เจาะ 5 เทรนด์เวลเนส ปี 2025 ส่งผลเชิงบวก 'Wellness Economy' ไทย

อนาคตเศรษฐกิจเวลเนส(Wellness Economy)สดใส เทรนด์สุขภาพโลกกำลังมาแรง นโยบายรัฐส่งเสริม ผลักดันสู่ Medical & Wellness Hub สร้างโอกาสอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันฯ มองไทยมีโอกาส - ศักยภาพครอบคลุม 11 ธุรกิจ ขณะที่ 5 เทรนด์เวลเนสปี 2025 จะส่งผลกระทบเชิงบวก
KEY
POINTS
- เศรษฐกิจเวลเนส(Wellness Economy)ทั่วโลกเติบโตสูง ปี 2023 มูลค่ากว่า 6.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 อยู่ที่ราว 5.61 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2028
- อนาคตเศรษฐกิจเวลเนส(Wellness Economy)สดใส เทรนด์สุขภาพโลกกำลังมาแรง นโยบายรัฐส่งเสริม “สมศักดิ์” หนุนรัฐ - เอกชนจับมือผลักดันสู่ Medical & Wellness Hub สร้างโอกาสอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
- นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันฯ มองไทยมีโอกาส-ศักยภาพ เศรษฐกิจเวลเนส(Wellness Economy) ครอบคลุม 11 ธุรกิจ ขณะที่ 5 เทรนด์เวลเนสปี 2025 จะส่งผลกระทบเชิงบวก
“เวลเนส(Wellness)” คือ ภาวะของสุขภาพที่ดีสมบูรณ์ และสมดุลทั้งทางกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมผ่านการดำเนินชีวิตที่ดี จึงจะส่งผลให้เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพ(Wellness Economy ) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้า และบริการที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ และคุณภาพชีวิตมีการเติบโตสูง โดยสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute; GWI) ประเมินแนวโน้มของตลาด Wellness Economy
ปี 2023 อุตสาหกรรมเวลเนสมีมูลค่ากว่า 6.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่อยู่ที่ราว 5.61 ล้านล้านดอลลาร์ มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปจนถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2025 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2028 การเติบโตเฉลี่ย(CAGR) 7.3 % ต่อปี
ส่วนตัวเลขมูลค่าของประเทศไทยในปี 2022 เมื่อจำแนกตาม 11 องค์ประกอบหลัก Wellness Economy ของ GWI พบว่า 1.ผลิตภันฑ์เพื่อความงาม และการดูแลตนเอง(Personal Care & Beauty) 6.88 พันล้านดอลลาร์
2.อาหารเพื่อสุขภาพ และโภชนาการ(Healthy Eating,Nutrition &Weight Loss) 8.92 พันล้านดอลลาร์
3.ฟิตเนส การออกกำลังกาย และกีฬา(Physical Activity) 3.05 พันล้านดอลลาร์
4.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Wellness Tourism) 7.78 พันล้านดอลลาร์
5.การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์แผนไทย(Traditional & Complementary Medicine) 3.32 พันล้านดอลลาร์
6.สุขภาพเชิงป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล(Public Health,Prevention &Personalized Medicine) 2.52 พันล้านดอลลาร์
7.การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรกับสุขภาพ(Wellness Real Estate) 0.47 พันล้านดอลลาร์
8.การดูแลสุขภาพในที่ทำงาน(Workplace Wellness) 0.11 พันล้านดอลลาร์
9.สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์(Mental Wellness) 0.57 พันล้านดอลลาร์
10.ธุรกิจสปา และบ่อน้ำร้อน(Spas&Thermal/Mineral Springs) 1.56 พันล้านดอลลาร์
11.เทคโนโลยีด้านสุขภาพ(Wellness Technology & Digital Health) ยังไม่มีการระบุตัวเลข
Wellness Economy นโยบายรัฐผลักดันชัดเจน
นับว่าประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพของประเทศไทยยังมีมูลค่าประมาณ 40,500 ล้านดอลลาร์เท่านั้น นอกจากนี้ รัฐบาลมีความชัดเจนเชิงนโยบายที่จะผลักดันเรื่อง Wellness Economy โดย “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาในการเข้ารับตำแหน่งว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่จะใช้สร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวในการเป็นประธาน เปิดการอบรมหลักสูตร Wellness Business and Beyond (WBB) ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิทุนแพทย์เพื่อปวงประชา สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นว่า อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทั่วโลก จะเป็นกลไกในการสร้างรายได้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงมีนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical และ Wellness Hub เพื่อส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามนโยบายของรัฐบาล
