ซื้อ 'นมแม่'ลูกเสี่ยงอันตราย รับเชื้อโรค

ซื้อ 'นมแม่'ลูกเสี่ยงอันตราย รับเชื้อโรค

กรมอนามัยระบุ ซื้อนมแม่ทำลูกเสี่ยงอันตราย อาจรับเชื้อโรค แนะแม่ไร้น้ำนมขอรับบริจาคจากธนาคารนมแม่ มีระบบคัดกรองก่อน

Keypoints:

  •        ระยะของน้ำนมแม่ มีการเปลี่ยนแปลงแยกเป็น 3 ระยะ และ สารอาหารในน้ำนมแม่
  •         ประโยชน์ของนมแม่ต่อลูกน้อย ต่อพัฒนาการทางสมอง ต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดี ต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
  •          ความเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อลูก หากไปซื้อน้ำนมแม่ แนะกรณีแม่ไม่มีน้ำนมขอรับบริจาคจากธนาคาร มีระบบคัดกรองก่อน

     จากกรณีที่มีการขายนมแม่แช่แข็งในกลุ่มแม่และเด็ก ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าสามารถทำได้หรือไม่ในทางกฎหมาย รวมถึง ลูกที่รับน้ำนมจะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ 
สารอาหารในน้ำนมแม่

 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • น้ำนมระยะที่ 1 (Colostrum)

ระยะหัวน้ำนม เป็นระยะ 1-3 วันแรก น้ำนมจะมีสีเหลือง จนบางคนเรียกว่าน้ำนมเหลือง เนื่องจากมีแคโรทีนสูงกว่านมระยะหลังมาก น้ำนมระยะนี้เป็นน้ำนมที่อุดมสมบูรณ์มากประกอบไปด้วยโปรตีนต่างๆ ที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกลือแร่ วิตามิน สารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของสมองและการมองเห็นของลูก รวมทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในการขับขี้เทาของลูกได้ด้วย

  • น้ำนมระยะที่ 2 (Transitional Milk)

เมื่อผ่านช่วง 5 วัน ถึง 2 สัปดาห์แรก น้ำนมจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น  ซึ่งจะมีสารอาหารเพิ่มขึ้นทั้งไขมันและน้ำตาลที่มีปริมาณเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย

  • น้ำนมระยะที่ 3 (Mature Milk)

เมื่อผ่านช่วง 2 สัปดาห์แรกแล้ว น้ำนมแม่จะมีปริมาณที่มากขึ้น และมีสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก ได้แก่

•          โปรตีน ที่มีส่วนช่วยในการยับยั้งจากเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทาน และเอนไซม์ที่สามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้

•          ไขมัน ที่เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ DHA (Docosahexaenoic Acid) และ AA (Arachidonic Acid) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น

•          น้ำตาลแลคโตส โดยพบว่าในนมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์หรือคาร์โบไฮเดรตสายสั้น (Human Milk Oligosaccharides หรือ HMOs) มากกว่า 200 ชนิด และมีปริมาณมากกว่าปริมาณที่พบในนมวัวถึง 5 เท่า และยังพบอีกว่า HMOs ในน้ำนมแม่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้

•          วิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต ได้แก่ A, B1, B2, B6, B12, C, D, E, K และแร่ธาตุซึ่งได้แก่ เหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น

นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินลำไส้ เส้นเลือด ระบบประสาท และระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต

ประโยชน์ของนมแม่ต่อลูกน้อย

  • ต่อพัฒนาการทางสมอง

งานวิจัยเผยว่าทารกที่กินนมแม่มีโอกาสในด้านพัฒนาการทางสมองและเชาว์ปัญญา (IQ) ที่ดีกว่าเด็กที่กินนมผสม โดยสามารถวัดได้เมื่อเด็กโตขึ้นและกำลังเข้าสู่วัยเรียน นอกจากนี้สารอาหารและวิตามินจากน้ำนมแม่ยังช่วยให้พัฒนาการของสมองเด็กและเซลล์ประสาททำงานได้อย่างสมบูรณ์

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะได้รับประโยชน์จากนมแม่เพื่อช่วยให้พัฒนาทางสมองเป็นไปอย่างปกติ และช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคจิตเวชได้ในอนาคตด้วย
ซื้อ \'นมแม่\'ลูกเสี่ยงอันตราย รับเชื้อโรค

