'30 บาทรักษาทุกที่' ดูแลช่องปากที่ 'คลินิกทันตกรรม' ได้ 3 ครั้ง/ปี

'30 บาทรักษาทุกที่' ดูแลช่องปากที่ 'คลินิกทันตกรรม' ได้ 3 ครั้ง/ปี

สปสช. แนะใช้ “สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่” ตรวจฟันอย่างละเอียดและวางแผนการรักษาได้ ที่หน่วยบริการนวัตกรรม “คลินิกเอกชน” ร่วมโครงการได้ปีละ 3 ครั้ง ไม่เสียค่าใช้จ่าย 

พ.ท.ทพ.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประชาชนไทยว่า จากการสำรวจของกรมอนามัยปี 2566 พบว่าในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-5 ปี มี 55 % ที่ฟันไม่ผุ (Caries Free) แต่เมื่ออายุเกิน 5 ปีไปแล้ว พบว่ากลุ่มที่ฟันไม่ผุเลยลดลงเหลือ 28% ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี มี 74.5 % ที่ได้รับการตรวจฟัน ในจำนวนนี้ 36.4 %เคยมีอาการปวดฟัน ซ้ำในจำนวนี้ยังมีเด็กที่ได้ทำฟันจริงเพียง 40.9 % เท่านั้น 

 ส่วนกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปี ขึ้นไป  61.2 % เริ่มมีฟันผุ และ 79.5 % เริ่มมีโรคเหงือก ส่วนวัยทำงาน 35-44 ปี  83.9 % มีฟันหลอ และ 81 %มีโรคเหงือก ขณะที่ 67.1 % มีอาการเหงือกร่นและรากฟันโผล่ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 60-85 ปี ในกลุ่มอายุ 60-74 ปี มีฟันเหลือประมาณ 20 ซี่ และอายุ 80-85 ปี มีฟันเหลือประมาณ 12 ซี่

 ในส่วนของหัตถการช่องปากที่คนไทยนิยมทำมากที่สุด คือขูดหินปูนและรักษาโรคเหงือก รองลงมาคือถอนฟัน ตามด้วยอุดฟัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุแล้ว ส่วนการป้องกัน เช่น ตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบฟลูออไรด์ เป็นหัตถการที่มีผู้รับบริการน้อย อยู่ในลำดับท้ายๆ

และในส่วนของหน่วยบริการยอดนิยม พบว่าเกือบ 50% ไปรักษาที่คลินิกเอกชน ส่วนอีก20% ไปโรงพยาบาลรัฐ และอีก 10 %รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สาเหตุที่คนไทยเข้าไม่ถึง เนื่องจากการไปโรงพยาบาลรัฐมีคิวบริการนาน รวมทั้งสิทธิรับบริการบางอย่างไม่ครอบคลุมสิทธิ ทำให้ต้องร่วมจ่าย รวมถึงไม่สะดวกไปรับบริการในเวลาราชการ โดยการรับบริการครั้งสุดท้าย มีค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 909 บาท

 ทั้งนี้ โรคในช่องปากมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ เช่น ถ้าเป็นโรคปริทันต์อักเสบจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ หรือโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือหากเป็นเบาหวานแล้วคุมน้ำตาลไม่ดีก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรครำมะนาด หรือผู้ป่วยติดเตียงอาจเสี่ยงสำลักเอาเชื้อจากช่องปากเข้าไปในปอด เป็นต้น

และปัญหาสุขภาพช่องปาก มีทั้งที่เกิดที่ฟันและที่เหงือก ที่ฟันคือมีฟันผุจนลึกถึงโพรงประสาทที่นำมาสู่การติดเชื้อเป็นหนอง หรือถ้าเป็นที่เหงือกอาจะเกิดการอักเสบจนไม่สามารถรองรับฟันได้ ฟันก็จะโยกคลอนและหลุดได้ ซึ่งบริการรักษาฟันมีตั้งแต่อุดฟันผุ แต่ก่อนฟันผุเล็กน้อยก็จะจะกรอฟันแล้วอุดไว้

