เจาะ 7 เทรนด์เทคโนโลยีการแพทย์ ช่วยคนไทยได้รับบริการสุขภาพทั่วถึง

เจาะ 7 เทรนด์เทคโนโลยีการแพทย์ ช่วยคนไทยได้รับบริการสุขภาพทั่วถึง

ผอ.รพ.รวมใจรักษ์เผย  7 เทรนด์เทคโนโลยีการแพทย์ ช่วยคนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพวินิจฉัย ดูแล รักษา  เตือนข้อมูล รพ.เป้าโจมตีไซเบอร์ ย้ำไทยต้องเร่งทำ BigData สุขภาพ เชื่อมฐานข้อมูลรัฐ - เอกชนเป็นหนึ่งเดียว ลดเสียโอกาสวางแผนระบบสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 ในการสัมมนาอนาคตประเทศไทย นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ จัดโดย SPRING กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และโพสต์ทูเดย์  Session1 เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนไทย - เปลี่ยนโลก นพ.สุนทร ศรีทา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรวมใจรักษ์  กล่าวว่า รพ.รวมใจรักษ์เปิดบริการมาได้ประมาณ 6 เดือน โดยมีทิศทางที่จะนำนวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาพยาบาล  ซึ่งเทรนด์ของเทคโนโลยีทางการแพทย์มีราว  7 เรื่อง ได้แก่

      1.เอไอ(AI) มีการนำมาใช้หลายปีแล้ว โดยใช้ทั้งในการตรวจวินิจฉัยในหลายเรื่อง ตั้งแต่เอกซเรย์ที่เอไอจะช่วยให้แพทย์ได้มองเห็นจุดบกพร่องต่างๆ รวมถึง มีการไกด์ให้แพทย์ว่าอาการ ผลแล็บ ผลเอกซเรย์ที่ปรากฏอาจจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ช่วยให้แพทย์มีความรอบคอบมากขึ้น และการรักษา การเลือกใช้ยาแต่ละประเภท เอไอจะช่วยไกด์ให้ว่าถ้าใช้ยาตัวนี้ไม่ควรใช้ซ้ำกับยาตัวไหน ที่จะเสริมฤทธิ์หรือทำปฏิกิริยากัน

    2.Data Breach Prevention หรือ การป้องกันการละเมิดข้อมูลออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการแฮกข้อมูลใน รพ.มากพอสมควร จากที่ก่อนหน้านั้นจะแฮกข้อมูลกระทรวงกลาโหม ธนาคาร แต่ปัจจุบันการแฮกข้อมูล รพ.เกิดขึ้นมาก แม้แต่ รพ.เปิดใหม่ก็โดนโจมตีด้วยไวรัส และกลายเป็นมัลแวร์ที่ทำให้ระบบไม่เสถียร เพราะฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีใน รพ.เรื่องนี้จะต้องให้ความสำคัญมากๆ
      ปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างมากจากเดิมที่ใช้พาสเวิร์ด  มัลติล็อก สแกนนิ้วมือ แต่เทคโนโลยีล่าสุดคือ การใช้ Facial recognition หรือ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา แพทย์ พยาบาล ต้องใส่หน้ากากอนามัยทำให้สแกนใบหน้าไม่ได้ ก็มีการพัฒนาเป็น Facial recognition with masks ก็มีการพัฒนาระบบป้องกันมากขึ้น
        3.นาโนเมดิซีน  มีทั้งเทคโนโลยีการผลิตยา หุ่นยนต์ตัวเล็กๆ แต่ยังมาไม่ถึงประเทศไทย ในอนาคตจะเข้ามาแน่นอน ส่วนที่เข้ามาแล้ว คือ  precision medicine หรือยาที่แม่นยำ ช่วยรักษาโรคหลายอย่าง เช่น  บางกลุ่มให้ยาตัวนี้ได้ผล  แต่บางกลุ่มให้ยาตัวเดียวกันไม่ได้ผล ก็ต้องมีการทดสอบระดับยีน พบว่ายีนบางอย่าง ประสบความสำเร็จต่อยาบางประเภท
     ดังนั้น การให้ยาในคนไข้แต่ละราย ถ้ารับยามาตรฐานไม่ได้อาจจะต้องทดสอบยีน เพื่อบอกได้ว่ายาที่เหมาะสมคืออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เป็นมะเร็ง มีการให้ยาเฉพาะ หรือ Targeted therapy ซึ่งมีการวินิจฉัยว่ายีนเพื่อบอกว่ายาตัวไหนเหมาะกับผู้ป่วย

