'นมแม่' ประโยชน์สองต่อ ดีต่อแม่ สร้างต้นทุนสุขภาพลูกน้อย

'นมแม่' ประโยชน์สองต่อ ดีต่อแม่ สร้างต้นทุนสุขภาพลูกน้อย

12 สิงหาคม 'วันแม่แห่งชาติ' น้ำนมแม่ ซึ่งเปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับเด็ก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย การได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ทารกเติบโตได้สมบูรณ์แข็งแรง อีกทั้ง ยังมีประโยชน์ต่อผู้เป็นแม่อีกด้วย

Key Point : 

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน 
  • ขณะที่ ประเทศไทย มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 28.6 และลดลงเมื่อครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน
  • การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่เพียงแค่ส่งผลดีต่อลูกน้อยในการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่อีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นประโยชน์สองต่อ

 

เนื่องในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ และทุกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปีประกาศเป็นสัปดาห์นมแม่โลก เด็กทารกที่เกิดใหม่ยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ น้ำนมแม่ จึงเปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับเด็ก เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมากที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย การได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ทารกเติบโตได้สมบูรณ์แข็งแรง

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย MICs 6 (MICs: Multi Indicator Cluster Survey) พ.ศ.2565 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 28.6 และลดลงเมื่อครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน

 

เมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน หน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็กจึงอยู่ที่ปู่ย่าตายายสูงถึงร้อยละ 70.6 ซึ่งมีผลต่อคุณภาพในการเลี้ยงดูเด็กเล็กในช่วงวัยที่เรียกว่า ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ที่จะต้องเริ่มต้นด้วย “นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน นมแม่ควบคู่อาหารตามวัย และการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

นมแม่ สร้างต้นทุนสุขภาพที่ดี

 

ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้จัดการโครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ โดย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหัวใจและจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างต้นทุนสุขภาพที่ดี ซึ่งเด็กทารกหลังคลอดถึง 3 ปีนั้น ถือว่าเป็นช่วงวัยที่เป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่สำคัญของชีวิต นมแม่และการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนากำลังคน สร้างคนไทย 4.0 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในศตวรรษที่ 21

 

“นมแม่เป็นต้นทุนด้านอาหารที่มีประสิทธิภาพสูง มีสารอาหารสำคัญครบถ้วน ช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานสูง เด็กวัยก่อน 3 ขวบถือเป็นช่วง Sensitive Period โครงสร้างสมองของมนุษย์มากกว่าร้อยละ 80 จะเกิดการพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ เมื่อแรกเกิดสมองทารกมีจำนวนเซลล์สมองประมาณ 86,000 ล้านเซลล์ และมีเซลล์พี่เลี้ยง เช่น glia cell อีกประมาณ 85,000 ล้านเซลล์ การที่สมองมีการเจริญเติบโตจนมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากการขยายใยประสาทและการเพิ่มจุดเชื่อมต่อ ซึ่งตัวกระตุ้นให้เกิดคือประสบการณ์การเลี้ยงดู การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นรายวันและอาหารที่เด็กได้รับ ข้อมูลวิชาการยืนยันว่าถ้าลูกได้กินนมแม่ลูกมีโอกาสฉลาด และยิ่งได้กินมากยิ่งมีโอกาสฉลาดมาก แต่จะมีผลดีมากกว่านี้ หากลูกได้นมแม่ควบคู่กับการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้แบบมีคุณภาพ”

 

 

 

 

ประโยชน์สองต่อ ทั้งแม่และลูกน้อย

 

อ.พญ.อนงค์นาถ ศิริทรัพย์ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความรู้ผ่านบทความ ‘นมแม่ ประโยชน์คูณสอง ได้ทั้งแม่ ดีทั้งลูก’ โดยระบุว่า ‘นมแม่’ นอกจากจะเป็นสุดยอดอาหารของลูกน้อยแล้ว ยังมีประโยชน์กับคุณแม่ด้วยเช่นกัน

 

ประโยชน์ของน้ำนมแม่ต่อลูกน้อย

  • ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค
  • ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคภูมิแพ้
  • ลดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม และโรคหืด
  • ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง และพัฒนาการมองเห็นให้ดีขึ้น
  • ไตขับของเสียน้อยกว่า
  • ลดโอกาสท้องเสีย ลำไส้อักเสบ และช่วยให้ระบบขับถ่ายดี
  • ลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ เมื่อโตขึ้น เช่น เบาหวาน อ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดัน
  • ฟันกรามล่างแข็งแรง เกิดฟันเกน้อยลง

 

ประโยชน์ของการให้นมบุตรต่อคุณแม่

  • ลดโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม และป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • ช่วยให้คุณแม่สามารถลดน้ำหนักได้เร็วขึ้น
  • ประหยัดค่าใช้จ่าย

 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับสีของน้ำนมแม่

 

น้ำนมสีเหลือง : คือ หัวน้ำนม เป็นน้ำนมที่คุณแม่ผลิตได้ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด อุดมไปด้วย สารอาหารและสารสร้างภูมิต้านทาน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ทารก