"เชื่อมั่นว่าประเทศไทย มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลาง ด้าน Medical และ Wellness Hub ของโลก เนื่องจากมีความโดดเด่น หลายประการ เช่น มีโรงพยาบาล และคลินิกที่มีมาตรฐานระดับโลก มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีค่ารักษาพยาบาลอยู่ในระดับที่แข่งขันได้" นายสมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ คนไทยยังมีจิตวิญญาณด้านการให้บริการที่ดี รวมถึงมีภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศอีกด้วย ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกัน ในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจสุขภาพของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
Wellness Economy โอกาส-ศักยภาพของไทย
เรื่องของโอกาส และศักยภาพประเทศไทยในเศรษฐกิจเวลเนสนั้น นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลักษณะของ 11 ธุรกิจที่เชื่อมโยงเรื่องเวลเนสที่ประเทศไทยมีโอกาส และศักยภาพ คือ
1.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในเรื่องของการดูแลสุขภาพ และบำบัดด้วยสปา โรงแรมที่มีคลินิกเวลเนส และความงาม ท่องเที่ยวเน้นธรรมชาติ และผ่อนคลาย การท่องเที่ยวhealth Coach และเข้าค่ายเวลเนสตามโรงแรม และศูนย์ต่างๆ 2.อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ มีอากาศเพื่อสุขภาพ บริการปรับ/เปลี่ยนวัสดุสร้างบ้านเพื่อความสบาย และผ่อนคลาย ลดการใช้พื้นที่ปิด เปิดพื้นที่ไม่ติดแอร์แต่สบาย และอสังหาฯ ที่มีกิจกรรมเสริมจาก สปา
3.Wellness Factory การเช็กอัปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตรวจ และปรับสิ่งแวดล้อมการทำงาน และพฤติกรรม รับจัดระบบการทำงานเพื่อความสุขกาย สบายใจ ทั้งขั้นตอน กระบวนการทำงาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 4.ผลิตภันฑ์เพื่อความงามและการดูแลตนเอง ด้วยอาหาร สมุนไพร ด้วยการแพทย์สมัยใหม่
5.เวชศาสตร์ป้องกันเพื่อการดูแลสุขภาพ เช่น การยืดเหยียดเพื่อการรักษาโรค ป้องกันโรค และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ การตรวจยีน และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง(ATMPs) 6.การแพทย์แผนไทยในการดูแลสุขภาพ ผลิตสมุนไพรเพื่อใช้ทดแทนการใช้ยา เครื่องดื่มเสริมสร้างสมรรถนะสุขภาพ การนวดเพื่อผ่อนคลาย สปา กระท่อม และกัญชา
7.อุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพ การวิจัย ค้นคว้าเพื่อการบำบัดระบบกล้ามเนื้อ/ประสาท พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการผ่อนคลาย อบร้อน/เย็น สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ด้านฟื้นฟูที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ 8.บริการดูแลเชิงจิตวิญญาณ ฝึกโยคะพื้นฐาน ฝึกสมาธิ คลายเครียด ดนตรีเพื่อความสงบ และปล่อยวาง เทคนิคการฝึกคิดบวก
9.ศูนย์ปรับพฤติกรรมการกินเพื่อการลดความอ้วน 10.น้ำด่าง น้ำแร่ น้ำพุร้อน 11.Financial Consultant for Wellness บริการที่ปรึกษาในการวางแผนทางการเงิน เทคนิคการลงทุน และการใช้เงิน แนวทาง และโอกาสการสร้างรายได้ และเทคนิคการลดต้นทุน
5 เทรนด์เวลเนสผลต่อไทยเชิงบวก
ขณะที่มี 5 แนวโน้มเวลเนสเทรนด์ ปี 2025 ที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศไทย ได้แก่ 1.พัฒนาซาวน่าไทย สมุนไพรไทยให้เป็นจุดขายระดับสากล(Sauna Reimagined) 2.การใช้ทรัพยากรน้ำ (Watershed Wellness) เช่น น้ำพุร้อน สปา ธาราบำบัด เป็นจุดขาย 3.เทคโนโลยีด้านสุขภาพ เช่น คลินิกอายุยืน (Longevity Clinics),การแพทย์เฉพาะรายบุคคล(Personalized Medicine)และเวชศาสตร์วิถีชีวิต(Lifestyle Medicine) 4.บูรณาการเวลเนสเข้ากับการบำบัดสุขภาพจิต และพฤติกรรมเสพติด(Wellness Tackles Addiction) และ 5.การใช้เอไอในการออกแบบโปรแกรมสุขภาพเฉพาะบุคคล(Digital&AI-Driven Wellness)
ภาพรวม Wellness Economy หนึ่งในความหวังทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ยังมีโอกาสเติบโตสูง และศักยภาพไปได้ถึงระดับสากล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์