  • ต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดี

ความสำคัญของนมแม่ที่ช่วยให้ลูกสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการเจ็บป่วย ด้วยการสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาต่อต้านอาการเจ็บป่วยทั่วไปอย่างไข้หวัด การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไปจนถึงการป้องกันการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (RSV) โรคงูสวัด

ภูมิต้านทานเหล่านี้มาจากแม่ที่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนและมีภูมิต้านทานโรคแล้ว ด้วยการส่งผ่านไปยังลูกน้อยทางน้ำนมแม่ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถช่วยป้องกันโรคที่จะเกิดกับลูกได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเหล่านี้กับลูกได้

นอกจากนี้นมแม่ยังสามารถช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้ รวมไปถึงโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไหลตายในเด็กทารก (SIDS) เป็นต้น

  • ต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย

นมแม่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกายให้ลูกเติบโตได้อย่างปกติ เมื่อลูกเข้าสู่วัยเริ่มเดินจะมีการทรงตัวที่ดีเนื่องจากมีกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจากการได้รับสารอาหารจากนมแม่ นอกจากนี้การดูดนมแม่จากอกยังช่วยในเรื่องของสุขภาพช่องปากในเด็ก เมื่อฟันบนขึ้นจะเรียงตัวไม่ทับซ้อนกันและไม่ผุกร่อนอีกด้วย
ซื้อน้ำนมลูกเสี่ยงอันตราย

   นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การขายนมแม่ ทั้งต่างประเทศและประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการรับนมแม่จากผู้อื่นอย่างถูกต้อง สามารถทำได้ผ่านธนาคารนมแม่ (Milk Bank) ซึ่งผู้ที่นำนมแม่มาบริจาค จะมีขั้นตอนการคัดกรองเชื้อ เนื่องจากในนมแม่สามารถพบเชื้อจากผู้เป็นแม่ได้ อย่างเช่นเชื้อเอชไอวี สารเสพติด หรือยาบางชนิด  โดยธนาคารนมแม่จะมีมาตรฐานคุณภาพในการคัดกรองเชื้อต่างๆ มีการควบคุมคุณภาพของนมน้ำในรูปบบพาสเจอร์ไรซ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียที่ส่งผลต่อสุขภาพของทารก

รับบริจาคได้จากธนาคารนมแม่

“ไม่แนะนำในการรับนมแม่จากผู้อื่นมาให้ลูก งดรับบริจาคนมแม่ที่ไม่ผ่านธนาคารนมแม่ และยังไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนในเรื่องนี้ จึงขอแนะนำว่าหากแม่ท่านใดที่ไม่มีนมให้ลูก สามารถติดต่อขอรับนมแม่จากธนาคารนมแม่ได้ เช่น รพ.ศิริราช รพ.รามมาธิบดี รพ.เด็ก ศูนย์อนามัยของกรมอนามัย เป็นต้น” นพ.สราวุฒิ กล่าว

      นพ.สราวุฒิ กล่าวด้วยว่า ปริมาณน้ำนมแม่ของธนาคารนมแม่ มีความเพียงพอต่อความต้องการ และยังมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น ยูนิเซฟ รพ.เอกชน ทำให้คุณแม่เข้าถึงบริการได้ง่าย นอกจากนั้น แม่ที่คลอดลูกแล้วแต่ไม่มีน้ำนมให้ลูก ก็สามารถติดต่อที่ รพ.ใกล้บ้าน เพื่อปรึกษาคุณหมอ หาวิธีทำให้มีน้ำนม ซึ่งคุณหมอก็จะแนะนำการดูแลสุขภาพ อาหารการกินให้คุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้ โดยการบริการนี้จะรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย

     นอจากนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับยูนิเซฟทำโครงการส่งนมแม่ให้สำหรับผู้ที่เป็นแม่คลอดลูกแต่อยู่ห่างกัน โดยแม่สามารถปั๊มน้ำนมของตัวเองแล้วนำส่งไปให้ลูกได้โดยที่น้ำนมยังรักษาคุณภาพไว้ได้ ซึ่งจะมีการขนส่งผ่านเครื่องบินไปถึง รพ.สต. ในพื้นที่ได้เลย ทั้งหมดนี้เป็นบริการฟรีสำหรับคุณแม่