สธ. ติดตามผล จ.ร้อยเอ็ด หลังคิกออฟ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

สธ. ติดตามผล จ.ร้อยเอ็ด หลังคิกออฟ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

สธ. ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ติดตามผล โครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังคิกออฟไปเมื่อ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา โดย จ.ร้อยเอ็ด เป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง พบว่า ประชาชนยืนยันตัวตนผ่าน Health ID ในแอปฯ หมอพร้อมกว่า 75.53% จำนวนการรับบริการ 70,767 ครั้ง

 

วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่  โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวในงานแถลงข่าว ติดตามผลงาน 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า หลังจากลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบาย 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังจากคิกออฟ 7 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา มี 4 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี แพร่ นราธิวาส สำหรับ จ.ร้อยเอ็ด ก่อนขยายผลอีก 8 จังหวัดในเดือนมีนาคม และอีก 20 จังหวัดในเดือนเมษายน ครอบคลุมทั้งประเทศในปี 2567 นี้

 

“จากการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด พบว่า นโยบาย 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นนโยบายที่สามารถดำเนินการให้เกิดผลรูปธรรมชัดเจน ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้น ในการเข้ารับบริการในสถานบริการทุกที่ใน จ.ร้อยเอ็ด โดยไม่ต้องเดินทางมารับบริการในโรงพยาบาลใหญ่ในเมือง ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถรับยาได้ที่บ้านผ่านทางไปรษณีย์ และ อสม. ไรเดอร์”

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด นอกจากความสะดวกสบายแล้ว จากการสอบถามพี่น้องประชาชน จ.ร้อยเอ็ด พบว่า 100% มีความสบายใจ ที่รัฐบาลสามารถปลดล็อกปัญหาเรื่องใบส่งตัวในการเข้ารับบริการ มีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน Health ID ที่เพียงแค่เสียบบัตรประชาชนที่ตู้คีออสของ รพ. ทุกแห่งใน จ.ร้อยเอ็ด แพทย์พยาบาลสามารถเห็นประวัติการรักษา และสามารถทำการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ประชาชนยืนยันตัวตน Health ID กว่า 75.53%

หลังจาก การคิกออฟโครงการ 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในส่วนของ จ.ร้อยเอ็ด พบว่า สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) ครบทุกแห่งในเครือข่ายสุขภาพ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ สมุดสุขภาพ MOPH DATA HUB ซึ่งประชานได้ครบ 100% และมีประชาชนยืนยันตัวตนผ่าน Health ID ผ่านแอปพลิเคชั่น หมอพร้อมแล้ว 604,268 คน ประชากรเป้าหมาย 800,000 คน คิดเป็น 75.53%

 

ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ จ.ร้อยเอ็ด สำนักงานสาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการให้บุคลากร ผู้ให้บริการยืนยันตัวตนเป็นผู้ให้บริการของจังหวัดแล้ว 3,379 คน รวมทั้งมีหน่วยบริการ คลินิกเวชกรรม ร้านยาที่มีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว 35 แห่ง ประกอบด้วย แพทย์ 190 คน ทันตแพทย์ 86 คน เภสัชกร 176 คน เทคนิคการแพทย์ 120 คน มีการออกใบรับรองแพทย์แบบออนไลน์แล้วทั้งสิ้น 257 ใบ

 

ในส่วนของการรับบริการภายหลังจากการคิกออฟโครงการ 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จ.ร้อยเอ็ด มีประชาชนตรวจรักษาภายใต้นโยบายนี้แล้ว 55,244 ราย จำนวนการรับบริการ 70,767 ครั้ง มีการส่งยาแบบ Health Rider ส่วนใหญ่เป็น อสม. 709 ครั้ง โดย จ.ร้อยเอ็ด กำลังเร่งเดินหน้าให้มีการจัดยาแบบ Health Rider ให้ครบ 100%

 

 

จากการดำเนินการในปัจจุบัน 15 โรงพยาบาล จาก 20 โรงพยาบาล คิดเป็น 75% ปัญหาอุปสรรคที่พบส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ โดย จ.ร้อยเอ็ด จะเร่งดำเนินการให้ประชาชนทุกคนมีสมาร์ตโฟน และดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น หมอพร้อม เพื่อเชื่อมต่อการรับบริการกับสถานบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น พร้อมกับจัดระบบป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ จ.ร้อยเอ็ด ยังมีการจัดตัั้งศูนย์บริการประชาชน นโยบาย 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว 24 คู่สาย เพื่อรับเรื่องร้องเรียน และให้คำแนะนำแก่ผู้รับบริการและประชาชนทั่วไป รวมทั้ง ตั้งจุดรับเรื่องร้องเรียน กรณีเกิดปัญหาเข้าถึงบริการ มีคอลเซ็นเตอร์บริการ 24 ชั่วโมง

 

“รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข จะพัฒนาบริการให้พี่น้องประชาชน สามารถใช้บริการ โครงการ 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทั้งประเทศภายในปี 2567 รัฐบาลเดินเครื่องเต็มที่เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศ เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ใครอยู่ที่ไหนสามารถเข้าใช้บริการได้ โดยมี 4 จังหวัดนำร่องเพื่อให้มั่นใจว่าระบบทุกระบบเชื่อมประสานกันให้ดีที่สุด”

 

คลินิกเอกชนเข้าร่วม 253 แห่ง 

ด้าน ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด กล่าวเสริมว่า สำนักงานสาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด เป็นหน่วยงานผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ในการดูแลประชาชน ควบคุมมาตรฐาน และนำหน่วยบริการเข้าสู่ โครงการ 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ 20 โรงพยาบาล โรงพยาบาลอำเภออีก 19 แห่ง รพ.ค่าย สังกัดกลาโหม รพ.สต. 229 แห่ง สามารถเข้าร่วมโครงการ ฯ ได้  อีกทั้ง ขณะนี้ ศูนย์บริการสุขภาพชุมชน ของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด 2 แห่ง เข้าร่วมโครงการแล้ว รวมถึง รพ.เอกชน ที่เข้าร่วมโครงการในการเชื่อมข้อมูล 1 แห่ง คือ รพ.จุรีเวช ถือว่ามีการครอบคลุมการเข้าถึงบริการ

 

ขณะที่ คลินิกเอกชน ซึ่งมีทั้งหมด 607 แห่ง มีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 253 แห่ง ครอบคลุม 20 อำเภอ นอกจากนี้ มีการแผนเชิญชวน ให้คำแนะนำคลินิก หรือหน่วยบริการเอกชน ไม่ว่าจะคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านขายยา คลินิกการพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย รวมถึง แล็บ ซึ่งมีทั้งหมด 6 แห่ง ในจังหวัดเข้าร่วมบริการ เพื่อเป็นการเข้าถึงบริการของประชาชน เป็นบทบาทที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด ดำเนินการ

 

ผู้รับบริการ รพ. เพิ่มขึ้น 5% 

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกลุ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่า นโยบายนี้มีความสำคัญตรงที่ประชนไปที่ไหน ใช้สิทธิได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยาหรือคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ซึ่งดำเนินการราว 1 เดือน พบว่ามีประชาชนเข้ามารับบริการเพิ่มขึ้น 5% หรือ เพิ่มขึ้นวันละ 200 คน ซึ่งถือว่าไม่น่ากังวล

 

"เพราะประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็จะไปที่สถานีอนามัย หรือ รพ.สต. ก่อน และเมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น หรือคิดว่าจำเป็นต้องพบแพทย์สามารถไปเข้าใช้บริการ รพ.ชุมชน ทุกอำเภอ ที่มีอยู่ สำหรับใครที่เจ็บป่วยมากขึ้น ก็มาที่ รพ.จังหวัด เป็นไปตามระบบเดิม ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาในระบบสุขภาพ" นพ.ชาญชัย กล่าว 

 

ทั้งนี้  นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นการยกระดับนโยบาย '30 บาทรักษาทุกโรค’ ไปสู่ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ หรือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ภายใต้การสนับสนุนและบริหารจัดการกองทุนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำร่องก่อน 4 จังหวัด และขยายเพิ่มอีก 8 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ พังงา และจะครบทั้งประเทศภายในปี 2567 นี้