สถาบันประสาทวิทยา ผ่าตัดรักษา 'โรคทูเร็ตต์' สำเร็จเป็นรายแรก

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง รักษาโรคทูเร็ตต์สำเร็จเป็นรายแรก อาการเคลื่อนไหวผิดปกติลดลง เกือบ 70%
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2568 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังของรัฐ ที่จะมีอายุครบรอบก่อตั้งปีที่ 68 ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาทที่มีความยุ่งยากซับซ้อนจากทั่วประเทศให้หายขาดหรือมีอาการดีขึ้น โดยความสำเร็จล่าสุด ได้ทำการรักษาความผิดปกติของการเคลื่อนไหว ในผู้ป่วยโรคทูเร็ตต์ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาในกลุ่มยาจิตเวช เพื่อบรรเทาอาการ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงมักจะไม่ได้ผล
ทีมแพทย์สถาบันประสาทวิทยา ได้เริ่มให้การรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกเป็นรายแรก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 หลังการผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทอื่น อาการเคลื่อนไหวและเปล่งเสียงผิดปกติค่อย ๆ ลดน้อยลง และจากการติดตามอาการ พร้อมทั้งปรับกระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองตลอดระยะเวลา 2 เดือน “ผู้ป่วยมีอาการนิ่งขึ้น อาการเคลื่อนไหวผิดปกติลดลง เกือบ 70% นับเป็นความสำเร็จของทีมแพทย์สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ที่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ให้มีอาการดีขึ้นได้เป็นรายแรก”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า โรคนี้เป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่มักเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กวัยเรียน ผู้ป่วยบางรายอาการดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ผู้ป่วยบางส่วน ยังคงหลงเหลืออาการเหล่านั้น ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ไม่สามารถควบคุมการเปล่งเสียง หรือแม้แต่ถ้อยคำได้ ส่งผลต่อการเรียน และการประกอบสัมมาอาชีพ
"โรคทูเร็ตต์ มีอัตราการพบผู้ป่วยประมาณ 1 % ในประเทศก็อาจมีผู้ป่วยประมาณ 7 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้จะพบผู้ที่มีอาการรุนแรงประมาณ10 %หรือราว 7 หมื่นคน ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคทูเร็ตต์เข้ารักษาอยู่ที่สถานบันประสาทวิทยาประมาณปีละ 60 – 80 คน เป็นการรักษาด้วยยา ซึ่งหากมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เหมาะสมกับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก เราก็พร้อมที่จะดูแลอย่างเต็มที่"นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา จะดำเนินการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว ที่มีข้อบ่งชี้และความจำเป็นต้องฝังเครื่องกระตุ้นสมอง โดยตั้งเป้าหมายปีละ 10 ราย และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาโรคสมองและระบบประสาทอื่น ๆ ให้ทันสมัยและทัดเทียมต่างประเทศ
นพ.ธีรเดช ศรีกิจวิไลกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ ศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของแพทย์หลายท่าน เพราะในสมองเรามีตำแหน่งหลายจุด ต้องร่วมกันตัดสินใจที่จะใส่เครื่องมือไว้ในจุดใด โดยเคสของผู้ป่วยรายแรกในไทยนี้ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง
ซึ่งจะต้องดูคลื่นสมองในระหว่างการผ่าตัด ใส่แบตเตอรี่ในร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องชาร์จแบตตามกำหนด และแบตจะมีอายุใช้งานประมาณ 10 ปี ทั้งนี้ การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก ไม่ได้รักษาที่ตัวโรคทูเร็ตต์ แต่เป็นการปรับคลื่นไฟฟ้าในสมอง ให้ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง สภาบันประสาทวิทยา ขอเชิญชวนประชาชน ร่วมกิจกรรมครบรอบ 68 ปี สถาบันประสาทวิทยา ในวันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2568 ผ่าน 4 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรม ชัก...อยากจะวิ่ง ปีที่ 6 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ เวลา 05.30 น. 2. กิจกรรม ร้อยเรื่องจริงสมอง เพื่อตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง 3. กิจกรรม Brain Boost Concert ณ โรงละคร เลอทานา บางพลี เวลา 18.00 น. และกิจกรรมที่ 4 Care and Share เชิญชวนประชาชนสนับสนุนมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสถาบันประสาทวิทยา โดยจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่า
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ได้ทาง Facebook สถาบันประสาทวิทยา หรือ โทร 02-354-6118 #กรมการแพทย์ #สถาบันประสาทวิทยา #รักษาโรคทูเร็ตต์