‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในไทย?(2) ช่องว่างการ 'ดูแลประคับประคอง' ในไทย

‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในไทย?(2) ช่องว่างการ 'ดูแลประคับประคอง' ในไทย

The story ‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบรับความช่วยเหลือในไทย? (ตอนที่ 2) ช่องว่างการดูแลแบบประคับประคองในระบบสุขภาพไทย

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยกฎหมายไม่อนุญาตให้ “การุณยฆาต”ไม่ว่าจะกรณีใดๆ แต่กฎหมายตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 อนุญาตให้ “ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้(LivingWill)”
  • “กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอ The story ‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบรับความช่วยเหลือในไทย? 3 ตอน โดยตอนที่ 2 สะท้อนช่องว่างการดูแลประคับประคองในระบบสุขภาพไทย ขาดทั้ง 4 เสาหลักตามที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนด
  • ข้อเสนอแนวทางต่อการพัฒนาระบบดูแลประคับประคองในสังคม เส้นทางความก้าวหน้าของคนทำงานมีความจำเป็น พลังของประชาชนที่มีความต้องการระบบการจะนำไปถึงการกำหนดระดับนโยบายและอยากให้ชุมชน-ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทดูแลเรื่องนี้มากขึ้น 

เมื่อไม่นานมานี้ ช่อง ONE 31 มีการนำเสนอซีรีย์วาย เรื่อง “การุณยฆาต” ส่งผลให้คนในสังคมสนใจประเด็น “การดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองและระยะสุดท้าย”ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และเมื่อเร็วๆนี้ ร่วมกับ Peaceful Death ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา เรื่อง “การุณยฆาตกับการสร้างเสริมสุขภาวะ ในระยะสุดท้ายของชีวิต”

”กรุงเทพธุรกิจ”จะนำเสนอประเด็นเรื่องนี้ The story ‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบรับความช่วยเหลือในไทย? เป็น 3 ตอน แต่มิได้หมายความว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนในเรื่อง “ยุติชีพ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบรับความช่วยเหลือในประเทศไทย”
The story ‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบรับความช่วยเหลือในไทย? (ตอนที่ 2) ช่องว่างการดูแลประคับประคองในระบบสุขภาพไทย

ขาดทั้ง 4 เสาตามหลักWHO

พญ.จิราภา คชวัตร  แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ด้านการดูแลแบบประคับประคอง ศูนย์ชีวาประทีป รพ.สิรินธร สะท้อนว่า  ระบบการดูแลประคับประคองตามหลักขององค์การอนามัยโลก(WHO)ประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ 1.นโยบายจากภาครัฐมาสนับสนุนการดูแล ซึ่งในไทยมีService Plan ที่กำหนดให้รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ทุกแห่งต้องมีการให้บริการด้านนี้กำหนดเป็นตัวชี้วัด พร้อมกับนโยบายชีวาภิบาลที่จะไม่ได้ดูแลเพียงผู้ป่วยระยะท้าย แต่จะดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุด้วย ขณะที่หน้างานยังไม่ได้รับการสนับสุนนทั้งเรื่องคน เงิน ของ ตำแหน่ง
2.การศึกษา  ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา 6 ปี  ได้เรียนเรื่องการดูแลผู้ป่วยประคับประคองชั่วโมงเดียว และแพทย์จบใหม่จึงอาจจะยังไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ เมื่อต้องเจอผู้ป่วยก็จะดูแลไม่ได้ 
พญ.อิสรีย์ (เสื้อสูท) และพญ.จิราภา

3.ยา คนไข้ที่อยู่ในวาระสุดท้ายจำเป็นต้องได้รับยาในการจัดการอาการ เช่น มอร์ฟีนที่มีหลายรูปแบบ แต่ปัญหาของไทยคือแพทย์ไม่กล้าใช้เพราะไม่ได้เรียนมา ไม่กล้าสั่ง คนไข้ที่ต้องใช้จึงเข้าไม่ถึงยา

 และ4.การนำ 3 ข้อแรกมาปฏิบัติ แม้นโยบายมีแต่ไม่มีการสนับสนุนเรื่องคน เงิน ของ ตำแหน่ง  ทำให้ไปต่อลำบาก ในตอนนี้คนที่ทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่จึงทำด้วยใจ ยังไม่มีหน่วยในรพ.ที่สังกัดชัดเจน ทำให้บุคลากรอยู่ได้ไม่ยั่งยืน 

