เปิดโมเดลอภ.ดีลบริษัทยาแทนรพ. เพิ่มอำนาจต่อรองราคา ลดภาระรพ.

เปิดโมเดลอภ.ดีลบริษัทยาแทนรพ. เพิ่มอำนาจต่อรองราคา ลดภาระรพ.

อภ.ผุดไอเดีย ‘บริหารจัดการคลังยาให้รพ.’ ช่วยดีลบริษัทยาภาพรวม  เพิ่มอำนาจต่อรองราคาถูกลง รพ.ไม่ต้องประสานเองนับ 40-50 บริษัท  นำร่องแอคชั่นรีเสิร์ชแล้วที่รพ.ชุมพร  เล็งขยายผลสู่รพ.ชุมชนหากสนใจ 

พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม(อภ.) หรือ GPO กล่าวว่า พื้นที่ห่างไกลมีปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการยาหลายส่วน เช่น การนำส่งยาเข้ามาให้ทันท่วงที เพียงพอและในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงอยากจะเชิญชวนรพ.ชุมชน หากเป็นไปได้ อภ.อาจจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการคลังยาให้กับรพ.ชุมชน

เนื่องจากปัจจุบันรพ.ต้องซื้อยาเอง มูลค่าราวปีละ 5-10 ล้านบาท ทั้งจากอภ.และบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ 40-50 บริษัท เฉลี่ยจะมีการใช้ยาอยู่ที่ 300-400 รายการ ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับรพ.จังหวัดที่มีประมาณ 1,000 รายการต่อแห่ง

ในยา 300 รายการ เป็นของอภ.ประมาณ 80-100 รายการ ที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชน หากอภ.จะสามารถเข้ามาช่วยดีลกับอีก 40-50 บริษัทให้เอง ทำให้รพ.ไม่ต้องประสานจัดซื้อจัดจ้างกับหลายบริษัท

เปิดโมเดลอภ.ดีลบริษัทยาแทนรพ. เพิ่มอำนาจต่อรองราคา ลดภาระรพ.

เมื่อมีการจัดซื้อขนาดใหญ่ ราคาก็จะลดลง เพราะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น รวมถึง ช่วยบริหารระบบสต็อคยา เช่น รพ.แห่งหนึ่งต้องใช้ยา เอ ราว 1,000 ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ 1,500 เผื่อไว้ หลังจากนั้นหากลดไป 200 ก็แจ้งอภ.ให้ส่งเติมให้ 200 โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ไปเรื่อยๆ

อภ.เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วตลาดยาเมืองไทย 100% เป็นฟรีมาร์เก็ตหมดเลย อภ.มีบทบาทแค่ 7% ในส่วนของมูลค่าของยาที่จำหน่ายในไทย แต่ถ้าคิดเป็นขนาดยาหรือปริมาณยา อภ.เราดูแล 20-30%

"ระบบนี้จะทำให้การบริหารจัดการห้องยา อาจจะง่ายและสะดวกขึ้น ประสิทธิภาพก็จะตามมา ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง”พญ.มิ่งขวัญกล่าว

ที่ผ่านมาได้มีการนำร่องแอคชั่นรีเสิร์ช ลองทำจริง “ชุมพรโมเดล” ซึ่งเป็นรพ.จังหวัดมีการใช้ยาราว 800-1,000 รายการ ดีลกับ 80 บริษัท ถ้าเป็นรพ.ชุมชน อย่างที่รพ.สบเมย ขนาด 30 เตียงมียาราว 300 รายการ จึงไม่ยากที่อภ.จะบริหารจัดการ แต่อาจจะยากในเรื่องของการเดินทางเพื่อขนส่งยา ที่จะเดินทางถึงรพ.สบเมยใช้เวลา 4 ชั่วโมงจากจ.เชียงใหม่

“หลังได้เริ่มต้นทำแอคชั่นรีเสิร์ช พบบางเรื่องที่ไม่คาดคิด อย่างเช่น บริษัทยาบางแห่งไม่ยอมขายให้อภ. สมมติเป็นบริษัทที่ผูกขาดยา เอ ขอจำหน่ายเอง ไม่ขอเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้มีการลดราคาลงมา ส่วนผลว่าจะลดราคาลงได้เท่าไหร่ ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร จะประเมินผลได้ในราวมี.ค. 2568”พญ.มิ่งขวัญกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกฎหมายที่อภ.จะดำเนินการในเรื่องนี้ได้  พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ได้มีการร่วมกันพิจารณา ระเบียบไม่ได้ห้าม สามารถทำได้ รูปแบบของสัญญาจะซื้อจะขาย  เพราะเขียนไว้ในภารกิจของ อภ.ตาม พ.ร.บ.ว่า มีหน้าที่ผลิต จัดซื้อจัดหา อย่างเมื่อก่อนนี้บังคับ รพ.รัฐต้องซื้อยาที่ อภ.ผลิตและยาที่อภ.มีจำหน่าย

แต่หลังจากปี 2560-2562 ไม่บังคับให้รพ.ต้องซื้อยาที่อภ.มีจำหน่าย อย่างเช่น อภ.ผลิตยาพาราเซตามอล และซื้อยาไขมันมา สมัยก่อนบังคับต้องซื้อจาก อภ.ก่อน แต่มีคำถามจากบริษัทยาว่า อภ.ได้สัดส่วนมากเกินไป เมื่อเราตัดคำว่าจำหน่ายออกไป ต่อให้ อภ.มีจำหน่ายก็ไม่บังคับว่าต้องซื้อ ตอนนี้อภ.มียาที่ผลิตและบังคับซื้อราว 100 รายการ