ขยายหน่วยบริการเพิ่มใน 4 จังหวัดนำร่อง 'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่'

ขยายหน่วยบริการเพิ่มใน 4 จังหวัดนำร่อง 'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่'

สปสช.เตรียมขยายหน่วยบริการ ใน 4 จังหวัดนำร่อง บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ เพิ่มความครอบคลุมคลินิกแพทย์ทั่วไป-ทันตกรรม-แพทย์แผนไทย การันตีระบบเบิกจ่ายเงินได้ภายใน 3 วัน  มั่นใจมีระบบป้องกัน shopping around รับบริการหลายแห่งในวันเดียว

          เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อม"บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่" ซึ่งจะเริ่มต้นระยะแรกใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรีและนราธิวาส ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567ว่า  สปสช. ได้มีการเตรียมความพร้อมแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

        1.) หน่วยบริการ แยกเป็นการทำระบบเบิกจ่ายให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งได้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบสิทธิครั้งเดียวจะก่อนหรือหลังเข้ารับบริการก็ได้  และสปสช.กำลังจะออกประกาศ 6-7 วิธีเป็นกติกาที่จะช่วยให้หน่วยบริการสามารถได้รับเงินเร็ว ภายใน 3 วันนับจากหน่วยบริการส่งข้อมูล และทาง สปสช. ทำการตรวจสอบแล้ว

         ในส่วนของหน่วยนวัตกรรมอำนวยความสะดวกในการรับบริการ ที่เป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีดำเนินการอยู่แล้ว เช่น รับยาที่ร้านยา คลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น แล็ป คลินิกกายภาพบำบัด และจะมีการขยายเพิ่ม เช่น  คลินิกแพทย์ตรวจโรคทั่วไปที่เปิดในช่วงเย็นจะนำเข้ามาในระบบบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียว ไปรับบริการได้ คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย เป็นต้น  จะนำเข้ามาในการนำร่องเพื่อดูว่าระบบมีความพร้อม และประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการ จะช่วยลดความแออัดโรงพยาบาลได้หรือไม่ ซึ่งจะนำร่องขยายก่อนใน 4 จังหวัดที่เริ่มใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่

        “แม้อยากจะให้หน่วยนวัตกรรมใน 4 จังหวัดนี้เข้ามาร่วมในระบบบัตรทองทั้งหมด แต่บางแห่งก็ยังไม่อยากจะเข้าร่วม เช่น คลินิกพยาบาลมี 200 แห่งอาจจะเข้ามา 100 แห่ง  ร้านยามี 400 แห่ง แต่ที่เข้ามามีเพียง 200 กว่าแห่ง เหลืออีก 200 กว่าแห่ง ก็ต้องพยายามรณรงค์ เพราะบางแห่งอาจจะคิดว่าเบิกเงินยุ่งยาก หรือไม่ชอบการตรวจสอบ รวมถึงกังวลเรื่องระบบภาษี เป็นสิ่งที่อยากสะท้อนเข้ามาเพื่อร่วมทำความเข้าใจและแก้ไข เพราะเมื่อประชาชนไปใช้บริการที่ไหน  ไม่อยากให้เกิดปัญหาว่าหน่วยนวัตกรรมนั้นไม่ได้อยู่ในระบบ”นพ.จเด็จกล่าว  

           2.) การพัฒนาระบบสายด่วน สปสช. 1330 รองรับประชาชนที่ไปใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่แล้วอาจจะติดขัด ขณะนี้มีอาสาสมัครที่เป็นพยาบาลเกษียณแล้วประมาณ 1,000 คนพร้อมจะดูแลในส่วนนี้ เช่น รับทราบปัญหา ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการใช้บริการและโรคต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบสามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ในส่วนของหน่วยบริการและรองรับประชาชนมีความพร้อม 

         ผู้สื่อข่าวถามถึงความพร้อมในการเชื่อมข้อมูลของหน่วยบริการภายใน 4 จังหวัดนำร่อง นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรื่องการเชื่อมระบบข้อมูลจะเป็นส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ซึ่งหากหน่วยบริการสามารถเชื่อมกันได้หมด สปสช.ก็จะเชื่อมข้อมูลจากระบบกลาง แต่หากยังไม่สามารถเชื่อมได้ สปสช.ก็จะเชื่อมข้อมูลตรงจากหน่วยบริการนั้นๆ  สปสช.จะช่วยบูรณาการข้อมูลแล้วคืนข้อมูลกลับไป  ซึ่งหลักสำคัญในการยกระดับระบบบัตรทอง คือ การเชื่อมระบบข้อมูลหลังบ้าน

     ถ้าทำตรงนี้ไม่สำเร็จระบบอาจจะดำเนินการได้ยาก เพราะจะไม่รู้ว่าใครเดินไปเข้ารับบริการที่ไหน 3 รอบต่อวัน หรือรพ. คลินิกมีการเบิกจ่ายจริงหรือไม่ ซึ่งการบูรณาข้อมูลไม่ได้เป็นการละเมิดข้อมูลประชาชน แต่อยากให้เข้าใจว่าเพื่อให้ระบบเดินไปได้ มิเช่นนั้นจะเกิดข้อครหาตลอดว่าเมื่อดำเนินการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ อาจจะเกิดกรณีมีการเข้าไปรับบริการ ตรงนั้นที ตรงนี้ทีในวันเดียว

         “การเชื่อมข้อมูลหลังบ้าน จะช่วยป้องกันกรณีที่ผู้ป่วยรับบริการหลายๆ ที่ และรับยาเต็มไปหมด หรือที่เรียกว่า Shopping Around ด้วย อย่างเช่น เมื่อประชาชนไปรับยาที่หน่วยบริการหรือร้านขายยาแล้วเสียบบัตรประชาชน ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าก่อนหน้านี้ไปรับบริการที่อื่นมาแล้วหรือไม่ หากมีระบบก็จะแจ้งเตือนข้อมูลไปยังหน่วยบริการหรือร้านยานั้นให้ทราบ รวมถึงการที่จะต้องมีระบบตรวจสอบก่อนนี้เป็นการตรวจสอบหน่วยบริการด้วย เพราะถ้าสปสช.จ่ายเงินไปก่อนจะมีปัญหา ยิ่งเอกชนมาเบิกเงินแล้วเบิกผิด อาจจะถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่าอาจจะมีความไม่สุจริต”นพ.จเด็จกล่าว