เบื้องลึก 'หมอชลน่าน' ไม่ยอมถูกตัดงบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค

เบื้องลึก 'หมอชลน่าน' ไม่ยอมถูกตัดงบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค

'หมอชลน่าน' ไม่ยอมให้สำนักงบประมาณตัดงบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค เพราะนั่นหมายถึงความท้าทายนโยบาย Quick Win รัฐบาล ทว่า มีการนำร่องนโยบาย 5เรื่องสำคัญแล้วบางพื้นที่ ก่อนเริ่มทางการ 1 ม.ค.2567

keypoints:

  •     ส่องงบประมาณบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค ในส่วนของงบฯเหมาจ่ายรายหัวย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2560-2566 และจำนวนประชากรที่ดูแล ก่อนถูกตัดงบฯปี 2567 ลดลง
  •      ตัดงบฯบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค กระทบ Quick Win รัฐบาล ยกระดับ 30บาทพลัส นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขและประธานบอร์ดสปสช.ไม่ยอม ถอนเรื่องมาชงใหม่ 
  •     ทดลองนำร่อง 5 เรื่องสำคัญนโยบายยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค หรือ 30บาทพลัส ในบางพื้นที่ ก่อนเริ่มอย่างเป็นทางการ 1 มกราคม 2567

      เมื่องบประมาณบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค ปีงบประมาณ 2567 ที่เสนอเข้าครม.เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ไม่เป็นไปตามงบฯขาขึ้นที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ทำให้นพ.ชลน่าน ต้องขอถอนเรื่องออกมาจากครม.ก่อนจะเสนอเข้าไปใหม่อีกครั้ง หลังเคลียร์กันรู้เรื่อง

เบื้องลึก \'หมอชลน่าน\' ไม่ยอมถูกตัดงบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค

งบฯบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค  ปี 2561-2566
     งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วงปี 2561-2566 ดังนี้

ปี 2561 จำนวน1.71 แสนล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.56  แสนล้านบาท คิดเป็น 3,197.32 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมประชากร 48.79 ล้านคน

ปี 2562 จำนวน 1.81 แสนล้านบาท  เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.66 แสนล้านบาท คิดเป็น 3,426.56 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมประชากร 48.57

ปี 2563 จำนวน 1.90 แสนล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว1.72 แสนล้านบาท คิดเป็น 3,600 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมประชากร 48.26 ล้านคน

ปี 2564 จำนวน 1.94 แสนล้าบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ราว 1.77 แสนล้านบาท คิดเป็น 3,719.22 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมประชากร 47.64 ล้านคน

ปี 2565 จำนวน1.98 แสนล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 3,329.22 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมประชากร 47.55 ล้านคน

ปี 2566 จำนวน2.04 แสนล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.61 แสนล้านบาท คิดเป็น 3,385 บาทต่อคนต่อปี  ครอบคลุมประชากร 47,72 ล้านคน

การจัดสรรงบฯบัตรทอง 

      อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบฯเหมาจ่ายรายหัวนั้น ไม่ใช่งบประมาณทั้งหมดที่สปสช.จะนำมาใช้ในการให้บริการประชาชน เพราะจากงบฯเหมาจ่ายดังกล่าว จะต้องหักในส่วนที่เป็นเงินเดือนภาครัฐ(เงินเดือนของบุคลากรในรพ.แต่ละแห่งรวมอยู่ในงบฯนี้)ออกด้วย

      ยกตัวอย่าง การจัดสรรงบฯในปี 2566 จำนวน 2.04 แสนล้านบาท

1.งบเหมาจ่ายรายหัวราว 1.61 แสนล้านบาท

2.งบผู้ติดเชื้อเอชวีและผู้ป่วยเอดส์ ราว 3,978 ล้านบาท

3.งบผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง รา ว9,952 ล้านบาท

4.งบควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ราว 1,071 ล้านบาท

5.งบเพิ่มเติม รพ.พื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,490 ล้านบาท

