'กฎหมายอากาศสะอาด' เก็บภาษีมลพิษ - จี้รัฐเร่งคุย 53 บริษัท สกัด PM2.5ข้ามแดน

'กฎหมายอากาศสะอาด' เก็บภาษีมลพิษ - จี้รัฐเร่งคุย 53 บริษัท สกัด PM2.5ข้ามแดน

ฝุ่นPM2.5 ฤดูปี67กำลังมา คาดการณ์รุนแรงมากขึ้น  จี้รัฐเร่งคุย 53 บริษัท ไม่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งปลูกที่เผาก่อมลพิษPM2.5 ขณะที่กฎหมายอากาศสะอาด เก็บภาษีจากผู้ก่อมลพิษ

Keypoints :

  • ต่อเนื่องมาอย่างน้อย 10 ปีที่คนไทยเผชิญกับฝุ่นพิษPM2.5 และมีการคาดการณ์ว่าในปี  2567 สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น  ขณะที่ตัวเลขปี 2566 คนป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศรวมกว่า 9.2 ล้าน      
  • กฎหมายอากาศสะอาด” มุ่งจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดจะมีการเก็บภาษีจากผู้ก่อมลพิษ ก่อมากจ่ายมาก
  • 11 ข้อเสนอเชิงมาตรการ เชิงนโยบาย จากประชุมระดับชาติเรื่องฝุ่น PM2.5ครั้งที่ 1 ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)วางมาตรการปี  2567 ลดพื้นที่เผาซ้ำซากลง 50 % ,จูงใจเอกชนมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 200

       คาดการณ์ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก สถานการณ์เอลนีโญที่มีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2566 ถึงฤดูร้อนปี 2567 ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ อากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ 10%

    จะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในปี 2567 มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศและหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน จะเริ่มพบสถานการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2566 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่

\'กฎหมายอากาศสะอาด\' เก็บภาษีมลพิษ - จี้รัฐเร่งคุย 53 บริษัท สกัด PM2.5ข้ามแดน

         จากนั้นช่วงมกราคม-ปลายเมษายน 2567 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะมีแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผา ไฟไหม้ป่า และหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเมื่อต้นปี 2566 พบค่า PM 2.5 สูงสุดถึง 537 มคก./ลบ.ม. ที่ จ.เชียงราย สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 14 เท่า

         ขณะที่ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศรวมกว่า 9.2 ล้านคน

จี้รัฐคุยด่วน 53 บริษัท ร่วมสกัดPM2.5ข้ามแดน

    ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 หัวข้อ “อากาศสะอาด:ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชนและประชาสังคม” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่

        นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนที่ 4 วุฒิสภา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อากาศสะอาดความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ว่า การเผาในที่โล่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 ยังไม่รวมจากแหล่งกำเนิดอื่นๆที่มีเรื่องของสารพิษลอยขึ้นไปในอากาศด้วย  ซึ่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ชัดเจน

      ข้อมูลจากดาวเทียมจะทำให้เห็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา กรณีของการเผา 65 % เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าทั้งป่าอนุรักษ์หรือป่าอื่นๆ  ภาคเกษตร 32 % และอื่นๆ 3 % เมื่อแยกสัดส่วนการเกิดพื้นที่เผาไหม้รายภาค พบว่า

  • ภาคเหนือเผามากที่สุด 68% เป็นภาคเหนือตอนบน 44% ส่วนใหญ่เป็นเผาป่า
  • ภาคเหนือตอนล่าง  24% ส่วนใหญ่เป็นเผานาข้าว เผาตอซัง เพื่อเร่งเพาะปลูกฤดูนาปรัง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 % เป็นการเผาข้าว และอ้อย
  • ภาคกลาง 3 % เป็นเผานาข้าว
  • ภาคตะวันตก 6 % และภาคตะวันออก 2 %  เป็นเผาป่าพอสมควร

       ข้อมูลดาวเทียมยังทำให้ทราบถึงข้อมูลการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านมากตรงจุดไหน ซึ่งไม่ได้เป็นการปลูกเพื่อใช้ในประเทศนั้น แต่ปลูกแล้วจะทุนนอกหรือทุนในประเทศนั้น เมื่อปลูกแล้วก็ต้องการนำกลับเข้ามาตามช่องทางชายแดนของประเทศไทย

