‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ 5 ข้อเหล่าทาส-เจ้าของร้านต้องรู้ ป้องกันโรค  

 ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ 5 ข้อเหล่าทาส-เจ้าของร้านต้องรู้ ป้องกันโรค  

“คาเฟ่สัตว์เลี้ยง”  กรมอนามัย กำชับต้องอขอรับใบอนุญาตก่อนเปิด และ 5 ข้อปฏิบัติตามสุขอนามัย ป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

จากกระแส ‘คาเฟ่สัตว์เลี้ยง’ ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ ดึงดูดให้ทาสหมา ทาสแมว หรือ ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ควรปฏิบัติตาม  5 แนวทางสำหรับร้านอาหารที่มีลักษณะการประกอบกิจการที่มีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonoses) ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เช่น โรคพิษสุนัขบ้า และโรคไข้หวัดนก แบคทีเรีย เช่น  โรคฉี่หนู โรคบาดทะยัก และโรคไข้กระต่าย เชื้อรา เช่น โรคเชื้อราจากผิวหนังแมว และโรคเชื้อรามูลนก เชื้อโปรโตซัว ปรสิต เช่น โรคพยาธิปากขอ และโรคไข้ขี้แมว เป็นต้น

นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับกรมควบคุมโรค ได้มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ 1.ร้านอาหารที่มีการอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในร้านอาหาร ควรจัดสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมแยกเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับบริเวณที่ปรุง ประกอบอาหาร  จำหน่ายอาหาร และที่นั่งรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันเส้นขน หมัด หรือสารคัดหลั่งจากสัตว์ ฯลฯ ปนเปื้อนในอาหาร และโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

 2.กรณีร้านอาหารนำสัตว์เลี้ยงมาเป็นกิจกรรมดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้าใช้บริการ ควรแยกเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับสถานที่นั่งรับประทานอาหาร บริเวณที่จำหน่ายอาหาร หรือปรุงประกอบอาหาร

3.มีการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง ทำความสะอาดสัตว์และมีการฆ่าเชื้อคอกสัตว์หรือบริเวณที่สัตว์อยู่เป็นประจำทุกวัน

4.มีมาตรการให้พนักงานที่มีการสัมผัสสัตว์เลี้ยงต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนปฏิบัติงานด้านอาหาร เช่น ก่อนปรุง ประกอบอาหาร จำหน่ายอาหาร และเสิร์ฟอาหาร เป็นต้น

และ 5. มีมาตรการให้ผู้มาใช้บริการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังจากสัมผัสสัตว์

ทั้งนี้  การประกอบกิจการดังกล่าว ยังเข้าข่ายเป็น “สถานที่จำหน่ายอาหาร” ตามพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องขอรับใบอนุญาต ในกรณีสถานที่มีพื้นที่ประกอบกิจการเกิน 200 ตารางเมตร หรือขอรับหนังสือรับรองการแจ้ง กรณีสถานที่มีพื้นที่ประกอบกิจการไม่เกิน 200 ตารางเมตร และยังต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการกลุ่มที่ 1 กิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

และการประกอบกิจการเลี้ยง รวบรวมสัตว์ หรือธุรกิจอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าชมหรือเพื่อประโยชน์ของกิจการนั้น ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บ ค่าดูหรือค่าบริการในทางตรง หรือทางอ้อม หรือไม่ก็ตาม โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของร้านอาหาร เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เป็นตามกฎหมายด้วย