'วัคซีนไอกรนไร้เซลล์' หญิงตั้งครรภ์รับ ฟรี

'วัคซีนไอกรนไร้เซลล์' หญิงตั้งครรภ์รับ ฟรี

หญิงตั้งครรภ์รับอนุมัติ 'วัคซีนไอกรนไร้เซลล์' ฟรี  กรมควบคุมโรค เผย สปสช.นำเข้าสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท หลังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระบาดอัตราเพิ่มสูง

  เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความเป็นห่วงในสถานการณ์ไอกรนในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างมาก ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไอกรน โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการระบาดในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น

         โรคไอกรนไม่ได้มีการระบาดทั่วประเทศ แต่ก็เป็นโรคที่ไม่ควรจะมีการระบาด เพราะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งการระบาดที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากการครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่ต่ำ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างมาก และมีความเป็นห่วงในสถานการณ์ระบาดเนื่องจากมีการติดเชื้อสูงและการเสียชีวิตในเด็กเล็ก

 “สถานการณ์ระบาดของไอกรนตอนนี้ ยังทรงตัวอยู่ แต่ก็มีความกังวลว่าจะมีการระบาดในพื้นที่ใหม่ จึงต้องเร่งควบคุมโรคในพื้นที่ระบาดให้ได้เร็วและมีวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น”นพ.ธงชัยกล่าว 

         แนวทางการดูแลและควบคุมการระบาดของโรคไอกรน โดยกรมควบคุมโรคจะเน้นย้ำไปในเรื่องของการฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งไม่นานมานี้กรม ได้ทำเรื่องถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้มีการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (aP) สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อส่งภูมิต้านทานไปสู่ทารกแรกเกิดหรือผู้ที่ต้องการกระตุ้นภูมิต่อไอกรนอย่างเดียว

       เนื่องจากที่ผ่านมาการฉีดวัคซีน aP เพื่อควบคุมโรคไอกรน กรมเป็นผู้จัดหาวัคซีนเอง ซึ่งสปสช. เพิ่งมีหนังสือตอบรับกลับมาว่า ได้เพิ่มวัคซีนไอกรนในหญิงตั้งครรภ์เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การควบคุมโรคดำเนินได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

        “เดิมวัคซีนชนิดไร้เซลล์ไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาจะเป็นการฉีดวัคซีนรวมใน 3 โรค ทั้งคอตีบ บาดทะยักและไอกรน แต่วัคซีนนี้เป็นการฉีดเฉพาะไอกรนเพียงอย่างเดียว” นพ.ธงชัยกล่าว

       นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ประสานกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งได้มีการถ่ายโอนไปยัง อบจ. แล้ว อย่างเช่น จ.ปัตตานีมีการถ่ายโอนไปแล้วทุกแห่ง ซึ่งสธ.มีแผนการวิเคราะห์ข้อมูลหลังการถ่ายโอนในประเด็นของความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรค เมื่อมีประเด็นไอกรน ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเก็บข้อมูลเพื่อชี้วัดว่าหลังการถ่ายโอนแล้วเกิดผลดีผลเสียอย่างไร