เหตุที่ ‘บึงกาฬ’ สะเทือน'ระบบสาธารณสุข' วังวน 10 ปียังแก้ไม่ได้

แพทย์อินเทิร์นบึงกาฬลาออก 13 คน สะเทือนทั้งระบบ แต่เกิดขึ้นทุกปี ไม่ใช่พื้นที่เดียว เป็นปัญหาเรื้อรังสาธารณสุขกว่า 10 ปียังอยู่ในวังวนเดิม แม้มีหลากหลายข้อเสนอ
KEY
POINTS
- แพทย์อินเทิร์นจ.บึงกาลาออก 13 คนจาก 21 คน เหลือทำงาน 8 คน เป็นปัญหาเกิดขึ้นทุกปี เล็งเสนอเป็น “พื้นที่พิเศษ”เหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- แพทย์ลาออก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจ.บึงกาฬ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังระบบสาธารณสุข เกิดขึ้นทั่วประเทศ แพทยสภาเผย 5 ปัจจัยหลัก
- แก้ปัญหาแพทย์ลาออก มีข้อเสนอหลากแนวทางจากหลายภาคส่วน แต่กว่า 10 ปียังอยู่วังวนเดิม สธ.เดินหน้ายกร่างกฎหมายขอแยกสธ.ออกจากก.พ. หวังบริหารจัดการกำลังคน ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในตำแหน่งได้เอง
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พบว่า ปีที่ผ่านมาจำนวนแพทย์อินเทิร์น มาอยู่ที่ จ.บึงกาฬ 16 คน โดยอยู่ที่ รพ.บึงกาฬ เพื่อฝึก 9 เดือน และอีก 3 เดือนไปอยู่ รพ.ชุมชน ซึ่งในจำนวนนี้ ณ ตอนนี้แสดงความจำนงขอลาออกไป 10 คน ก็จะเหลือ 6 คนที่จะอยู่ทำงานปีที่ 2 ต่อ
นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่วางแผนว่า ปี 2 และปีที่ 3 จะให้มาอยู่บึงกาฬ อีก 5 คน โดยฝากฝึกไว้ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เนื่องจากรพ.บึงกาฬ รับฝึกเด็กได้มากที่สุดคือ 16 คน เมื่อครบ 1 ปีก็จะต้องกลับมาอยู่รพ.ชุมชนในบึงกาฬ โดยมีลาออก 3 คนจะเหลือ 2 คน ที่จะกลับมารพ.ชุมชนในปีที่ 2
แพทย์อินเทิร์นบึงกาฬลาออก 13 คน
เท่ากับว่า ในปีที่ 2 จะมีแพทย์อินเทิร์นมาอยู่รพ.ชุมชน ในจ.บึงกาฬรวม 8 คน จากเดิมที่มี 21 คน ออกไป 13 คน
ทว่า แพทย์อินเทิร์น จ.บึงกาฬ ลาออก ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นปีแรก แต่เรียกว่าได้ว่า “แทบจะเกิดขึ้นทุกปี” แต่ละปีจะมีแพทย์อินเทิร์นลาออกอย่างน้อย 4-5 คน และเมื่อใช้ทุนครบ 3 ปีก็ลาออกเกือบทั้งหมดเพื่อไปศึกษาต่อเฉพาะทาง
ด้วยปัญหาเฉพาะของบริบทพื้นที่ คือ เป็นจังหวัดน้องใหม่ ไม่ค่อยมีแพทย์จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) จึงเป็นจังหวัดที่ต้องได้รับการจัดสรรแพทย์ที่จบจากการเข้าเรียนผ่านกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) เป็นส่วนใหญ่
บวกกับเป็นจังหวัดใหม่ที่อยู่ไกล ไม่ใกล้ภูมิลำเนา ทำให้เด็กส่วนกลางหรือพื้นที่อื่นจับสลากและไปลงที่จ.บึงกาฬ เป็นตัวเลือกท้ายๆก่อน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ชงบึงกาฬเป็นพื้นที่บริหารพิเศษ
แนวทางการแก้ปัญหาให้กับ จ.บึงกาฬ นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เตรียมจะเสนอผ่าน คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.สธ.) เพื่อให้จ.บึงกาฬเป็นพื้นที่บริหารแบบพิเศษ โดยใช้หลักเกณฑ์เหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากดำเนินการตรงนี้ก็จะเป็นแรงจูงใจให้แพทย์
ปัจจุบัน มีพื้นที่พิเศษ คือ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก เช่น อำเภออุ้มผาง อำเภอท่าสองยาง และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยการเป็นพื้นที่พิเศษ มีค่าตอบแทนอัตราพิเศษ การนับระยะเวลาการใช้ทุน ระยะเวลาการศึกษาต่อจะแตกต่างจากพื้นที่ปกติ นอกจากนี้ เตรียมหารือแพทยสภา ขอเพิ่มสัดส่วนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์น มาฝึกในพื้นที่จ.บึงกาฬเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น เดิมได้ 16 คน ขอเพิ่มเป็น 24 คน เป็นต้น
ภาพรวม 10 ปี แพทย์ลาออก
ที่สำคัญ “แพทย์ลาออก” ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่จ.บึงกาฬเท่านั้น แต่เป็น “ปัญหาเรื้อรังระบบสาธารณสุข”ที่เกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 10 ปี
ข้อมูลการลาออกของแพทย์กระทรวงสาธารณสุขช่วง 10 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556 -2565 ซึ่งมีแพทย์บรรจุ จำนวน 19,355 คน ส่วนแพทย์ลาออกแบ่งเป็น
- แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก อยู่ที่ 226 คน เฉลี่ยปีละ 23 คน
- แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คนคิดเป็น 9.69 % เฉลี่ยปีละ 188 คน
- แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน 4.4 % เฉลี่ยปีละ 86 คน
- แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระใช้ทุน 1,578 คน 8.1 % เฉลี่ยปีละ 158 คน
ภาพรวมเฉลี่ยการลาออกของแพทย์ปีละ 455 คน รวมถึงเกษียณอายุราชการปีละ 150-200 คนรวมประมาณปีละ 655 คน
ทั้งนี้ แพทย์ที่เรียนคณะแพทยศาสตร์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท(CPIRD) อัตราการคงอยู่ในระบบ 80-90 % ส่วนเข้าเรียนผ่านกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม(อว.) อัตราคงอยู่ในระบบราว 70 %
และแม้ว่าจะมีข้อกำหนดให้แพทย์อินเทิร์นที่ลาออกก่อนใช้ทุนครบ 3 ปีจะต้องชดใช้ค่าปรับ แต่แพทย์อินเทิร์นที่ลาออกก็เลือกแนวทางนี้ ซึ่งค่าปรับจะอยู่ที่ประมาณ 4 แสนบาท หากใช้ทุนแล้ว 1 ปี ก็จะเหลือ 2 แสนกว่าบาท
5 ปัจจัยที่มีผลแพทย์รลาออก
สาเหตุสำคัญของแพทย์ลาออก อ้างอิงจากที่ แพทยสภา โดยนพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลแพทย์จบใหม่หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะทุกคนที่ใช้ทุนในทุกกระทรวง ก่อนการไปปฏิบัติงานจริงเมื่อปี 2564 พบว่า 3.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีแผนจะลาออกตั้งแต่ก่อนปฏิบัติงาน
ส่วน ปัจจัยที่มีผลต่อการลาออก 5 อันดับแรก
1.สภาพแวดล้อมการทำงาน ถูกเอาเปรียบโดยผู้ร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา และวัฒนธรรมการทำงานที่มีการกลั่นแกล้ง 61.4%
2.ภาระงานหนักเกินไป ชั่วโมงทำงานยาวนาน มีความรับผิดชอบสูงเกินไปสำหรับแพทย์จบใหม่ 51.7%
3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ ไม่สมดุลกับภาระงานและความรับผิดชอบ และไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในบางพื้นที่ 42.9%
4.ไม่มีทุนในสาขาที่ต้องการ ต้องรอนานเกินไป ไม่มีทุนในสาขาที่สนใจ 29.5 %
5.สถานที่ทำงานไม่ตรงความต้องการ ห่างไกลภูมิลำเนา ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก 35.3 %
ทางแก้ปัญหา แพทย์ลาออก
การแก้ปัญหาเรื้อรัง เรื่อง “แพทย์ลาออก”นี้มีความพยายามดำเนินการมากว่า 10 ปีแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านมาข้อเสนอหลากหลายแนวทางจากหลายภาคส่วน
แพทยสภาชง 4 ข้อ
จากการสำรวจของแพทยสภามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1.ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน สร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมที่ดี ป้องกันการกลั่นแกล้งและการเอาเปรียบในที่ทำงาน มีระบบจัดการข้อเรียกร้องที่มีประสิทธิภาพ
2.ภาระงาน กำหนดชั่วโมงทำงานที่เหมาะสม กระจายงานอย่างเป็นธรรม เพิ่มอัตรากำลังในจุดที่มีปัญหา
3.ค่าตอบแทน ปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับภาระงาน สร้างแรงจูงใจทางการเงิน มีสวัสดิการที่เหมาะสม
4.ระบบทุนแพทย์ประจำบ้าน ลดระยะเวลารอทุน เพิ่มจำนวนทุนในสาขาที่ขาดแคลน มีความยืดหยุ่นในเรื่องสถานที่
ศึกษา 5 รูปแบบใหม่จ้างงาน
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ศึกษาวิจัยเรื่อง “การออกแบบการจ้างงานและสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตเพื่อสร้างแรงจูงใจกำลังคนสุขภาพของภาครัฐ” ได้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ประเด็น เป็นทางเลือกรูปแบบการจ้างงานสำหรับวิชาชีพสุขภาพ ดังนี้
1. จ้างงานแบบยืดหยุ่น โดยเพิ่มตัวเลือกการจ้างงานที่เป็นแบบไม่ประจำและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
2.จ้างงานนอกเวลาแบบเอกชน โดยเพิ่มรูปแบบการจ้างงานบุคลากรแบบเอกชนในการให้บริการนอกเวลา
3.จ้างงานผ่านเขตสุขภาพ เปลี่ยนผู้จ้างบุคลากรสาขาเฉพาะทาง เป็นเขตสุขภาพแทนโรงพยาบาล
4. จ้างงานผ่านหน่วยบริการนอกระบบของรัฐ โดยขยายการอุดหนุนงบประมาณด้านสาธารณสุขไปที่หน่วยบริการเอกชนด้วย
5. ปรับงบประมาณจ้างงาน โดยปรับเปลี่ยนการให้งบการจ้างบุคลากรในโรงพยาบาลจากงบรายหัวเป็นเงินงบประมาณ
แยกสธ.ออกจากก.พ.
แนวทางสำคัญที่สธ.ผลักดัน โดยผลการรับฟังความคิดเห็น กว่า 92 % เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเพียง 7.31 % เพราะมองว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ จะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสายงานมากขึ้น
นั่นคือ “การแยกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ออกจากก.พ.” โดยมีการยก(ร่าง)พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ.. ซึ่งจะส่งผลให้สธ.สามารถบริหารจัดการด้วยวิธีเฉพาะของกระทรวงฯ ทั้งการจัดสรรกำลังคน มาตรการในการสร้างแรงจูงใจเพิ่มขึ้นเพื่อให้บุคลากรยังคงอยู่ในระบบ เรื่องค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในตำแหน่ง เป็นต้น
ขณะนี้ (ร่าง)พ.ร.บ.ดังกล่าว สธ.ได้ยื่นเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว อยู่ระหว่างสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นต้น
ปรับปรุงแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
นอกจากนี้ ในวันที่ 17 เม.ย.2568 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เตรียมทำหนังสือถึงแพทยสภา เพื่อขอให้ทบทวนปรับปรุงโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือหมออินเทิร์น ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน
นพ.ภูวเดช กล่าวว่า ควรมีการปรับรูปแบบของการฝึกเพิ่มพูนทักษะแพทย์ใหม่ โดยยังคงมาตรฐานของแพทยสภาและตอบสนองการให้บริการตามนโยบายของสธ.ไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือ สามารถแก้ไขความขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขได้อย่างตรงจุด และประชาชนยังได้รับบริการที่ดีมีประสิทธิภาพสูงสุด
“อาจให้มีการฝึกเพิ่มพูนทักษะให้เรียบร้อยก่อนเรียนจบและจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งเมื่อสธ.จัดสรรแพทย์จบใหม่ไปตามความขาดแคลนของพื้นที่แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการอบรมเรียนรู้เหมือนกับข้าราชการวิชาชีพอื่นๆ ที่บรรจุใหม่”