อัปเดต "ค่าป่วยการอสม." 2,000 บาท จ่ายย้อนตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566

อัปเดต "ค่าป่วยการอสม." 2,000 บาท จ่ายย้อนตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566

ค่าป่วยการอสม. 2,000 บาท พร้อมจ่ายย้อนถึงต.ค.2566 รอพ.ร.บ.งบประมาณ 2567 มีผลบังคับใช้ สบส.ตั้งงบฯรองรับราว 25,000 ล้านบาท 

KEY

POINTS

  • ค่าป่วยการอสม. ครม.อนุมัติเมื่อช่วงมี.ค.2566 กำหนดจ่ายอัตราใหม่ 2,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ต.ค.2567 แต่ผ่านมาแล้ว 6 เดือนยังไม่ได้จ่าย
  • กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)ตั้งงบประมาณประจำปี 2567 รองรับค่าป่วยการอสม.ราว 25,000 ล้านบาท รอพ.ร.บ.งบประมาณ 2567 บังคับใช้พร้อมจ่ายตั้งแต่ต.ค.2566
  • ย้อนรอยค่าป่วยการอสม.จากจุดเริ่มที่เดือนละ 600บาท  สู่วันที่จะได้ 2,000 บาท ระยะเวลา 15ปี ปรับเพิ่ม 1,400 บาท 
  • สิทธิสวัสดิการอสม.ที่ได้รับ และประกาศล่าสุดเรื่องสิทธิประโยชน์อื่น 3 ด้าน ต้องผ่านคณะกรรมการฯก่อนเพื่อพิจารณาผลดีผลได้ที่จะเกิดขึ้น

ค่าป่วยการอสม. 2,000 บาท พร้อมจ่ายย้อนถึงต.ค.2566 รอพ.ร.บ.งบประมาณ 2567 มีผลบังคับใช้ สบส.ตั้งงบฯรองรับราว 25,000 ล้านบาท 

20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีอสม. และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กว่า 1.07 ล้านคน

ทั้งนี้ จากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบเมื่อช่วงเดือนมี.ค.2566 ในการเพิ่มค่าป่วยการอสม.จากเดิม 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยให้เริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนต.ค.2566 แต่ผ่านมาแล้ว  6 เดือนจนถึงมี.ค.2567 ยังไม่มีการจ่ายในอัตราใหม่นั้น 

ค่าป่วยการอสม. จ่ายย้อนตั้งแต่ต.ค.66

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า  กรมได้มีการตั้งงบประมาณประจำปี 2567 รองรับการจ่ายค่าป่วยการอสม.ในอัตราใหม่ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือนไว้ราว 25,000 ล้านบาท ล่าสุดได้มีการชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการปรับเพิ่มค่าป่วยการอสม.ต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯผ่านแล้ว

“หากพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 ผ่านรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ก็จะดำเนินการจ่ายค่าป่วยการอสม.ได้ ถ้าเป็นพ.ร.บ.งบประมาณต้องจ่ายย้อนทั้งหมด ไม่ได้มีการหมายเหตุไว้ว่าจะจ่าย ณ เดือนที่ประกาศ แต่โดยหลักทั่วไปก็จะจ่ายย้อนตั้งแต่เดือนต.ค.2566”นพ.สุระกล่าว   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข คาดการณ์ว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 น่าจะมีผลบังคับใช้ราวเดือนพ.ค.2567 ซึ่งหากเป็นไปตามที่ นพ.ชลน่าน ระบุ  อสม.ก็จะได้รับค่าป่วยการอสม.ย้อนหลัง 7 เดือนตั้งแต่ต.ค.2566-เม.ย.2567 ก่อนจะเข้าสู่การได้รับปกติตั้งแต่เดือนพ.ค.2567 เป็นต้นไป 

ย้อนค่าป่วยการอสม. 15 ปี ปรับขึ้น3ครั้ง

สำหรับในรอบ15 ปีตั้งแต่ปี 2552ที่มีการให้ค่าป่วยการอสม.ครั้งแรกจนถึงปี 2567 เป็นเวลา 15 ปี มีการปรับค่าป่วยการอสม. 4 ครั้ง

