ปรับ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เปิดข้อเสนอ 3 ทางเลือก

ปรับ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เปิดข้อเสนอ 3 ทางเลือก

เปิดข้อเสนอ 3 ทางเลือก ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก่อนพม.เคาะ "1,000 บาทถ้วนหน้า" 60 ปีขึ้นไปได้เท่ากันหมด แทนแบบขั้นบันได ชงเข้าครม. ภายในมิ.ย.2567

KEY

POINTS

  • แม้ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือนับจากนี้ตั้งแต่ปี  2566 เพราะจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “สึนามิผู้สูงอายุ” ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปีราว 1 ล้านคน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโจทย์ใหญ่
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได คาดอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องใช้งบประมาณ 1.26 แสนล้านบาท ได้มีข้อเสนอ 3 ทางเลือกในการปรับ ล่าสุดพม.เคาะ 1,000 บาทถ้วนหน้าและเตรียมเสนอครม.ภายในมิ.ย.2567
  • สมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย ของพม. มีการระบุถึงมาตรการเร่งด่วนส่วนของผู้สูงอายุไว้ 5 ข้อ ไม่ได้มุ่งแค่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

สึนามิผู้สูงอายุ ส่งผลไปอีก 20 ปี  

สังคมไทยเป็น สังคมผู้สูงอายุ แล้วก็จริงอยู่ แต่นับจากนี้จะเป็น สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society) รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องด้วยจํานวนและสัดส่วนของประชากรในวัยเด็กและวัยทํางาน ลดลงมาก ในขณะที่กลุ่มประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กําลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

เนื่องจากในช่วงปี  2506 – 2526 ประชากรไทยมีอัตราการเกิดปีละราว 1 ล้านคน เพราะฉะนั้นแล้ว นับตั้งแต่ปี  2566 ประชากรที่เกิดในปี  2506 จะมีอายุ 60 ปี กลายเป็น ผู้สูงอายุ และหลังจากนั้นจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 ล้านคน 

ทั้งนี้ ประชากรวัยทํางานที่มีอายุตั้งแต่ 41 - 59 ปีขึ้นไปซึ่งเกิดในปีพ.ศ.ดังกล่าว มีจํานวนรวมทั้งหมดกว่า 19.25 ล้านคน ที่กําลังเข้ามาสมทบกลุ่มประชากรวัยสูงอายุที่มีจํานวนและสัดส่วนมากอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น ประหนึ่งเป็นสึนามิผู้สูงอายุที่กำลังจะซัดเข้าสู่สังคมไทย 

จึงเห็นได้ชัดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าผู้ที่จะมีอายุ 60 ปี จะมีประมาณเกือบ 1 ล้านคนต่อปีและจะคงอยู่ในปริมาณนี้ไปอีกราว 20 ปี และมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาว จึงส่งผลให้อัตราการเป็นสังคมสูงวัยสุดยอดเร่งเร็วขึ้น ทั้งยังจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ งบฯที่ต้องใช้

การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในปัจจุบันเป็นแบบขั้นบันได คือ ได้เพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น

  • อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 600 บาท/คน/เดือน
  • อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 700 บาท/คน/เดือน
  • อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 800 บาท/คน/เดือน
  • อายุ 90 ปี ขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 1,000 บาท/คน/เดือน

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รัฐใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาทสําหรับผู้สูงอายุจํานวน 10.3 ล้านคน

หากมี การจ่ายเงินแบบขั้นบันได ไปตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าและจ่ายให้ผู้สูงอายุทุกคนตามแนวคิดที่ต้องการให้เปลี่ยนเป็นสวัสดิการพื้นฐานหรือหลักประกันรายได้เบื้องต้น จะพบว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 1.26 แสนล้านบาท และจะเพิ่มเป็น1.4 แสนล้านบาท ในพ.ศ. 2577

หากปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 1,000 บาท และจ่ายให้ผู้สูงอายุทุกคน คาดว่าภายใน 5 ปี ข้างหน้าต้องใช้งบประมาณถึง 1.89 แสนล้านบาท

หากเพิ่มเป็น 3,000 บาท ใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 5.68 แสนล้านบาท

3 ทางเลือกปรับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

ในเวทีเสวนาวิชาการ “ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567 ณ ห้องประชาบดี ชั้น 19A อาคารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีการนําเสนอประเด็น “นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบใหม่”

ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาฝ่ายหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อเสนอ จํานวน 3 ทางเลือกสําหรับการปรับเบี้ยยังชีพผ็สูงอายุให้เป็นบํานาญพื้นฐานโดยยึดหลักการในการเสนอทางเลือก คือ เป็นธรรม ถ้วนหน้า และเพียงพอต่อการดํารงชีพ

1. จ่ายเบี้ยยังชีพตามอัตราขั้นบันไดและคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเหมือนปัจจุบัน

แต่หากมียอดเงินฝากต่ำกว่าเกณฑ์ให้เพิ่มจนเท่ากับ 1,700 บาท  จํานวนเงินที่ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับมีดังนี้

  • อายุ60-69 ปีจะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 600 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า220,000บาท จะมีสิทธิได้รับบํานาญเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกิน 1,100 บาท
  • อายุ70-79 ปีจะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 700 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า 200,000บาท จะมีสิทธิได้รับเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
  • อายุ80-89 ปีจะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 800 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า180,000บาท จะมีสิทธิได้รับเพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 900 บาท
  • อายุ90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินบํานาญพื้นฐาน 1,000 บาท และหากมีเงินฝากต่ำกว่า 140,000 บาท จะมีสิทธิด้รับเพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 700 บาท

ทางเลือกนี้หากดําเนินการในปี2568 จะต้องใช้งบประมาณ 260,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ1.38ของ GDP

2. บํานาญพื้นฐาน 1,700 บาท ดูเกณฑ์เงินฝากและบํานาญจากแหล่งอื่น

ผู้มีสิทธิได้รับบํานาญพื้นฐาน จะต้องมีเงินฝากต่ำกว่า 340,000 บาท หรือได้บํานาญจากแหล่งต่าง ๆ รวมกันต่ำกว่าเดือนละ 1,700 บาท ดังนั้น

  • ผู้ที่ไม่มีรายได้เลย จะได้รับ 1,700 บาทต่อเดือน
  • ผู้ที่มีรายได้ แต่ยังไม่ถึง 1,700 บาท จะถูกเติมให้ครบ 1,700 บาท
  • ผู้ที่มีรายได้หรือบํานาญจากแหล่งอื่น มากกว่า 1,700 บาท จะไม่ได้รับ

หากดําเนินการในปี 2568 จะต้องใช้งบประมาณ 270,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 ของ GDP

3. บํานาญพื้นฐานครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคน

วิธีการ ผู้สูงอายุทุกคน จะได้รับเดือนละ1,700 บาทเท่ากันทั้งหมด หากดําเนินการในปี2568 จะต้องใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.58ของ GDP

ปรับ \"เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ\" เปิดข้อเสนอ 3 ทางเลือก

พม.ชงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทถ้วนหน้า

จะเห็นได้ว่าจากการคาดการณ์ใช้งบประมาณหากจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได เช่นเดิม หรือการปรับเป็น 1,000บาท ทุกคน และข้อเสนอ 3 ทางเลือกนั้น

การจ่ายแบบเดิมใช้งบประมาณน้อยที่สุด แต่จะไม่มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเลยก็คงจะไม่ได้ จึงอาจเป็นเหตุหลักที่ทำให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เคาะเลือกที่จะปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแบบ 1,000 บาทถ้วนหน้า ได้เท่ากันทุกคนที่มีอายุ  60 ปีขึ้นไป เพราะคาดว่าใน 5 ปี ข้างหน้าต้องใช้งบประมาณถึง 1.89 แสนล้านบาท ต่ำกว่าอีก 3 ทางเลือกที่ใช้งบประมาณต่างกันถึงราว 1 แสนล้านบาท

นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ที่มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. เป็นประธานเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 มีมติให้ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถ้วนหน้า 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น

“เรื่องสิทธิสวัสดิการสังคมต่างๆเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งเรื่องงบประมาณและนโยบาย ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งจัดทำข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในเดือนมิ.ย.2567”นางพรนิภากล่าว

ผู้สูงอายุ  5 มาตรการเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในสมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบาย วิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย ของพม. ในส่วนผู้สูงอายุ สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส มีการระบุถึงมาตรการเร่งด่วน 5 ข้อ ประกอบด้วย 

1. มุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค เสริมการมีพฤติกรรมที่ พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ

2. ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะที่จําเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี  ให้ผู้สูงอายุและลดข้อจํากัดที่เป็นอุปสรรคต่อการทํางานของผู้สูงอายุ

3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น จัดระบบบริบาลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนโดยชุมชน ส่งเสริมให้มีการเกื้อหนุนและสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัวและชุมชน

4. ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อม ทั้งภายในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชนที่เอื้อต่อการทํากิจวัตรประจําวัน การสัญจรและการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ

5. ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติเพื่อให้เกิดการทํางานแบบบูรณาการอย่างครบวงจรกับผู้สูงอายุ
 

 

 

 

อ้างอิง : สมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย พม.