6.งบผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 1,265 ล้านบาท

7.งบเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิ 188 ล้านบาท

8.งบบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,772 ล้านบาท

9.งบช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 437 ล้านบาท

10.งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 21,381 ล้านบาท

     เฉพาะในส่วนของงบฯเหมาจ่ายรายหัว 1.61 แสนล้านบาท เฉลี่ย 3,385.98 บาทต่อคน  หักเงินเดือนภาครัฐราว 56,585 ล้านบาท จะแยกเป็น

  • งบบริการผู้ป่วยนอก 1,344.40 บาทต่อคน
  •  ผู้ป่วยใน 1,477.01 บาท ต่อคน
  • บริการกรณีเฉพาะ 399.49 บาทต่อคน
  •  บริการฟื้นฟูมรรถภาพด้านการแพทย์ 17.23 บาทต่อคน
  •  บริการการแพทย์แผนไทย 19.16 บาทต่อคน
  •  และค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน 128.69 บาทต่อคน

  “หมอชลน่าน”ถอนเรื่องออกจากครม.

       สำหรับงบประมาณบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค ปี 2567นั้น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 นพ.ชลน่าน ในนามรมว.สาธารณสุขและประธานบอร์ดสปสช. ได้ขอถอนวาระการเสนอขออนุมัติงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หรืองบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค ออกจากที่ประชุมครม. เพื่อไปหารือกับสำนักงบประมาณใหม่

      เนื่องจากวงเงินที่สปสช.เสนอ 223,615.51 ล้านบาท แยกเป็น งบของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 221,528.95 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2566 ราว 11,000 ล้านบาท   และงบบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2,086.56 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเสนอไปยังสำนักงบประมาณพิจารณา

เบื้องลึก \'หมอชลน่าน\' ไม่ยอมถูกตัดงบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค

         เมื่อนำเรื่องเข้าครม. พบว่าสำนักงบประมาณมีการตัดงบจากข้อเสนอลง โดยงบของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เหลือ 215,938.06 ล้านบาท และงบบริหาร 2,086.56 ล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณ แจ้งว่า จะสนับสนุนงบประมาณให้ตามความจำเป็นต่อไป เท่ากับมีการตัดงบประมาณไปถึง 5,000-6,000 ล้านบาท

ตัดงบฯกระทบยกระดับ 30บาทพลัส

          วงเงินที่สำนักงบประมาณตัดลงไปแล้วเหลือเฉพาะงบกองทุนฯราว  2.15 แสนล้านบาทนั้น  หากพิจารณาจากงบฯปี 2566 ที่ได้  2.04 แสนล้านบาทนั้น นับว่าเพิ่มขึ้น 5.78% และหากดูจากงบประมาณปี 2567เดิม(ไม่รวมงบบริหารสำนักงานฯ)ที่สปสช.เสนอขอก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากเดิมเสนอขอที่ 2.12 แสนล้านบาท
         ทว่า ตัวเลขงบฯปี 2567 (ไม่รวมงบบริหารสำนักงานฯ)ที่สปสช.เสนอขอล่าสุด 2.21  แสนล้านบาทนั้น (ก่อนที่สำนักงบฯจะตัดเหลือ 2.15 ล้านบาท)  ผ่านการอนุมัติบอร์ดสปสช.ภายหลังมีรัฐบาลใหม่ และนพ.ชลน่านเป็นรมว.สาธารณสุข และประธานบอร์ดสปสช.แล้ว

        โดยบอร์ดสปสช.ที่มีนพ.ชลน่านเป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เห็นชอบ

งบประมาณกองทุนฯ เป็น 2.21 แสนล้านบาท ส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่น

  • บริการเดิมที่ต่อเนื่องจากปี 2566 จำนวน 8,297.23 ล้านบาท
  • บริการเดิมที่เป็นนโยบายของรัฐบาล 6,164.29 ล้านบาท
  • บริการใหม่/สิทธิประโยชน์ใหม่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล 108.99 ล้านบาท
  • บริการ/สิทธิประโยชน์ใหม่ประจำปี 2567 จำนวน 12.57 ล้านบาท
  • การปรับใช้ระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการแบบ DRG เวอร์ชั่น 6 อีก 2,805.84 ล้านบาท

