รูปแบบยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค สมดุลบริการ-ภาระงาน

รูปแบบยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค สมดุลบริการ-ภาระงาน

ปลัดสธ.พร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ระบุ30บาทพลัส สมดุลยกระดับบริการ-ภาระงาน หารือร่วมพัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล รองรับบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่

 เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2566 ที่ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” ว่า
3 ปีที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยรับมือกับสถานการณ์โควิด19 เป็น 3 ปีที่มนุษยชาติเรียนรู้มากมายโดยเฉพาะ 5 เรื่อง คือ 1.รียนรู้ระบบสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง เป็นเอกภาพ แต่มีจุดพัฒนาหลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบการจัดการสาธารณสุขในชุมชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยต้องนิยามใหม่ จากเดิมอยู่ตามชายขอบ ชายแดน แต่จากโควิดทำให้รู้ว่า กลุ่มเปราะบางในระบบการแพทย์ไม่เฉพาะชายแดน แต่ใจกลางเมืองหลวงเมืองใหญ่ เช่น ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.ทั้งนั้น เป็นอีกจุดที่ต้องกลับมาทบทวนและจัดการดำเนินการ

2.ความครอบคลุมทั่วถึงการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เรียนรู้เรื่องการใช้เทเลเมดิซีน โดยเฉพาะประเทศไทยมีจำนวนประชากรคนที่ใช้สมาร์ทโฟนครอบคลุมสูงมาก แทบจะทุกครัวเรือนจะมีสมาร์ทโฟน คนไม่มีน้อย การจะทำให้ครอบคลุมบริการแพทย์สาธารณสุข ให้ความรู้ประชาชนรับมือภัยสุขภาพยามปกติและฉุกเฉินคือเทคโนโลยีด้านดิจิทัลและเทเลเมดิซีน 

3.ระบบการแพทย์และสาธารณสุข รมว.สธ.ฝากย้ำนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรี เรื่อง การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือหลักประกันสุขภาพ หรืออาจจะเรียก 30 บาทพลัส รอชื่อเป็นทางการอีกครั้ง กาารยกระดับการบริการ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ควบคุมโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟู เป็นสิ่งต้องรีบดำเนินการในยุครัฐบาลใหม่
"หากอ่านแถลงการณ์นายกฯ จะเห็นคำหนึ่งมาพร้อมกัน การยกระดับบริการสุขภาพประชาชน ต้องคำนึงภาระงานบุคลากรต้องสมดุล ทำให้สมดุลและขับเคลื่อนไปข้างหน้า เป็นโจทย์ท้าทายของฝ่ายปฏิบัติที่ต้องรับนโยบายมาปฏิบัติ"นพ.โอภาสกล่าว 

  สำหรับการใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่เป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งสธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)นำมาบูรณาการร่วมกันให้เห็นผลโดยเร็ว ซึ่งจะร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการวางระบบพื้นฐานเชื่อมฐานข้อมูล เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ รวมถึง พัฒนาระบบการจัดการ ระบบการเบิกจ่ายเงิน เพราะระบบสาธารณสุขของไทยอยู่ในสธ. 70% ที่เหลืออยู่ในสังกัดอื่น ซึ่งรมว.ไดัให้นโยบายรพ.ทุกแห่งต้องเป็นรพ.ของประชาชน เป็นโจทย์ที่ท้าทาย
"ที่กังวลเรื่องภาระงานนั้น จะเป็นการยกระดับ 30 บาทที่สมดุลทั้งบริการและภาระงาน บางงานอาจจะลดลง บางงานอาจจะเพิ่มขึ้น เช่น การบีนทึกผ่านกระดาษจะลดลง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ขณะที่หัตถการจำเป็นอาจจะเพิ่มขึ้น เป็นต้น"นพ.โอภาสกล่าว

4.ระบบการแพทย์และสาธารณสุขจะพัฒนาได้ต้องก้าวข้ามคำว่าการแพทย์และสาธารณสุข เพราะการแก้ปัญหาจริงๆ มีมิติมากกว่าแค่มิติการแพทย์และสาธารณสุข และ 5.พื้นฐานการจัดการคือการ
ใช้หลักความรู้ มีเหตุมีผล แต่ความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันหนึ่งถูก ต่อไปอาจผิด ต่อไปอาจถูก อย่าไปยึดติดความรู้มากเกินไป จนละเลยผลลัพธ์การกระทำ บางคนยึดมั่นถือมั่น ความรู้ต้องเป็นแบบเท่านี้เท่านั้น ความรู้มีหลายมิติเปลี่ยนแปลงตลอด ต้องปรับความรู้มาใช้สอดคล้องให้เหมาะสมสถานกาณณ์นั้นๆ แปลว่าเหตุการณ์เวลานั้นๆ มีข้อจำกัดเชิงทรัพยากร เชิงการจัดการ ด้านกฎระเบียบ ด้านกฎหมาย ความรู้ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นเรื่องการจัดการความรู้