'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่' เตรียมเข้าสู่เฟส 2 ใน 8 จังหวัด

'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่' เตรียมเข้าสู่เฟส 2 ใน 8 จังหวัด

'หมอชลน่าน'ฟุ้ง 3 วันคิกออฟ บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ 4 จังหวัดไร้ปัญหา ลดความแออัดรพ.-ภาระบุคลากร เตรียมสู่เฟส 2 ใน 8 จังหวัด จ่อหารือกรมบัญชีกลาง-ประกันสังคมเข้าร่วมโครงการ ย้ำรพ.เอกชนไม่ต้องกังวลระบบเบิกจ่ายเงิน-ความลับข้อมูลคนไข้

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประจำเดือน  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เรื่อง บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ หลังมีการคิกออฟเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาใน 4 จังหวัดนำร่องแพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาสว่า สธ.มีคณะทำงานติดตาม (วอร์รูม) ทุกจังหวัดเป็นการเฉพาะ เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคและผลการดำเนินงาน ขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่บ่งชี้ว่า เป็นอุปสรรคใดๆ แต่เฝ้าระวังตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิกออฟมา 3 วันมีการรายงานอุปสรรคอะไรหรือไม่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่มี โดยเฉพาะการใช้บริการจากภาคประชาชน แต่ที่ให้ความสำคัญต้องไปทำต่อคือ วิธีการเบิกจ่ายระบบการเงิน ที่วางไว้สอดคล้องเหมาะสม ต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ เช่น  คลินิกที่ให้เหมาจ่าย 320 บาท หรือ 240 บาทต่อคนต่อครั้งก็ต้องไปดูว่าเหมาะสมหรือไม่ 

รวมถึงเรื่องสิทธิอื่นที่จะเข้ามารักษาด้วยระบบนี้ ก็ให้แนวทางสธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมบัญชีกลาง ซึ่งสนใจมากติดต่อประสานว่าจะเชื่อมระบบอย่างไร รวมถึง ประกันสังคม จะพูดคุยรายละเอียดว่าจะนำสิทธิเหล่านั้นมาใช้ระบบบริการเครือข่ายทุกเครือข่ายเหมือนบัตรทองอย่างไร
\'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่\' เตรียมเข้าสู่เฟส 2 ใน 8 จังหวัด

ผลการดำเนินการในมุมของการลดความแออัด ภาพจากการที่ประชาชนไปรับบริการรวมกันที่รพ.ใหญ่ๆหายไป เพราะประชาชนไปใช้บริการสถานที่ใกล้บ้านได้ สิ่งที่มีคำตอบคือ ไม่ว่าอยู่จุดไหนภาพที่คนเห็นรับบริการเบื้องต้นจะเหมือนกันทุกที่ จึงมั่นใจว่าไม่ต้องเดินทางไป รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป สะดวกตรงไหนไปใช้บริการตรงนั้น เมื่อจำเป็นต้องส่งต่อ แพทย์จะเชื่อมข้อมูลส่งต่อไป ส่วน รพ.ศูนย์/ทั่วไปใน 4 จังหวัดนำร่องนั้นลดความแออัดมากน้อยแค่ไหน อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการตรวจสอบความซ้ำซ้อนการรับบริการใน รพ. และ 8 นวัตกรรมหน่วยบริการ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านขายยา อย่างไร  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้าอยู่ในระบบสามารถตรวจสอบได้เพราะเป็น personal Health Record ในการเข้าไปรับบริการแต่ละครั้ง จะถูกบันทึกประวัติการรักษาทั้งหมด และไม่ว่าจะไปหน่วยบริการใดก็ตามใน 8 หน่วยนวัตกรรม เมื่อเสียบบัตรประชาชนได้รับการอนุญาต ประวัติจะขึ้นเหมือนกันหมด จะรู้หมดว่าคนไข้ไปรักษาที่ไหน โรคอะไร ยิ่งโรคเดียวกันจะรู้ทันที

ถามว่า บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ช่วยลดได้มาก อย่างเชิงโครงสร้าง เดินเข้าไป รพ.จะไม่เห็นห้องบัตรแล้ว เมื่อก่อนจะต้องมีห้องทำบัตร ห้องเวชระเบียน มีบัตรผู้ป่วยนอกกองเต็มไปหมด อย่า ง รพ.ร้อยเอ็ด ยกออกไปหมดเลย ห้องนั้นกลายเป็น One Stop Service ให้แก่หน่วยบริการอื่นที่เข้ามาดูแล เรียกว่า ศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center : GECC) ได้รับรางวัลระดับทอง มีประกันสังคม มีเทศบาล มาจดแจ้งเกิดแจ้งตาย มีเรื่องสิทธิประโยชน์ประสบภัยจากรถ  เมื่อคนไข้มา รพ.สามารถรับบริการเหล่านั้นครบวงจร   

“ภาระงานเดิมมีคนในห้องบัตร รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ที่มีเป็นสิบๆ คน เหลือเพียงคนเดียว กลายเป็นเครื่องคีออสแทน ระบบงานที่เชื่อมทุกจุดที่เดิมใช้คนเยอะก็ลดลงไป จะเหลือคนที่จำเป็น เช่น พยาบาลซักประวัติ หมอที่ต้องตรวจ คนเดินส่งต่างๆ หายหมด ลดงานได้มาก”นพ.ชลน่านกล่าว   


\'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่\' เตรียมเข้าสู่เฟส 2 ใน 8 จังหวัด

ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินงานในเฟส 2 จำนวน 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ก็เริ่มเตรียมความพร้อมและจะนัดหมายประชุมเวิร์กชอปร่วมกันใน 8 จังหวัดวันที่ 25-26 มกราคม 2567 เพื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการเตรียมพร้อมและจัดบริการ ถ้าจังหวัดใดดำเนินการถึงขั้นจัดบริการได้สามารถเริ่มได้ทันที และจะประกาศวันคิกออฟเฟส 2 ในเดือน มีนาคม 2567

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อขยาย 8 จังหวัด จะมี รพ.เอกชนข้าร่วมมากขึ้นหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เปิดให้ รพ.เอกชนสมัครมาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในโครงการ  แต่ไปบังคับไม่ได้ แต่เชิญชวนให้สมัครใจมาร่วมโครงข่าย ถ้าหากเห็นระบบเชื่อว่าจะเข้ามา แต่อาจกังวลเรื่องการเบิกจ่ายก็จะไปปรับตรงนี้ให้ ถ้าระบบเสถียรแล้วมั่นใจ เชื่อว่ารพ.เอกชนได้ประโยชน์  รวมถึงคำนึงถึงเรื่องความลับข้อมูลบางอย่างของคนไข้ ก็สามารถวางระบบที่เปิดปิดได้ เอาเฉพาะข้อมูลที่สำคัญจำเป็นกับการบริการ