เสียงความต้องการของคน ต้องดังพอ  

พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร ผู้เขียนนิยายการุณยฆาต เสริมว่า ปัจจุบันรพ.ไม่มีกลุ่มงานดูแลผู้ป่วยประคับประคอง(Palliative Care) ทุกวันนี้สหวิชาชีพที่ทำงานรวมตัวขึ้นมาทำงานเรื่องนี้ให้ตรงตามตัวชี้วัดสธ.ไปในแต่ละปี แต่เส้นทางความก้าวหน้าไม่มี อย่างเช่น พยาบาลที่มาทำงานด้านนี้แต่ชื่ออยู่หอผู้ป่วยอายุรกรรม

หากต้องการก้าวหน้าจะต้องไปทางอายุรกรรม เพราะด้านดูแลผู้ป่วยประคับประคองไม่มีตำแหน่งรองรับ เมื่อทำไปนานๆจะควบทั้ง 2 ส่วนงานไม่ไหว ก็ต้องเลือกไปทำด้านอายุรกรรมอย่างเดียว ดังนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับบุคลากรที่ทำงาน ถ้าเริ่มต้นได้ดีจากส่วนนี้เชื่อว่างานดูแลผู้ป่วยประคับประคองจะดีขึ้นแบบก้าวกระโดด

“การสร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการดูแลประคับประคองเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เมื่อทำให้คนมีความต้องการและอยากได้ในเรื่องนี้ จะเกิดพลังที่จะส่งเสียงไปถึงผู้กำหนดนโยบาย เพราะนโยบายจะมาพร้อมกับเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนเสมอ อย่างกรณีสมรสเท่าเทียม เป็นต้น  และเมื่อนักการเมืองคนไหนมานโยบายการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยประคับประคองเราก็เลือกเขา”พญ.อิสรีย์กล่าว 

ขาดงานวิจัยเชิงระบบ-ดีมานด์

ขณะที่ นศพ.พิวัฒน์ ศุภวิทยา นักวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพ กล่าวว่า งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในประเด็นดูแลประคับประคองยังกระจัดกระจาย ไม่มีงานวิจัยเชิงระบบ ที่ดูเรื่องนโยบายว่าส่งผลอย่างไรต่อรพ. หรือเชิงดีมานด์ ความต้องการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ด้านการดูแลแบบประคับประคองในแต่ละพื้นที่ ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณก็ยังผูกอยู่กับการดูแลระยะกลาง (Intermediate Care) 

ท้องถิ่นควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานโครงการชุมชนกรุณา กลุ่ม Peaceful Death กล่าวว่า บางรพ.ไม่มีแพทย์ด้านดูแลประคับประคอง ไม่มีพยาบาลที่จบหลักสูตรอบรม การเข้าถึงยาอย่างมอร์ฟีนที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยประคับประคองให้ลดความทุกข์ทรมาน ผู้ป่วยได้รับแต่ไม่ใช้จากที่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยานี้ค่อนข้างมาก บวกกับมีความยุ่งยากในการเบิกจ่ายที่จะให้รพ.มีสต็อคยาไว้เพื่อให้คนไข้กลับไปใช้ที่บ้าน แต่บางรพ.ยังทำไม่ได้ เพราะไม่มีคุยกันในภาพรวมระดับนโยบาย
‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในไทย?(2) ช่องว่างการ \'ดูแลประคับประคอง\' ในไทย
นอกจากนี้ หากต้องกลับไปอยู่บ้าน ก็ไม่มีใครดูแล เพราะลูกหลานต้องไปทำงาน  จึงอยากให้ชุมชนท้องถิ่นขยับมาทำเรื่องการดูแลผู้ป่วยประคับประคองในชุมชนตัวเองมากขึ้น สร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง  มีการพัฒนานักบริบาลชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแล โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนงบประมาณสวัสดิการต่างๆ จะช่วยให้คนป่วยมีคนดูแล ขณะเดียวกันช่วยให้คนดูแลสามารถยืนระยะอยู่ได้ ไม่ต้องดูแลผู้ป่วยคนเดียวตลอด 24 ชั่วโมง
และควรมีโนยายเรื่องการให้คนลาไปดูแลพ่อแม่ได้โดยยังได้รับเงินเดือน จะกำหนดสะสมได้กี่วันก็แล้วแต่ เหมือนกับกรณีลาคลอด ลาบวช

ส่วนประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนให้มีเรื่องของ “ยุติชีพผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบรับความช่วยเหลือ”ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า “สังคมไทยยังไม่พร้อมในเรื่องนี้ และสิ่งสำคัญที่ควรดำเนินการก่อน คือ การพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยประคับประคองให้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน”

อ่าน : ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในไทย(ตอนที่ 1) ซีรีย์การุณยฆาต กระตุกความสนใจสังคม

‘ยุติชีพ’ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบรับความช่วยเหลือในไทย?(ตอนจบ)  “ยุติชีพ”ยอดพีระมิด ที่ฐานรากต้องแข็งแรงก่อน