น้ำนมสีใส : เรียกว่า นมส่วนหน้า อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยพัฒนาสมองของทารก มีปริมาณน้ำมาก ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายของทารกได้เป็นอย่างดี

น้ำนมสีขาวเข้ม : เรียกว่า นมส่วนหลัง ซึ่งมีโปรตีนและไขมันสูงกว่านมส่วนหน้า ช่วยเพิ่มพลังงาน และเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้กับทารก

น้ำนมสีแดง : เกิดจากการที่คุณแม่รับประทานอาหารที่มีสีแดงในปริมาณมาก โดยปกติแล้วน้ำนมจะกลับมาเป็นสีขาวได้ภายในระยะเวลา 2 – 3 วัน นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น มีเลือดปนมาในน้ำนมจากการที่มีหัวนมแตก เส้นเลือดฝอยแตกจากการใช้เครื่องปั๊มนมที่มีแรงดูดมากเกินไป หรือความผิดปกติของเต้ามอื่น ๆ ดังนั้นหากพบว่าน้ำนมมีสีแดงปนเปื้อนนานเป็นสัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและหาสาเหตุ

 

นอกจากนี้น้ำนมอาจมีสีอื่น ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับอาหารและยาที่คุณแม่ได้รับ ดังนั้นหากคุณแม่พบว่าสีของน้ำนมเปลี่ยนไป แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

 

เทคนิค 3 ดูด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ กรมอนามัย จึงรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน ตามข้อแนะนำองค์การอนามัยโลก พร้อมแนะเทคนิค 3 ดูด ดังนี้

1) ดูดเร็ว ให้ลูกดูดนมทันทีหลังคลอด ภายใน 1 ชั่วโมง

2) ดูดบ่อย ให้ลูกดูดนมอย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมง และ

3) ดูดถูกวิธี โดยให้ลูกดูดนมจากอกแม่อย่างถูกวิธี

 

และในแต่ละครั้งควรให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมของคุณแม่ให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกน้อย เนื่องจากแม่ที่ให้นมลูกต้องการพลังงานมากกว่าคนปกติ ถึง 500 กิโลแคลอรี ดังนั้น แม่จึงควรกินอาหารหลากหลายครบทุกหมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

 

อาหารช่วยเพิ่มนมแม่

 

อาหารที่มีส่วนช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับแม่หลังคลอดบุตร คือ อาหารที่พบได้ในชีวิตประจำวันและกินกันโดยทั่วไปนั่นเอง ได้แก่ ผักต่าง ๆ ผลไม้ต่าง ๆ เนื้อสัตว์ ธัญพืช และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เพราะอุดมด้วยสารอาหาร อาทิ โฟเลต แคลเซียม ธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี ที่จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพคุณแม่หลังคลอด อีกทั้ง ควรรับประทานอาหารที่มีผัก 5 ชนิดนี้ เป็นส่วนประกอบจะช่วยในการกระตุ้นและเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่ได้เป็นอย่างดี ได้แก่

1) เมนูหัวปลี เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี แกงไก่ใส่หัวปลี ต้มหัวปลีจิ้มกับน้ำพริก หัวปลีมีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิด

2) เมนูขิง เช่น ไก่ผัดพริกขิง ยำปลาทูใส่ขิง มันต้มขิง น้ำขิง ขิงมีฤทธิ์ร้อนช่วยขับลม ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นเหมาะกับแม่หลังคลอด และช่วยย่อยอาหาร ลดความเสี่ยงของอาการท้องผูกหลังคลอดได้ และยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อแม่

3) เมนูใบกระเพรา ได้แก่ ผัดกระเพราหมู ไก่ ปลา แกงป่าไก่ ผัดฉ่าปลาหมึก ต้มโคลงหรือต้มส้ม ใบกระเพรามีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง มีฤทธิ์ขับลม บำรุงธาตุ เพิ่มน้ำนม

4) เมนูฟักทอง เช่น แกงเลียง ฟักทองผัดไข่ ฟักทองนึ่ง แกงบวดฟักทอง ฟักทองมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสุขภาพดวงตา ทั้งยังมีฟอสฟอรัสและเบต้าแคโรทีนที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงอีกด้วย และ 5) เมนูกุยช่าย เช่น กุยช่ายผัดตับ ขนมกุยช่าย ผัดกุยช่ายหมูสับ เพราะกุยช่ายมีฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง และดีต่อระบบไหลเวียนโลหิต และยังมีส่วนช่วยในการบำรุงน้ำนม

 

“นอกจากนี้ คุณแม่ที่ให้นมลูกควรเพิ่มปริมาณน้ำดื่มอีก 1 ลิตรจากที่ดื่มอยู่ตามปกติ เพราะน้ำเป็นหนึ่งในอาหารเพิ่มน้ำนมที่จะถูกนำไปช่วยสร้างและเพิ่มน้ำนมแม่ และควรเป็นน้ำอุ่นเท่านั้น ควรงดน้ำเย็นและบรรดาน้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอและเป็นน้ำนมคุณภาพของลูกน้อยอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

 

 

อ้างอิง : กรมอนามัย , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย