บำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม ผลประโยชน์ตอบแทนปี 67 เพิ่มขึ้น

บำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม ผลประโยชน์ตอบแทนปี 67 เพิ่มขึ้น

บำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40  ผลประโยชน์ตอบแทนในปี 2567 เพิ่มขึ้น พร้อมเช็กอัตราผลประโยชน์ตอบแทนย้อน 10 ปี

สิทธิประโยชน์ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 33  ผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่เพียงแต่ได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องรักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังได้รับสิทธิประโยชน์รับเงินชราภาพด้วย 

บำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม  ม.33 ม.39

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39  หากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน เมื่ออายุ ครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จะได้รับเงินชราภาพเป็น “บำเหน็จชราภาพ”

เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเงินก้อนครั้งเดียว มี 2 เงื่อนไข

  • จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับเงินจำนวนเท่าที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไป
  • จ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ผู้ประกันตนจ่าย+เงินสมทบนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน

เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมยื่นที่สำนักงานประกันสังคม

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส. 2-01
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ หากมีพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนเลขบัตรประชาชนก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน
     

บำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม ม.40

ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระอายุ 15-60 ปี และไม่ได้อยู่ในระบบการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33  และมาตรา 39  โดยสามารถเลือกจ่ายเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก

  • ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 จ่ายเดือนละ 70 บาท จะไม่ได้รับเงินชราภาพ
  • ผู้ประกันตนในทางเลือกที่ 2  จ่ายเดือนละ 100 บาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมเงินชราภาพ เป็นเงินบำเหน็จ  คิดจาก 50 บาทต่อเดือน ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบบวกเงินออมเพิ่ม พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนดในแต่ละปี
  • และผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3 จ่ายเดือนละ 300 บาท ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ  คิดจาก 150 บาทต่อเดือน ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบบวกเงินออมเพิ่ม พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีที่สำนักงานประกาศกำหนด

ผลประโยชน์ตอบแทน ปี 67 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานประกันสังคม  2 ฉบับ โดยฉบับแรก เรื่อง กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39

สรุปอย่างง่ายประกาศฉบับนี้ จะต้องประกาศเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้ประกันตนทราบว่า เงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเข้าในส่วนของกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ แล้วสำนักงานประกันสังคมนำไปลงทุน ได้รับ “เงินปันผล”จำนวนเท่าไหร้ โดยแต่ละปีจะมีอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งในปี 2567 ก็อยู่ที่อัตราร้อยละ 2.81 ต่อปี
 

และฉบับที่ 2 เรื่อง ประกาศกำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งก็เป็นการกำหนดผลตอบแทนจากนำเงินไปลงทุนในปี 2567 ที่ร้อยละ 4.19 

ประกาศ 2 ฉบับนี้ส่งผลอย่างไรต่อเงินบำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 33 ผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนมาตรา 40

นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม(สปส.) อธิบายเพิ่มเติมว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นสิ่งที่สปส.จะต้องประกาศเป็นประจำทุกปี เพื่อกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนกรณีบำเหน็จชราภาพให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จึงต้องมีการประกาศดอกผลของแต่ละปีจากการที่สปส.นำเงิน สมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างที่จ่ายสมทบเข้าในส่วนของกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพไปลงทุน เช่นเดียวกับการประกาศอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุน 2 กรณีนี้จะแตกต่างกัน จึงต้องออกประกาศเป็น 2 ฉบับสำหรับมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40

อัตราผลตอบแทนที่ประกาศนี้ ก็เหมือนเป็นอัตราเงินปันผลที่ได้จากการนำเงินไปลงทุน จะนำมาใช้คำนวณเป็นดอกผลกรณีเงินบำเหน็จชราภาพให้กับผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือนที่จะได้สิทธิบำนาญชราภาพ ซึ่งต้องพิจารณาว่าปีนั้นๆลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ เพราะแต่ละปีจะไม่เท่ากัน จึงต้องมีการประกาศเป็นประจำทุกปี    

“สมมติว่าผู้ประกันตนจะรับเงินบำเหน็จชราภาพในปี 2560 หรือรับปี 2561  ก็จะต้องไปดูว่ามีเงินสมทบในปีนั้นจำนวนเท่าไหร่ ก็จะไปดูอัตราผลประโยชน์ตอบแทนในปีนั้นว่าสปส.กำหนดไว้ที่เท่าไหร่ ก็จะได้เหมือนระบบธนาคารที่จะเป็นดอกเบี้ยทบต้น  ซึ่งผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบเงินสมทบของตนเองได้ผ่านแอป SSO+ แต่จะยังไม่รวมดอกผล หากจะรวมกับดอกผลจะต้องไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและคำนวณอีกครั้ง”นางนิยดากล่าว 

ม.33 ,39 ผลประโยชน์ตอบแทนช่วง 10 ปี

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง  ดังนี้

  • ปี 2567  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.81
  • ปี 2566  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.53
  • ปี 2565  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  3.46
  • ปี 2564  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.83
  • ปี 2563  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.75
  • ปี 2562  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  4.52
  • ปี 2561  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  3.16
  • ปี 2560  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  3.61
  • ปี 2559  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  3.65
  • ปี 2558  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  3.21

ส่วนผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง  ดังนี้

  • ปี 2567  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  4.19
  • ปี 2566  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.60
  • ปี 2565  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.18
  • ปี 2564  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  4.80
  • ปี 2563  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  3.11
  • ปี 2562  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 2.61
  • ปี 2561  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.80
  • ปี 2560  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.81
  • ปี 2559  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.33
  • ปี 2558  ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ  2.56