รมว.สธ.ชู 'ข้าวกข.43' ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน น้ำตาลเข้าเลือด 55 %

รมว.สธ.ชู  'ข้าวกข.43' ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน น้ำตาลเข้าเลือด 55 %

“สมศักดิ์” ชู ข้าว กข.43  ชี้ ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน หลังข้าวกลายเป็นน้ำตาลเข้าเส้นเลือดน้อย เพียง 55% แต่ข้าวปกติสูงถึง 87% เดินหน้าผลักดันเต็มที่ ช่วยผู้ปลูก-ลดผู้ป่วย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดโครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3  ที่โรงพยาบาลบรรพตพิสัย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ว่า โครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข เกิดขึ้นภายใต้หลักคิด“อสม. มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs”เป็นการบูรณาการงานด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน อย่าง อสม. เข้าด้วยกัน

เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม สอดรับกับความต้องการของประชาชนด้านการดูแลสุขภาพในทุกมิติ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคน เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง ทุกช่วงวัย ลดระยะเวลารอคอยการรับบริการ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

การยกทัพ 11 คลินิก ส่งเสริม คัดกรอง ป้องกัน และรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มาให้บริการพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์ กว่า 1,500 คน ในวันนี้ ได้แก่ 1. คลินิกโรคอ้วน 2. คลินิก NCDs 3. คลินิกโรคไต 4. คลินิกโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ 5. คลินิกต้อกระจก และจอประสาทตา 6. คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และฉีดวัคซีน HPV 7. คลินิกผ่าตัดวันเดียวกลับ 8. คลินิกเครื่องช่วยฟัง 9. คลินิกผ่าตัดนิ้วล็อค 10. คลินิกบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และ 11. คลินิกแพทย์แผนไทย

รมว.สธ.ชู  \'ข้าวกข.43\' ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน น้ำตาลเข้าเลือด 55 %

คาดการณ์ว่าโครงการนี้ จะมีจำนวนผู้เข้ามารับบริการทางการแพทย์ กว่า 38 ล้านราย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลในอนาคตได้กว่า 4,000 ล้านบาท นี้คือความพยายามอย่างต่อเนื่องของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งเน้น จัดการปัญหาโรค NCDs ต่อจากการเสริมสร้างความรู้เรื่องการนับคาร์บ เพราะ NCDs คือความท้าทายทางสาธารณสุข ที่ผมต้องดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อำเภอบรรพตพิสัยมีการปลูกข้าว กข.43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลค่อนข้างต่ำ ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน ตนจึงอยากจะสนับสนุน เพราะนอกจากจะช่วยผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยให้คนปลูกขายข้าวได้ราคาแพงขึ้นอีกด้วย โดยข้าว กข.43 เมื่อบริโภคแล้ว จะทำให้เกิดน้ำตาลช้าและน้อยกว่าข้าวสายพันธ์ุอื่น

ถ้าเป็นข้าวซ้อมมือ เมื่อบริโภคแล้ว จะกลายเป็นน้ำตาล ภายใน 2 ชั่วโมง ส่วนข้าวเหนียว ข้าวเจ้า เมื่อบริโภค จะทำให้เกิดน้ำตาลเร็วมาก ไม่ถึงชั่วโมง แต่ข้าว กข.43 เมื่อบริโภค ผ่านไป 2 ชั่วโมง ยังขึ้นเป็นน้ำตาลแค่ 55% เท่านั้น ขณะที่ข้าวสายพันธ์อื่น สูงถึง 87% ดังนั้น ตนจะช่วยทำให้ข้าว กข.43 มีราคาแพงขึ้น เนื่องจากดีกับผู้ป่วย NCDs 

"ในพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัย มีการปลูกข้าว กข.43 ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกัน NCDs ได้ โดยผู้ที่ป่วยกลุ่มโรค NCDs คือ น้ำตาลเข้าสู่เส้นเลือดปริมาณมาก จนไปทำลายเส้นเลือด แต่ข้าว กข.43 มีคุณสมบัติทำให้เกิดน้ำตาลเข้าสู่เส้นเลือดได้ช้าและน้อย ซึ่งข้าวปกติเข้าไปได้ 87% แต่ กข.43 เข้าเพียง 55% โดยข้าวสายพันธุ์อื่น น้ำตาลจะเข้าสู่เส้นเลือดปริมาณมาก ทำให้เส้นเลือดเสียหายได้ และเมื่อเส้นเลือดเสียหาย เราก็จะเกิดอาการป่วยตามมา"นายสมศักดิ์กล่าว