       เท่ากับ หากสปสช.ได้งบตามที่สำนักงบประมาณตัดแล้ว อยู่ที่ 2.15 แสนล้านบาทนั้น  จะกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขที่เป็นเรื่องหลักของรัฐบาลชุดนี้ คือ ยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค หรือ30บาทพลัส 

    ชงเข้าครม.ใหม่แต่ยังปิดตัวเลข

    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า ตัวเลขตามที่สำนักงบประมาณระบุนั้น ไม่ตอบโจทย์เชิงนโยบายของรัฐบาลและนโยบายQuick Win จึงได้ขอถอนนำกลับมาพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง
 

“ได้มีการหารือกันแล้ว เรื่องนี้จบ และจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้ง ส่วนตัวเลข ยังเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอผ่านมติครม.ก่อน” นพ.ชลน่านกล่าว

 

ยกระดับ 30บาทพลัส นำร่อง 5 นโยบายสำคัญ

       ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท หรือ 30บาทพลัส ว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2567      
         ทว่า  ในช่วงนี้ได้เริ่มมีการทดลองนำร่องในบางพื้นที่ก่อน เช่น จ.แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และ นราธิวาส  บริการที่จะเริ่มนำร่อง ประกอบด้วย

1. ใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการได้ทุกที่ จากเดิมผู้มีสิทธิบัตรทองต้องมีหน่วยบริการประจำหน่วย ถ้าเกินศักยภาพบริการก็ส่งตัวให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพบริการ โดยมีใบส่งตัวที่มีรายละเอียดอาการเจ็บป่วยและการดูแลรักษาที่ให้บริการแล้ว เพื่อให้โรงพยาบาลรับส่งต่อจะได้รักษาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีถูกพัฒนา

      โดยเฉพาะระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ การเขียนใบส่งตัวจึงไม่จำเป็น เพราะสามารถส่งต่อข้อมูลการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่การจะรู้ว่าคนไข้คือใคร จะต้องมีการยืนยันตัวเองโดยใช้บัตรประชาชน ดังนั้นนโยบายสำคัญข้อแรก คือการใช้บัตรประชาชนไปรักษาได้ทุกที่ ซึ่งขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของระบบข้อมูลอยู่ และคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้

เบื้องลึก \'หมอชลน่าน\' ไม่ยอมถูกตัดงบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค

2. รักษามะเร็งครบวงจร เริ่มตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็ก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หากตรวจพบผู้ป่วยก็จะถูกส่งต่อเข้าสู่การรักษา พร้อมประวัติข้อมูลต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อกันให้ผู้ป่วยได้รับบริการเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. เข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. แม้จะมีโรงพยาบาลในพื้นที่หลายแห่ง แต่ในบางพื้นที่ก็เข้าถึงบริการได้ยาก ดังนั้นจึงจะมีการเพิ่มหน่วยบริการ เริ่มจากแขวงทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง ซึ่งเป็นจุดที่หน่วยบริการยังมีน้อย รวมทั้งการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเชิญเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการมากขึ้น ทั้งร้านยา แลปเอกชน คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกพยาบาล 

4. สถานชีวาภิบาล หรือการดูแลระยะสุดท้าย เดิมทีจะดูแลกันในโรงพยาบาล แต่พบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ประสงค์อยากกลับไปอยู่ที่บ้าน ซึ่งการดูแลระยะท้ายจะต้องดูแลโดยมีหลักวิชาการ ทั้งด้านแพทยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายนี้จะเป็นการร่วมมือกันทั้งหน่วยงานทางสังคม เช่น วัดในชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาล

5. การดูแลเรื่องสุขภาพจิต เป็นวาระสำคัญที่จะขับเคลื่อนลงไปถึงในระดับชุมชน ขณะเดียวกัน สปสช. มีสายด่วน 1330 เป็นตัวกลางในการประสานงาน เมื่อมีปัญหาในการรับบริการ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำว่าควรไปรับบริการที่ไหน ไปจนถึงปัญหาขัดข้องที่พบระหว่างการรับบริการ และนอกจากสายด่วน 1330 แล้ว สปสช. มีช่องทาง Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ Line OA สปสช. ก็ติดต่อทั้ง 2 ช่องทางนี้ได้เช่นกัน