   4. Internet of Medicl Things (IoMT) จากเดิมที่เน้น IOTในอุปกรณ์ใช้ในบ้าน แต่ทางการแพทย์ ตอนนี้เครื่องมือแพทย์ชิ้นใหญ่ๆ สามารถเชื่อมต่อกับระบบส่วนกลาง เป็นการควบคุมจากส่วนกลางได้ทั้งหมด  ทั้งการมอนิเตอร์ เครื่องมือวินิจฉัยโรคต่างๆ แต่ต่อไปจะเข้าไปถึงอุปกรณ์ส่วนตัวมากขึ้น เดิมจะแยกเป็นชิ้นๆ เช่น เจาะเลือดที่บ้านหรือหอผู้ป่วยแล้ว เครื่องมือที่เจาะสามารถส่งข้อมูลเข้ามาระบบกลางได้
      ปัจจุบันเครื่องมือเริ่มเชื่อมโยงกันทั้งหมด ทั้งเครื่องมือวัดออกซิเจน มอนิเตอร์ชีพจร การหายใจ จะเข้ามาผ่านระบบที่กำลังพัฒนา คือ Wearable gadgets หรืออุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ อย่างสมาร์ตวอชที่วัดEKG ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลแล้วเชื่อมต่อเข้าระบบของ รพ. โดยผู้รับบริการวัดจากที่บ้านได้  ทำให้การดูแลคนไข้ดีขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องพัฒนาระบบเครือข่ายที่เป็น 5G หรือ6G ให้รองรับการใช้งานอย่างเสถียรมากขึ้น

    5.Teleconsultation และTelemedicine ใช้ทั้งการวินิจฉัยทางไกลโดยที่คนไข้อยู่ที่บ้านก็สามารถเห็นได้ว่ามีชีพจร ความดัน ระดับน้ำตาลรายวัน,  การติดตามคนไข้ทางไกล , การแนะนำการดูแลตัวเองแบบทางไกล ขณะนี้ รพ.หลายแห่งทำทั้งการให้คำปรึกษาทางไกล(Teleconsultation) และ การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้การดูแลมีความสะดวก ลดการเดินทางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     6. BigData คนไข้เข้ามารับบริการใน รพ.ทั้งของรัฐและเอกชน เกือบ 200 ล้านvisitต่อปี  ซึ่งมีข้อมูลอยู่มากมาย แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลเดียวของประเทศได้ ทำให้เสียโอกาสในการวางแผนระบบสาธารณสุข การดูแลป้องกันโรค  เช่น ตอนมีโควิด-19 ถ้ามีระบบฐานข้อมูลเดียวกัน เหมือนธนาคาร หรือกระทรวงมหาดไทย  ก็จะเห็นได้แบบเรียลไทม์ว่าโควิด-19 เกิดที่ไหนและวางแผนจัดการได้ดี

    และ7.VR,AR และMixed Reality in Healthcare จะเข้ามาช่วยในการเรียนรู้ และฝึกอบรมบุคลากร ทำให้มีการพัฒนา การเรียนรู้ และการดูแลรักษาคนไข้ได้มากยิ่งขึ้น 

      นพ.สุนทร กล่าวด้วยว่า โอกาสที่จะทำให้เทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์พัฒนาเข้าถึงทุกคนนั้น หลายเรื่องประเทศไทย ถ้าพัฒนาต่อจะได้ประโยชน์ ยกตัวอย่าง Teleconsultation หรือการปรึกษาทางไกล  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีจำนวนมากในจังหวัดใหญ่  แต่จังหวัดเล็กยังขาดแคลนมาก  บางครั้งกว่าจะได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คนไข้ก็เสียชีวิตแล้ว
 

"ถ้าวางระบบปรึกษาทางไกลได้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อเป็นยูนิตเดียวกันได้ทั่วประเทศ ช่วยให้แพทย์ใน รพ.ขนาดเล็กที่ยังขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ สามารถติดต่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตลอดเวลา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ ก็ช่วยรักษาชีวิตคนไข้ที่อยู่ในระยะวิกฤติได้”นพ.สุนทร กล่าว 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์