กก.แพทยสภา มอง 'สมศักดิ์' วีโต้ไม่ตรงประเด็น ยัน12มิ.ย.ไร้สิทธิโหวต

กก.แพทยสภา มอง 'สมศักดิ์' วีโต้ไม่ตรงประเด็น ยัน12มิ.ย.ไร้สิทธิโหวต

"สมศักดิ์" ไม่มีสิทธิโหวต แม้เข้าร่วมประชุมแพทยสภา ปมลงโทษแพทย์รักษาทักษิณ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ  กก.แพทยสภามองเหตุผลวีโต้ไม่ตรงประเด็น

จากกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ แจ้งว่าจะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา (บอร์ดแพทยสภา) ในวันที่ 12 มิ.ย. 2568 ซึ่งมีวาระการพิจารณาเรื่องการลงโทษแพทย์ 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารักษาชั้น 14 รพ.ตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนหน้านี้แพทยสภามีมติลงโทษ และนายสมศักดิ์ ใช้สิทธิยับยั้ง(วีโต้)

สภานายกพิเศษ ไม่มีสิทธิโหวต

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2568 ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวมองว่า นายสมศักดิ์ มีสิทธิเข้าประชุมได้ แต่การโหวตลงมติไม่ได้รวมนายสมศักดิ์ จะนับเฉพาะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง และกรรมการโดยตำแหน่ง 70 คนเท่านั้น ส่วนจะให้เข้าร่วมประชุมเฉพาะช่วงที่มาให้ข้อมูล หรืออยู่ร่วมจนถึงตอนที่คณะกรรมการมีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับที่มีการวีโต้หรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่าที่ประชุมจะว่าอย่างไร

“ตอนคุยกัน สภานายกพิเศษเข้าได้ แต่ตอนโหวตคิดว่าท่านไม่น่า ซึ่งในวันที่ 12 มิ.ย.นี้จะมีนักกฎหมายดูอีกที ว่าเข้าได้หรือไม่ได้ เพื่อความโปร่งใส ชัดเจน ไม่ถือว่ากระชั้นชิด เพราะนายสมศักดิ์ก็บอกว่าจะเข้าไปอยู่แล้ว ก็กางหลักเกณฑ์เลยว่าเข้าได้หรือไม่ได้”ศ.นพ.อมรกล่าว 

วีโต้ไม่ตรงกับประเด็นของแพทยสภา

ศ.นพ.อมร กล่าวด้วยว่า ตนได้ดูจากเอกสาร และข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ เห็นว่า ประเด็นที่นายสมศักดิ์ วีโต้มติแพทยสภากลับมานั้นไม่ค่อยตรงกับที่อนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจชงเรื่องขึ้นไป อย่างเช่น การวีโต้ ผู้ถูกร้องคนที่ 2 ว่า แพทยสภาไม่ได้ดูเรื่องกฎเกณฑ์ของราชทัณฑ์ เนื่องจากการส่งตัวเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์นั้นก็ถูกต้อง แต่จะมาบอกว่าแพทยสภาไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วเท่ากับว่าพิจารณาไม่ครบนั้น  ไม่ได้ เพราะแพทยสภาพิจารณาเรื่องการประกอบวิชาชีพเวชกรรม กับมาตรฐานจริยธรรมของแพทย์ ในเรื่องเกี่ยวกับการยินยอมให้มีการใช้ใบส่งตัวที่เขียนเอาไว้ตั้งแต่ตอนกลางวัน  

ทั้งที่ มาตรฐานของใบส่งตัวนั้น ต้องกำหนดชัดว่า ผู้ป่วยมีอาการอย่างไร ณ ขณะนั้นเพื่อให้แพทย์ที่รับส่งต่อรักษาได้ตรงจุด หรืออาการหนักแล้วสามารถส่งต่อได้หรือไม่ การส่งออกไปปลอดภัยหรือไม่ หรือควรต้องทำการรักษาจนอาการสามารถส่งต่อแล้วค่อยส่ง

“ถ้าจะมาบอกว่าหยวนๆ ให้ใช้ใบส่งตัวที่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนกลางวัน อย่างน้อยก็ควรจะเขียนด้วยว่า ณ ขณะนั้น เวลา 5 ทุ่มผู้ป่วยมีอาการอะไรบ้าง เพื่อให้แพทย์รพ.ปลายทางรู้ ว่าเป็นอะไร แต่กลับไม่มีเลย ทำให้กรรมการแพทยสภาเห็นว่า ต้องว่ากล่าวตักเตือนกัน”ศ.นพ.อมรกล่าว      

