผ่านฝรั่งหัวใจไทย หนึ่งในนักแสดง \"หนุมาน\" โขนภาพยนตร์

Cr. เฟซบุ๊ก Benjamin Tardif

 

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ค : “Benjamin Tardif”