แต่ปัจจุบันถ้าได้รับการเคลือบฟลูออไรด์เพียงพอ แปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์อย่างสม่ำเสมอ ฟันก็อาจจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด 

สำหรับกรณีที่ฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทก็มีจำเป็นต้องรักษารากฟัน ทำความสะอาดเอาส่วนที่ติดเชื้อออกแล้วอุดคลองรากฟัน ก็สามารถเก็บฟันไว้ได้ แต่หากรุนแรงขึ้นมาอีกจำเป็นต้องถอนออก หรือในส่วนของเหงือกที่ทำให้เกิดโรคคือคราบขี้ฟันสีขาวเหลืองที่สะสมตามคอฟันหรือซอกฟัน สามารถป้องกันด้วยตนเองโดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ หรือการดูแลโดยทันตแพทย์ด้วยการขัดทำความสะอาด ขูดหินปูน รวมทั้งการเกลารากฟัน แต่ถ้ารุนแรงจริงๆ ก็อาจต้องถอนฟันอยู่ดี" ผู้เชี่ยวชาญพิเศษหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ กล่าว
 
พ.ท.ทพ.ธนศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จากสถิติข้างต้นพบว่าคนไทยยังซ่อมมากกว่าสร้าง ดังนั้นควรจะมีการตรวจสุขภาพฟันหรือป้องกันโรคให้มากขึ้น ซึ่งสิทธิประโยชน์บัตรทองเดิมทีให้สิทธิรับบริการเฉพาะที่โรงพยาบาลรัฐ ครอบคลุมเกือบทุกอย่างยกเว้นบริการที่เกี่ยวกับความสวยงามและไม่มีข้อบ่งชี้

แต่จากโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ทำให้ไปรับบริการที่คลินิกทันตกรรมเอกชนร่วมโครงการได้ ครอบคลุมบริการทั้ง การตรวจฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ อุดฟัน ขูดหินปูน และถอนฟัน ได้ปีละ 3 ครั้ง ไม่ต้องร่วมจ่าย แต่หากรับบริการมากกว่า 3 ครั้ง หรือการรักษาที่คลินิกทันตกรรมเอกชนไม่ครอบคลุม สามารถข้อรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลรัฐบาลได้
 
ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมตามสิทธิประโยชน์บัตรทอง สามารถตรวจสอบรายชื่อคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่เว็บไซต์ สปสช. จากนั้นติดต่อนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ โดยการเข้ารับบริการก็ใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัว โดยในครั้งที่ 1 จะเริ่มจากการตรวจช่องปากโดยละเอียด ประเมินความเสี่ยงฟันผุ จัดแผนการรักษาตามลำดับความรุนแรงของโรค

จากนั้นการรักษาครั้งที่ 2 และ 3 จะการรักษาตามแผน เช่น อุด ขูด ถอน อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนหากยังจำเป็นต้องรักษาครั้งที่ 4 เป็นต้นไป สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐตามสิทธิได้

“ที่อยากฝากไว้ การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองทุกวัน แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 2 นาทีด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ ลดแป้งและน้ำตาล ทานอาหารให้เป็นเวลา บอกลาอาหารหวานเหนียวติดฟัน และควรเข้ารับการตรวจฟันจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากอาจมีภาวะช่องปากเรามองเองไม่เห็น จะได้รีบป้องกันหรือรักษาแต่แรกเริ่ม” พ.ท.ทพ.ธนศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง สามารถใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงสังเกตคลินิกทันตกรรมที่มีสติ๊กเกอร์ “30 บาทรักษาทุกที่” ติดอยู่ หรือดูรายชื่อคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมได้ที่ เว็บไซต์ สปสช. https://media.nhso.go.th/30plus/map_responsive.php เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะมีสุขภาพช่องปากดีได้