      จากการตามรอยฝุ่น พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพด ในเมียนมาร์ 3.7 ล้านไร่ ไทย 6.95 ล้านไร่  ลาว 1.25 ล้านไร่ และกัมพูชา 1.12 ล้านไร่  ซึ่งลมบนที่สูงเกิน 10 กิโลเมตรขึ้นไป ทำให้ฝุ่นที่คิดว่าหมดแล้วจากภาคเหนือไปไกลได้ถึงจ.ภูเก็ต  รวมถึง ข้อมูลดาวเทียมสามารถบอกได้ว่าแต่ละเดือนแต่ละเวลาในภูมิภาคนี้มีจุดความร้อนเกิดขึ้นในประเทศต่างๆไม่เหมือนกัน

      “ ข้อมูลดาวเทียมย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543-2563 ในรอบ 20 ปีทำให้รู้ว่าเรื่องของป่าและภาคเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ต้องเร่งจัดการ  อย่างข้อมูลที่แสดงให้เห็นพื้นที่ป่ากิดไฟไหม้ซ้ำซากเกิน 5 ครั้งต่อปีเป็นต้นไป ก็ทำให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการป้องกันในพื้นที่เหล่านี้เป็นพิเศษ”นายวีระศักดิ์กล่าว  

\'กฎหมายอากาศสะอาด\' เก็บภาษีมลพิษ - จี้รัฐเร่งคุย 53 บริษัท สกัด PM2.5ข้ามแดน
      นายวีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า  53 บริษัทที่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาในประเทศไทย ไม่ใช่ทำไม่ถูก แต่ควรจะมีการสื่อสารเพื่อขอความร่วมมือ เหมือนอย่างที่บริษัทหนึ่งซึ่งครองอยู่ประมาณ 40 % ของเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย ที่ทำระบบลูกไร่ที่บังคับจะต้องไม่มีการเผา ถ้ามีการเผาจะเตือน 1 ครั้งและถ้ายังเผาต่อจะไม่รับซื้อ

     ดังนั้น  กรมศุลกากร กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ควรเชิญ53บริษัทเข้ามาคุยเพื่อเริ่มระบบเหล่านี้  เพื่อที่จะได้ไม่รู้สึกว่าการที่ข้าวโพดและอ้อยออกจากประเทศไทยไปปลูกหรือเผาในประเทศอื่น แล้วประเทศไทยจะรอดได้ เพราะในความจริงไม่รอดจากปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน 

กฎหมายอากาศสะอาด เก็บภาษีก่อมลพิษ

         นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 ที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกปี ในส่วนของฝ่ายบริหาร ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง มีสาระสำคัญกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือ บอร์ดฝุ่นชาติ ในการทำงานควบคู่ไปด้วย ระหว่างรอกฎหมายที่จะผ่านขั้นตอนต่างๆน่าจะในไตรมาส 4 ปี2567

        ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ มีการบรรจุร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ฉบับพรรคเพื่อไทย โดยมีการเพิ่มโทษ  ,มาตรการภาษีภายใต้กรอบมาตรการ PPP (Polluters Pay Principle) ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ,มีการระบุเรื่องคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตปรินต์ให้ครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งมองแล้วการขับเคลื่อนทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะมีปัญหาในการนำ 2 พ.ร.บ.นี้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน บรรจุผ่านเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประเทศไทย

         “มาตรการทางภาษีที่ก่อมลพิษ อยู่ภายใต้กรอบแนวคิด PPP ใครสร้างมลพิษมากโดนเก็บมาก เอามาสร้าง เช่น ห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง ซื้ออุปกรณ์ให้ดับเพลิงที่มีอันตรายจากการเข้าไปเสี่ยงดับไฟ การพัฒนาต่อยอดทำประกันให้เหล่าอาสา ค่าปรับจะคิกแบ็กมาเป็นการทำงานระหว่างทางให้การทำงานลุล่วง

     และที่ผ่านมานายกฯ ได้เชิญ รมช.คลัง มาหารือตรงนี้และ รมว.พาณิชย์ เพื่อนำทั้งพาณิชย์และคลังมาเพิ่มเพดานการเก็บภาษีด่านนำเข้า เช่น แม่สาย แม่สอด ที่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูง ที่ผ่านมาไม่มีการเก็บภาษี ก็ต้องมาศึกษาจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ที่ระยะยาวยังไม่เกิด ค่าปรับนี้จะเป็นเครื่องมือ กลไกหนึ่งที่จะมาถึงปลายทาง” นายจักรพลกล่าว

