'30บาทรักษาทุกโรค' ปี 67  บัตรประชาชนใบเดียว -สถานชีวาภิบาล-เทคโนโลยีใหม่

'30บาทรักษาทุกโรค' ปี 67  บัตรประชาชนใบเดียว -สถานชีวาภิบาล-เทคโนโลยีใหม่

ยกระดับ 30 บาท หรือ 30 บาทพลัส เป็นนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็น รมว.สาธารณสุข ควบประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ปีงบประมาณ 2567 ใช้งบฯกว่า 1.65 แสนล้านบาท

    ภาพรวมงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี  2567 เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาท  จำนวน 47,671,000 คน วงเงิน 165,525,153,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,922,585,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 2.43 คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,472.24 บาทต่อคนต่อปี 
         และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้รับจัดสรรมา 6,273.28 ล้านบาท รองรับนโยบายความสำเร็จเร่งด่วน  แบ่งเป็น 1.งบเหมาจ่ายรายหัวรวมเงินเดือนของกองทุนบัตรทอง 30 บาท จำนวน 1,884.57 ล้านบาท2.งบประมาณค่าบริการทางการแพทย์ของกองทุนบัตรทอง 30 บาท (นอกงบเหมาจ่ายรายหัว) รวม 4,388.70 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 1,426.35 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ 1,616.07 ล้านบาท และการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้รับบริการ 39.47 ล้านบาท
       การยกระดับที่ดำเนินการแล้ว เรื่อง “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” นำร่อง 4 จังหวัด คือ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส โดยบอร์ด สปสช. เห็นชอบกรอบวงเงินดำเนินการ 366.57 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน รองรับการดำเนินงาน รวมถึง  ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพื่อกำกับติดตามการขับเคลื่อนนโยบายนี้

      การขยายในระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัด คือ  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา  ราวเดือนมี.ค.2567  ได้มีการของบกลางรองรับไว้ 800 ล้านบาท และระยะที่ 3 ใน 4 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข คือ เขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12 คาดเริ่มเดือนเม.ย.2567

ขยายหน่วยบริการสถานชีวาภิบาล

      ภายใต้นโยบาย 30 บาทพลัส ยังมีการขับเคลื่อนเรื่อง  “สถานชีวาภิบาล” ซึ่งเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้าย
       ล่าสุด  บอร์ดสปสช.เห็นชอบให้ “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล” หรือ หน่วยชีวาภิบาล ที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้ เช่น หน่วยบริการของรัฐที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย องค์กรศาสนา เช่น วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด

      หรือองค์กรเอกชนที่ดำเนินการในด้านนี้ เช่น ชุมชนกรุณา (peaceful death) ชีวามิตร เยือนเย็น เครือข่ายมิตรภาพบําบัด ชมรมผู้ป่วย หรือเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ รวมทั้ง สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (nursing home) เป็นต้น หน่วยบริการเหล่านี้สามารถจัดบริการได้ทั้งการมีสถานที่ให้ผู้ป่วยพักค้าง เช่น หอผู้ป่วยในหน่วยบริการหรือในศาสนสถาน และการออกไปให้บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชน

 แพทย์ทางไกลคนไทยในต่างแดน
        นอกจากนี้ ยังเพิ่มการดูแลสุขภาพคนไทยสิทธิบัตรทองในต่างประเทศ ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล เริ่ม 15 ม.ค.67 เป็นต้นไป เน้นให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย  การใช้สิทธิรับบริการจะใช้เพียงหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อยืนยันตัวตนการใช้สิทธิ จะได้พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่อยู่ในประเทศไทย
        จจุบันมี 4 แอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. ประกอบด้วย 1.แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) 2.แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) 3.แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) และ 4.โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed)

สปสช.มุ่ง 2 ประเด็นเข้ารับบริการ
     ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การเข้าสู่ปีที่ 22 ของระบบหลักประกันสุขภาพ  สิ่งที่ สปสช. จะดำเนินการต่อ คือ เรื่องการยกระดับเพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.สะดวกจากสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ

      โดย สปสช. ได้สรรหาสิทธิประโยชน์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น เช่น การเก็บสิ่งส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง หรือตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยตัวเอง เป็นต้น สิทธิประโยชน์เหล่านี้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกโดยไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล

\'30บาทรักษาทุกโรค\' ปี 67  บัตรประชาชนใบเดียว -สถานชีวาภิบาล-เทคโนโลยีใหม่

          และ2.สะดวกในการเข้ารับบริการ ที่ผ่านมาเวลาเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เพิ่มบริการได้มากขึ้น เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยไปร้านยา หรือคลินิกพยาบาล หรือ รับบริการผ่านระบบเทเลเมดิซีน และถ้าจำเป็นต้องเจาะเลือดก็มีบริการไปเจาะเลือดให้ที่บ้าน มีบริการทำกายภาพบำบัดให้ที่บ้าน เป็นต้น ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น

ชงของบฯปี 68 เพิ่ม 4.9 %

       ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568  บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ปีงบประมาณ 2568  จำนวน 162,660.99 ล้านบาท อัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว 3,720.99 บาท/ประชากร เพิ่มขึ้น 248.75 บาทต่อประชากร หรือ 7.2%

      และเห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับยา/วัคซีน/เวชภัณฑ์/อวัยวะเทียม/อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2568 จำนวน 1,1612.95 ล้านบาท โดยจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีพิจารณา(ครม.) ต่อไป

        สิทธิประโยชน์ใหม่ที่จะเสนอในปี 2568 มีทั้งหมด 8 รายการ ประกอบด้วย

1.สายด่วนมิตรภาพบําบัด

2.สายด่วนวัยรุ่น

3.ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านจิตเวช

4.บริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ

5.คัดกรองวัณโรคระยะแฝง

6.บริการคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีอายุ 30-70 ปีทุกรายหรือกลุ่มเสี่ยงสูงด้วยวิธี Mammogram/Ultrasound

7.การคัดกรองซิฟิลิสในเยาวชน-วัยรุ่น/ผู้ต้องขังและประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง 

และ 8.บริการด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงสุด ใช้งบประมาณทั้งหมดจำนวน 500.88 ล้านบาท