ฤดูร้อนปีนี้ "ดัชนีความร้อน" สูงมากกว่า 52 องศา เตือนอันตราย 4 ระดับ

ฤดูร้อนปีนี้ "ดัชนีความร้อน" สูงมากกว่า 52 องศา เตือนอันตราย 4 ระดับ

ร้อนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาระบุอุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส 5 จ.สูงสุด  กรมอนามัยเผยเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เตือนภัยดัชนีความร้อน 4 ระดับ

KEY

POINTS

  • ร้อนปีนี้ อุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส  ร้อนจัด 5 จังหวัดมากกว่า 44 องศาเซลเซียส ช่วงเม.ย.-พ.ค.2567 ทั่วไทยส่วนใหญ่อากาศร้อนจัด 
  • กรมอนามัย เสียชีวิตจากโรคความร้อน สะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น
  • ดัชนีความร้อนหรืออุหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 52 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตรายมากในบางวัน กรมอนามัยเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ  

ร้อนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาระบุอุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส 5 จ.สูงสุด  กรมอนามัยเผยเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เตือนภัยดัชนีความร้อน 4 ระดับ

ร้อนจัดอุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศา

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567 ที่กรมอนามัย มีการแถลงข่าว "การเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพจากความร้อนด้วยค่าดัชนีความร้อน (Heat Index)” น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.2567 ฤดูร้อนปีนี้ ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป

และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35.0 – 38.0 องศาเซลเซียส โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43.0 - 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถิติของประเทศไทย ที่ 44.6 องศาเซลเซียส อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และ อ.เมือง จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566

5 จ.อุณหภูมิทะลุ 44 องศา

บริเวณที่มีอากาศร้อนจัด คือ มีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียสหลายพื้นที่ แต่ไม่ใช่ทุกวัน เป็นบางวัน บางจุด บางช่วงเท่านั้น  จังหวัดที่มีโอกาสเกิดอากาศร้อนจัดปี  2567

  • ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 42-44 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ของจ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี ฤดูร้อนปีนี้ \"ดัชนีความร้อน\" สูงมากกว่า 52 องศา เตือนอันตราย 4 ระดับ
  • ภาคกลางและตะวันออก  41-44 องศาเซลเซียส  ในบางพื้นที่ของจ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว 
  • ภาคใต้ 40-41 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ของจ.ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล
  • กรุงเทพมหานคร 40-41 องศาเซลเซียส

ส่วน 5 จังหวัดที่อาจจะมีอุณหภูมิมากกว่า 44 องศาเซลเซียส ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุดรธานี

10 อันดับร้อนสูงสุดของไทย

ทั้งนี้ 10 อันดับอุณหภูมิสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อนในอดีต ได้แก่ 

  • 44.6 องศาเซลเซียส อ.เมือง แม่ฮ่องสอน 28 เม.ย.2559 อ.เมือง จ.ตาก 15 เม.ย.2566
  • 44.5 องศาเซลเซียส จ.อุตรดิตถ์ 27 เม.ย.2503 จ.สุโขทัย 11 พ.ค.2559
  • 44.3 องศาเซลเซียส จ.สุโขทัย 12 เม.ย.2562
  • 44.2 องศาเซลเซียส อ.เถิน จ.ลำปาง 18 เม.ย.2562
  • 44.1 องศาเซลเซียส อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 25 เม.ย.2501 จ.น่าน 12 เม.ย.2502 จ.สุโขทัย 13 พ.ค. 2559 จ.อุดรธานี 7 พ.ค.2566
  • 44 องศาเซลเซียส จ.ตาก 25 เม.ย.2550 จ.แม่ฮ่องสอน 15 พ.ค.2553 จ.กำแพงเพชร 26 เม.ย.2559 จ.สุโขทัย 7 พ.ค.2559 จ.ลำพูน 12 พ.ค. 2559
  • 43.9 องศาเซลเซียส จ.อุดรธานี 28 เม.ย.2550 จ.ตาก 27 เม.ย. 11 พ.ค.2559  18 เม.ย.2562 จ.สุโขทัย 10 พ.ค.2559
  • 43.8 องศาเซลเซียส อ.เถิน จ.ลำปาง 11 เม.ย.2559 จ.ตาก 11 พ.ค.2559  จ.ลำพูน 11 พ.ค.2559
  • 43.7 องศาเซลเซียส จ.ตาก 25 เม.ย.2541 17 เม.ย. 2559 จ.สุโขทัย  17 เม.ย.2559 ข.นครสวรรค์ 7 พ.ค.2559 อ.เถิน จ.ลำปาง 17,19 20 เม.ย.2562 จ.หนองคาย 7 พ.ค.2566
  • 43.6 องศาเซลเซียส จ.อุตรดิตถ์ 29 เม.ย.2503 11 พ.ค.2559 จ.แพร่ 14 เม.ย.2526 จ.แม่ฮ่องสนอ 9 พ.ค.2541 16 พ.ค.2553 จ.ตาก 24 เม.ย.2550 จ.ลำพูน 12 เม.ย.2559 จ.หนองบัวลู 17 เม.ย.2559 จ.ตาก 10 พ.ค.2559 จ.กำแพงเพชร 12 พ.ค. 2559 