\'กฎหมายอากาศสะอาด\' เก็บภาษีมลพิษ - จี้รัฐเร่งคุย 53 บริษัท สกัด PM2.5ข้ามแดน

ขยายเครือข่ายประชาสังคม

           ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ผ่าน ครม. จะมีอำนาจเขาไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้ อย่างการห้ามรถเข้าพื้นที่ไหน ทะเบียนคู่-คี่ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่สร้างมลภาวะ กรรมการก็มีทั้งระดับชาติ ด้านวิชาการ กรรมการพื้นที่เพราะแต่ละพื้นที่ทมีปัญหาแตกต่างกัน โครงสร้างนี้ทุกพลังถูกจัดวางทางยุทธศาสตร์ ส่วนกรณีปัญหาฝุ่นหมอกควันข้ามแดน ที่มีการพูดกันคือใช้มาตรการห้ามนำเข้า ซึ่งต้องมีรายชื่อบริษัทที่ไปลงทุนหรือนำเข้า มีการเชิญมาหารือหากนำเข้าจากแหล่งปลูกจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีการเตือนหรือไม่ให้นำเข้ามา ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการดูจุดที่เกิดความร้อนหรือมีการเผาได้

     “ปัญหาฝุ่นPM2.5ไม่ใช่มิติการแพทย์อย่างเดียว มีสังคม สิ่งแวดล้อมและอื่นๆด้วย  สสส.เป็นกลไกหนึ่งสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ มาร่วมขับเคลื่อนในฐานะน้ำมันหล่อลื่น เชื่อมภาคส่วนต่างๆ ให้ทำงานยากๆ นี้ได้ ที่ผ่านมามีการจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) หนุนเสริมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ จากเชียงใหม่ ขยายเป็น 9 จังหวัด และจะขยายเพิ่มในอนาคต แก้ไขปัญหาพื้นที่แบบองค์รวม การจัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่นมากกว่า 600 แห่ง ผลักดันมาตรการท้องถิ่นถึงระดับประเทศ”ดร.สุปรีดากล่าว  

11 ข้อเสนอเชิงมาตรการ PM2.5

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมมีการสรุปข้อเสนอเชิงมาตรการ เชิงนโยบาย 11 ข้อ ประกอบด้วย

1.นำหลัก PPP (Polluter Pays Principle) มากำหนดความรับผิดชอบต่อผู้ก่อปัญหาและการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย

2.ส่งเสริมนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา R&D เทคโนโลยี ด้านการเตือนภัย 

3.จัดทำฐานข้อมูลโดยการมีส่วนร่วมให้เป็นปัจจุบัน จำแนกให้เป็นไปตามประเภทของปัญหา และการเปิดเผย และเข้าถึงฐานข้อมูลอย่างทั่วถึง

4.ปรับเปลี่ยนการเกษตรที่ก่อมลพิษสู่การเกษตรที่ยั่งยืน

5.สร้างข้อตกลง กลไกกำกับร่วมในระดับอาเซียน

6.สร้างระบบธรรมาภิบาลกำกับการลงทุนของเอกชนข้ามพรมแดน

7.สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล

8.ติดตาม ตรวจสอบที่มา ความร้ายแรง และผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยฝุ่นของภาคอุตสาหกรรม

9.กำหนดมาตรการที่ชุมชนมีสิทธิในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ (รัฐธรรมนูญมาตรา 43) 

10.เน้นการจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการด้วยหลักสหวิทยาการ

 และ 11.เร่งรัดออกกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) และสิทธิจัดการทรัพยากรของชุมชน

\'กฎหมายอากาศสะอาด\' เก็บภาษีมลพิษ - จี้รัฐเร่งคุย 53 บริษัท สกัด PM2.5ข้ามแดน

สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เอกชนร้อยละ 200 
       นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  กล่าวภายหลังได้รับข้อเสนอว่า จากการเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ในช่วง 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุก 5 ปี การแก้ไขปัญหาต้องวิเคราะห์ปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ที่สำคัญภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ ต้องการภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมมาร่วมมือเป็นภาคีเครือข่ายช่วยเหลือกัน เชื่อว่าจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีกลับมา

       สำหรับปี 2567 ตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่เผาซ้ำซากให้ลดลง 50%ใน 10ป่าอนุรักษ์และ10ป่าสงวน, ให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนให้ได้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจตอบแทนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 200 ให้คาร์บอนเครดิต,ให้เอกชนร่วมยกระดับสินค้าที่ไม่เผา, ยกระดับเจรจาให้เข้มข้นระดับภูมิภาค ทั้งอาเซียน ทวิภาคี และการใช้เงื่อนไขทางการค้า นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 ประเทศไทยปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. แล้ว ทั้งนี้ ทส.จะรับนโยบายข้อเสนอมาตรการที่ได้จากการประชุมนี้ เพื่อทำให้สังคมตระหนักรู้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน