30บาทรักษาทุกโรค 'เทเลเมดิซีน รพ.ระนอง' 

30บาทรักษาทุกโรค  'เทเลเมดิซีน รพ.ระนอง' 

รพ.ระนองนำมาระบบการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีนมาใช้ดูแลผู้ป่วย ในพื้นที่เกาะและกลุ่มเฉพาะ ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดความแออัดรพ. ไม่ต้องเสียเวลารอคิวนาน และสามารถนัดพบแพทย์เฉพาะทางได้

        บริบทของพื้นที่ที่มีหลายเกาะ การที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาโรงพยาบาลเป็นไปอย่างลำบาก เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายต่อ บางครั้งเมื่อเกิดมรสุม ฝนตกหนักน้ำท่วม คนไข้ก็ไม่สามารถมาตามนัดหรือมาไม่ตรงเวลานัด ขณะที่การดูแลกลุ่มเฉพาะในส่วนของเรือนจำ จะมีข้อบังคับของกรมราชทัณฑ์หลายอย่างหากจะต้องนำคนไข้ออกมาพบแพทย์ภายนอก รพ.ระนองจึงนำระบบเทเลเมดิซีนมาเสริมการให้บริการ

        นพ.วุฒิชัย จ่าแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ รพ.ระนอง กล่าวว่า การนำผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขังออกมาโรงพยาบาล ต้องมีคนขับรถ 1 คน มีพยาบาล 1 คน และมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ป่วยที่พาออกมาได้ครั้งละไม่เกิน 2-3 คนต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังกว่า 2,000 คน
        แต่เมื่อใช้ระบบเทเลเมดิซีนทำให้คนไข้ได้รับการตรวจจากแพทย์ในแต่ละวันได้ถึง 90 % ของจำนวนคนไข้ ผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565-ก.ย. 2566 มีผู้ต้องขังในเรือนจำรับบริการผ่านระบบเทเลเมดิซีนทั้งหมด 873 ราย และส่งต่อพบแพทย์ในโรงพยาบาลจำนวน 61 ราย หรือประมาณ  6.98%

30บาทรักษาทุกโรค  \'เทเลเมดิซีน รพ.ระนอง\' 

       ระบบจะให้พยาบาลในเรือนจำสามารถปรึกษาแพทย์ของโรงพยาบาลได้ เมื่อมีความเร่งด่วน แพทย์ตรวจและวินิจฉัยอาการเบื้องต้นได้เลย ถ้าจำเป็นต้องพามาโรงพยาบาล ก็ให้ทางพยาบาลเรือนจำเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจสัญญาณชีพต่างๆ เมื่อพาผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลก็พบแพทย์เฉพาะทางได้เลย โดยไม่ต้องไปผ่านแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งโรคที่เจอส่วนมากจะเป็นโรคไส้เลื่อน โรคหัวใจ หอบหืด หรือแม้กระทั่งโรคโควิด-19
      นอกจากนี้ ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ ฯลฯ ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง ก็จะประสานพยาบาลเรือนจำให้ทานยาต่อหน้า มีการอบรม อสม. ในเรือนจำเพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพเพื่อนผู้ต้องขัง ทำให้สามารถควบคุมอาการโรคได้ค่อนข้างดี

         สำหรับกลุ่มประชากรบนเกาะ พยาบาลรพ.สต.ที่อยู่บนเกาะก็จะประสานมาทางรพ.เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้น หากจำเป็นต้องมารพ.ก็จะนัดวันแล้วเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องมารพ. 2 ครั้ง คือมาพบแพทย์ทั่วไปก่อนแล้วถึงมาพบแพทย์เฉพาะทางในครั้งที่สอง

       รวมทั้ง การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุก็จะมีความสะดวกมากขึ้น เมื่อพยาบาลบนเกาะปรึกษาเข้ามา แพทย์ก็จะประเมินเบื้องต้นว่าสามารถรักษาบนเกาะได้เลยหรือไม่ หากรักษาได้ก็ทำการรักษา ถ้าเกินศักยภาพก็นัดมาพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย ไม่ต้องมาหลายรอบและไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอ ส่วนยาก็สามารถเบิกจากรพ.สต.ไปให้ผู้ป่วยได้ เพราะรพ.จะมีการจัดส่งยาไปให้ที่รพ.สต.อยู่แล้ว 

       นพ.วุฒิชัย กล่าวว่า นอกจากระบบเทเลเมดิซีนแล้ว โรงพยาบาลระนองยังได้พัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิให้ครบวงจร โดยหน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลจะเป็น PCU ที่ดูแลประชากรในพื้นที่ ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง  มีการนำระบบ paperless มาใช้ และเชื่อมต่อข้อมูลทั้งหมดด้วยกัน เช่น เมื่อมีการตรวจวัดความดัน ตรวจแลปต่างๆ
        ระบบก็จะส่งข้อมูลเข้าห้องตรวจเลย ว่าคนไข้ความดันเท่าไหร่ ชีพจรเท่าไหร่ อาการหายใจเป็นอย่างไร จากนั้นก็ส่งผู้ป่วยไปตามระบบการดูแล 5 กลุ่มวัย ซึ่งด้วยการจัดระบบลักษณะนี้ ทำให้ระยะเวลาในการรับบริการลดลง จากเดิมประมาณ 1 ชั่วโมง เหลือไม่เกิน 30-35 นาที ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยพึงพอใจอย่างมาก

30บาทรักษาทุกโรค  \'เทเลเมดิซีน รพ.ระนอง\' 

       ขณะที่ ชาลิตา พรมมาตร์ พยาบาลวิชาชีพ เรือนจำจังหวัดระนอง กล่าวว่า การใช้ระบบเทเลเมดิซีน ในแง่ของบุคลากรนั้น ช่วยให้ลดภาระงานไปได้มากจากที่หากจะนำคนไข้ออกจากเรือนจำจะต้องมีผู้คุมติดตามไปด้วย 2 คนรวมถึงคนขับรถ และพยาบาลอีก  ขณะที่เทเลเมดิซีนสามารถนัดแพทย์เพื่อทำการตรวจได้ทุกวันขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้ จากเดิมที่อาจจะต้องรอแพทย์เข้ามาตรวจสัปดาห์ละ 1 วัน  และหากมีกรณีฉุกเฉินก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ทันที

       “ที่สำคัญคนไข้พอใจมาก เพราะเขาได้รับการตรวจดูอาการจากแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น ทำให้อุ่นใจในอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ หรือหากจำเป็นต้องไปรพ.ก็ไปพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย ไม่ต้องไปรพ.หลายครั้ง เพราะระเบียบหนึ่งของทางเรือนจำตอนนี้คือหากออกไปข้างนอกแล้วกลับเข้ามาจะต้องกักตัวก่อน”ชาลิตากล่าว 

      อนึ่ง หากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องสัญญาณโทรคมนาคม อย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สามารถจัดสรรคลื่นสัญญาณเฉพาะที่เป็นคลื่น Health ก็จะช่วยระบบการแพทย์ทางไกลได้มากยิ่งขึ้น  เพราะเทเลเมดิซีนจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ระบบสุขภาพของประเทศกำลังเผชิญอยู่ทั้งรพ.แออัด คนไข้รอคิวนาน และภาระงานของแพทย์ เป็นต้น