ดัชนีความร้อนสูงมากกว่า  52 องศา

น.ส.กรวี กล่าวอีกว่า  อุณหภูมิสูงสุด 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส แต่ความรู้สึกของมนุษย์หรือค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index เป็นค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร (Feel like) จะสูงกว่าอุณหภูมิอากาศ ร้อนปีนี้ ค่าดัชนีความร้อนหรือ Heat Index สูงมากกว่า 52 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายมากในบางวัน

“อุณภูมิอากาศ ไม่ใช่ดัชนีความร้อน เป็นค่าคนละตัวกัน โดยสถิติของอุณหภูมิที่เคยบันทึกเข้ามาช่วงร้อนของไทย ไม่เคยมีบันทึก 50 องศาเซลเซียส และปีนี้หรืออีกหลายปีคงไม่ถึง 50 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิความรู้สึกหรืออัชนีความร้อนปีนี้คาดว่าจะสูงมากกว่า 50 องศษเซลเซียส”น.ส.กรวีกล่าว   

ดัชนีความร้อนเตือนภัย 4 ระดับ 

ขณะที่ พญ.หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ความร้อนในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความร้อนของประเทศไทยที่ผ่านมามีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อน

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน

กรมอนามัยจึงร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการพัฒนาค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ของประเทศไทย เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยจากความร้อนแก่ประชาชน และนำมาใช้ระบุความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

  • ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ดัชนีความร้อน 27.0 - 32.9 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็น เวลานาน อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการเบื้องต้น เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นจากความร้อน บวมจากความ ร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นำไปสู่การเกิดตะคริว
  • ระดับเตือนภัย (สีเหลือง) ดัชนีความร้อน  33.0 - 41.9°C ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นเวลานาน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพลียแดด และเป็น ตะคริวจากความร้อนได้ และอาจส่งผลให้เกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก
  •  ระดับอันตราย (สีส้ม) ดัชนีความร้อน  42-51.9 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นตะคริวจากความร้อน และเกิดโรค เพลียแดดจากความร้อน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด โรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตร ได้ หากสัมผัสความร้อนอย่าง ต่อเนื่อง
  • ระดับอันตรายมาก (สีแดง) ดัชนีความร้อน มากกว่า 52 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็น เวลานานอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงสูงมากที่เกิดโรคลม ร้อน หรือ ฮีทสโตรก

เสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อนเพิ่มสูง

ข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน (กลุ่มโรค Heat Stroke) ในช่วงปี 2562 – 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ

อาการเสี่ยง - พฤติกรรมเสี่ยงจาก

ในปี 2566 กรมอนามัยยังได้ติดตามเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยพบว่า อาการเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ/สับสน/มึนงง มีผื่นแดงตามผิวหนัง พฤติกรรมเสี่ยงจากความร้อน เช่น ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด อยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ไม่ดีหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มสุรา น้ำหวาน และน้ำอัดลม


ฤดูร้อนปีนี้ \"ดัชนีความร้อน\" สูงมากกว่า 52 องศา เตือนอันตราย 4 ระดับ

คำแนะนำลดเสี่ยงจากความร้อน

ขอแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ

หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัดหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ควรสังเกตอาการเสี่ยงจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่

  • อุณหภูมิแกนกลางร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส
  •  ผิวหนังแดงร้อน
  •  ชีพจรเต้นเร็วและแรง
  • ปวดศีรษะ
  •  สับสน มึนงง
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  •  ความรู้สึกตัวของร่างกายเปลี่ยนไป หมดสติ
  •  และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

หากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกให้รีบปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669 ทั้งนี้ ควรประเมินอาการเสี่ยงด้วยตนเองโดยใช้แบบสำรวจอนามัยโพล รวมถึงติดตามการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนจากกรมอนามัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือ กรมควบคุมโรค 1422