“เมืองสมุนไพร (Herbal City) สร้างรายได้กว่า 1.1 หมื่นลบ.

“เมืองสมุนไพร (Herbal City) สร้างรายได้กว่า 1.1 หมื่นลบ.

6 ปี 15 เมืองสมุนไพร(Herbal City) สร้างรายได้กว่า  1.1 หมื่นล้านบาท ผ่านการขายผลิตภัณฑ์-บริการเกี่ยวกับสมุนไพร ในปี 2567 เดินหน้าผลักดันเพิ่มอีก  14 จังหวัด น่านจ่อเป็นเมืองที่ 16 คาดปี 70 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท

การดําเนินงานด้านเมืองสมุนไพร (Herbal City) มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชนระดับพื้นที่ เสริมสร้างโอกาสต่อยอดชุมชนสร้างมูลค่าจากสมุนไพร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตของชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 โดยคาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทในปี  2570

เมืองสมุนไพรผลักดันเพิ่ม 14 จังหวัด

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  มีวาระการพิจารณาเรื่องเมืองสมุนไพร ซึ่งผลจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2566 เกิดรายได้สะสมจากการขายผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร รวม 11,783 ล้านบาท

ในปี 2567 จะเดินหน้าผลักดันอีก 14 จังหวัดเป็นเมืองสมุนไพร ประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน นครสวรรค์ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง บึงกาฬ เลย หนองคาย นครราชสีมา กระบี่ นครศรีธรมราช และสตูล ซึ่งเป็นเมืองที่มีสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ตามนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงาน และกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยขณะนี้จ.น่านอยู่ระหว่างการรับรองเป็นเมืองสมุนไพร

“การสนับสนุนส่งเสริมเรื่องสมุนไพร เกษตรกรที่ปลูกก็สามารถขายผลผลิตได้บางชนิดใช้เวลาไม่นานก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ต้องใช้เรื่องของการตลาดเข้ามาช่วย นอกจากนี้ จะต้องมีการวิจัยพัฒนาไปสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย”นายสมศักดิ์กล่าว 

3 คลัสเตอร์เมืองสมุนไพร

ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมมีการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสมุนไพร 15 จังหวัด ต้นแบบเมืองสมุนไพร ที่มีศักยภาพสามารถสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชุมชนด้วยสมุนไพรท้องถิ่น ทั้งการเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าด้วยการจัดบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร

ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1.ด้านเกษตรและวัตถุดิบสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ สุรินทร์มหาสารคาม อุทัยธานี สกลนคร และ สระแก้ว  สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 1,837 ล้านบาท

2.ด้านอุตสาหกรรมสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สระบุรี ปราจีนบุรี และจันทบุรี สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 3,720 ล้านบาท

3.ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และ สงขลา สร้างรายได้ระดับพื้นที่สะสม 6,226  ล้านบาท โดยจังหวัดเหล่านี้จะเป็นต้นแบบเมืองสมุนไพรให้แก่จังหวัดอื่น

น่านจ่อเป็นเมืองที่ 16

ทั้งนี้ ชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นำเสนอเพื่อให้จ.น่านเป็นเมืองสมุนไพร จังหวัดที่ 16 โดยเน้นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย นำเอาจุดแข็งของจังหวัด ได้แก่ 1.มีความหลากหลายสมุนไพรประจำถิ่น เช่น มะแข่น มะไฟจีน ข้าวก่ำล้านนา ส้มสีทอง  

2. มีชุมชนวิสาหกิจต้นแบบที่พัฒนาสมุนไพรแบบครบวงจร คือ วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ต.น้ำเกี๋ยน 3.มีแหล่งเรียนรู้วิจัย และพัฒนาการปลูกพืชเป็นยา ด้วยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ศูนย์วนเกษตรพฤษเภสัช(พืชยา)

และ4.มีทิศทาง นโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรครบวงจรทุกมิติ
“เมืองสมุนไพร (Herbal City) สร้างรายได้กว่า 1.1 หมื่นลบ.
         สำหรับแผนดำเนินการน่านเมืองสมุนไพรระยะยาว 3-5 ปีนั้น  เมื่อปี 2566 มีเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยอาหารสมุนไพรวิถีน่าน 6  อำเภอ ,ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงคุณค่าการใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งภาค 

ปี 2567 มีเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยอาหารสมุนไพรวิถีน่าน 15 อำเภอ ,บุคลากรพืชสมุนพรมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะอาชีพขั้นสูง,ยกระดับผู้ประกอบการจัดบริการเพิ่มมูลค่าสนับสนุนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ปี 2568 ส่งเสริมภาพลักษณ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงบริการและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ,เพิ่มสศักยภาพการแข่งขันเข้าสู่การผลิตสมุนไพรภาคอุตสาหกรรม และยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน

ปี2569 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการใช้สมุนไพรในระบบบริการเชิงสุขภาพ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหนุนเสริมรายได้ในชุมชน

และปี 2570 เชื่อมโยงสมุนไพรกับการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของกลุ่มจังหวัด 

      “น่านเป็นเมืองสมุนไพร เน้นการสร้างรายได้ ผลักดันให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของกลุ่มจังหวัด คาดว่าจะต่อยอดสร้างรายได้ ในระดับพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 % จากรายได้ในปัจจุบัน”