  • เริ่มมีการให้ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยรัฐบาลเวลานั้นเห็นชอบให้มีการจ่ายค่าป่วยการอสม. เป็นเงิน 600 บาทต่อเดือน
  • ผ่านมาอีก 10 ปีใน ปี 2562  มีเพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่  เป็นเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน 
  • ช่วงปี 2565 ที่มีการระบาดโควิด-19 มีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็นกรณีพิเศษระยะเวลา 30 เดือน เดือนละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 - กันยายน 2565 เพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท  ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้รับรวมเป็นเดือนละ 1,500 บาทต่อคน
  • ล่าสุดช่วงมี.ค.ปี 2566 ครม.เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน และให้เริ่มจ่ายอัตราใหม่ตั้งแต่เดือนต.ค.2567

สิทธิประโยชน์อื่นให้อสม.

ในส่วนของสิทธิสวัสดิการอสม.ที่ได้รับนั้น เมื่อต้นเดือนธ.ค.2566 สบส.ได้ออก เรื่อง สิทธิประโยชน์อื่นของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. 2566 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน และป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ของ อสม.

ประกาศเป็นการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสิทธิประโยชน์สำหรับ อสม.หรือบุตรโดยชอบธรรมตามกฎหมาย ไว้ 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านการศึกษา หรือการพัฒนาศักยภาพ โดยองค์กรหรือหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่ อสม. ต้องมีลักษณะเป็นการให้เปล่าที่ไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใดๆ ผูกมัด

 2.ด้านสุขภาพ องค์กรหรือหน่วยงานให้การประกันภัย โดยมีระยะคุ้มครอง อย่างน้อย 3 เดือนนับตั้งแต่วันลงทะเบียน สิทธิด้านการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข

3.ด้านบริการ สินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุอุปกรณ์ หรือทรัพยากรอื่น จะต้องเป็นการให้โดยไม่มีข้อจำกัดหรือผูกมัด และเป็นสินค้า หรือบริการในราคาที่ต่ำกว่าที่มีการให้บริการทั่วไป

อัปเดต \"ค่าป่วยการอสม.\" 2,000 บาท จ่ายย้อนตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566

นพ.สุระ กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้ออกมาเนื่องจากจะมีองค์กรที่ประสงค์จะให้ผลประโยชน์กับอสม.เข้ามาเป็นระยะๆ  เพื่อเป็นการพิจารณาความเหมาะสมว่ามีผลดีผลได้ขนาดไหน  จึงต้องมีคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง สิทธิประโยชน์อื่นสำหรับ อสม. ก่อนเสนอคณะกรรมกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบ

เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว กรม สบส. จะทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ให้สิทธิและองค์กรผู้ให้สิทธิ ต้องมีการกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการร่วมกับกรม สบส. ทุกๆ 3 เดือน พร้อมทั้งมีสรุปรายงานผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการทราบ ภายใน 30 ก.ย.ของทุกปี

สิทธิสวัสดิการอสม.

ผู้สื่อข่าวรายงานสิทธิและสวัสดิการอสม.และการช่วยเหลือเยียวยาที่อสม.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน อาทิ

1.การช่วยเหลือค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 โดยให้ได้รับการยกเว้น

2.มูลนิธิอสม. วงเงินช่วยเหลือกรณีต่อไปนี้

  • สาธารณภัย 2,500-5,000 บาท
  • ประสบอุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ เสียชีวิต 5,000 บาท ทุพพลภาพ 3,000 บาท เยียวยา 1,000-2,000 บาท

3.สมาคมฌกส. อสม. วงเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต อัตราเป็นไปตามจำนวนสมาชิก
4.การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ให้บริการ กรณีที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข วงเงินช่วยเหลือกรณีต่อไปนี้

  • เสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร 480,000-800,000 บาท
  • สูญเสียอวัยวะ พิการ 200,000-480,000 บาท
  • บาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 200,000 บาท