ศ.นพ.อมร กล่าวด้วยว่า หลักเกณฑ์ราชทัณฑ์ เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังเข้าๆ ออกๆ จากเรือนจำเป็นอำนาจของผอ.ราชทัณฑ์ แพทย์ไม่เกี่ยวอยู่แล้ว แม้แพทย์จะมีความเห็นอย่างไรก็อยู่ที่ ผอ.ราชทัณฑ์ อยู่ดีว่าจะฟังหรือไม่ฟังก็ยังได้ มีคนบอกว่าขนาดคนไข้ล่ามโซ่มารักษานอกเรือนจำ ถ้าราชทัณฑ์ให้กลับทันที ส่วนของแพทย์รักษาอยู่ก็ต้องให้กลับ ดังนั้นเป็นสิทธิของราชทัณฑ์เต็มที่ ซึ่งแพทยสภาไม่ได้ดูตรงนี้ แต่ที่เกี่ยวข้องและแพทยสภาดู คือ การขอใช้ใบส่งตัวจึงบอกว่าแพทย์ทำผิดมาตรฐาน ส่วนเรื่องขั้นตอนการส่งตัวนั้นไม่เกี่ยว

ศ.นพ.อมร กล่าวอีกว่า  คำโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 3 โดยนายสมศักดิ์ วีโต้กลับมาก็ไม่ตรง ที่ว่า แพทย์ไม่ได้พูดคำว่าวิกฤตินั้น ก็เป็นเรื่องจริงที่ไม่ได้พูด แต่พูดคำว่าอาการน่าเป็นห่วง ซึ่งแพทยสภาเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูลไม่ตรง เพราะคนที่พูดเป็นแพทย์ใหญ่ต้องได้รับรายงานอยู่แล้ว ว่าคนไข้เป็นอย่างไร เนื่องจากแพทย์ที่ดูแลนั้นให้การรักษาอย่างดี จนคนไข้ปลอดภัยแล้ว ดังนั้น แพทย์ใหญ่ต้องได้รับรายงานแล้วว่าคนไข้ปลอดภัยดี แต่กลับบอกว่า ไม่ไหว กระทั่งวันต่อมามีการตรวจก็ไม่ตรงอีก

ศ.นพ.อมร กล่าวด้วยว่า  ตามข้อบังคับแพทยสภาระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ให้การที่ไม่ตรงกับความจริง แล้วยังบอกว่าตัวเองไม่ได้ดูคนไข้ ส่วนการให้ข้อมูลอาการต้องพูดตามจริง ซึ่งแพทย์ผู้ถูกร้องรายนี้ไม่ได้พูดว่า วิกฤติ แต่พูดว่าน่ากลัวๆมาก ซึ่งตรงข้ามกับเวชระเบียนที่ระบุว่าอาการสบายดีขึ้นมาแล้ว ใบรายงานของพยาบาลยังเห็นว่าดีขึ้น ทุกอย่างดูสงบ

“ประเด็นอยู่ตรงที่ทำไมไปบอกอาการตรงกันข้ามเลย ถ้าเป็นแบบนี้ หากแพทย์พูดสิ่งที่ตรงกันข้าม เท่ากับว่า ต่อไปแพทย์จะพูดอะไรก็ได้ใช่หรือไม่  ซึ่งผมดู 2 รายนี้ เห็นว่าที่สภานายกพิเศษวีโต้มาก็ไม่ตรงกับประเด็นของแพทยสภา”ศ.นพ.อมรกล่าว   

เข้าประชุม แต่ไม่อยู่ช่วงลงมติ

ด้านนายสมศักดิ์  เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  ในฐานะสภานายกพิเศษ แพทยสภาให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า ที่จะเข้าร่วมประชุมแพทยสภาวันที่ 12 มิ.ย.นี้ด้วย  เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าไปเข้าร่วมประชุมก็เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร และสามารถทำได้ตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม มาตรา 24 ที่ สภานายกพิเศษจะเข้าไปฟังหรือไปชี้แจงหรือไปดำเนินการใดๆในที่ประชุมก็สามารถไปได้ตลอดเวลา

“ผมคงไม่ได้อยู่ดูจนถึงตอนลงมติ แค่จะไปชี้แจงทำความเข้าใจ จะได้หันหน้าเข้าหากัน ไม่อยากให้มีม็อบหรืออะไรต่างๆ ส่วนผู้ที่จะมาร่วมติดตาม หรือจะมาให้กำลังใจผม ไม่ต้องมา นอนหลับอยู่บ้านเถอะ สบายๆ ผมทำหน้าที่ตรงนี้โดยลำพัง ได้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร"นายสมศักดิ์กล่าว