โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (ตอนที่ 4,5) | ฐาปนา บุณยประวิตร

โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (ตอนที่ 4,5) | ฐาปนา บุณยประวิตร

คณะกรรมการนโยบาย Medical Hub ที่มี 2 รัฐมนตรีจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานร่วม ได้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติในปี 2569

การประชุมครั้งที่ 2/2565 ได้อนุมัติให้พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย (Thailand Wellness Economic Corridor) ที่เรียกว่า TWC พร้อมให้จัดตั้งเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 9 เขต

 

เพื่อเป็นกลไกเชิงพื้นที่กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายการครองตลาดเวลเนสของโลก ต่อมาในปี 2566 คณะกรรมการกฎบัตรไทยและเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย ได้เสนอรัฐบาลให้รับรองเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นทางการ

วันที่ 16 พ.ค.2566 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ประกาศเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ พร้อมให้คณะกรรมการนโยบาย Medical Hub ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณายุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ

โดยมอบหมายปลัดของทั้งสองกระทรวงร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม

สำหรับเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ 9 เขตตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย

1. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดภูเก็ต มีเขตนวัตกรรมย่อย 4 บริเวณ

2. เขตนวัตกรรมฯ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 1 บริเวณ ซึ่งเขตนวัตกรรมฯ ทั้งสองจังหวัดมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับผิดชอบ

โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (ตอนที่ 4,5) | ฐาปนา บุณยประวิตร

 

 

3. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดชลบุรี มีเขตนวัตกรรมย่อย 3 บริเวณ มีมหาวิทยาลัยบูรพา รับผิดชอบ

4. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดนครราชสีมา มีเขตนวัตกรรมย่อย 3 บริเวณ มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกันรับผิดชอบ

5. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดขอนแก่น 1 บริเวณ มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบ

6. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดอุดรธานี มีเขตนวัตกรรมย่อย 2 บริเวณ มีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี รับผิดชอบ

7. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดเชียงราย มีเขตนวัตกรรมย่อย 2 บริเวณ มีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกันรับผิดชอบ

8. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตนวัตกรรมย่อย 2 บริเวณ มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยพายัพ ร่วมกันรับผิดชอบ 

9. เขตนวัตกรรมฯ จังหวัดนครสวรรค์ มีเขตนวัตกรรมย่อย 2 บริเวณ มีมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ร่วมกันรับผิดชอบ

โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (ตอนที่ 4,5) | ฐาปนา บุณยประวิตร

เพื่อให้เขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพทั้ง 9 เขตเป็นพื้นที่เมืองนวัตกรรมที่สร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง เป็นฐานหลักในการผลิตและบริการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตอบสนองต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์เพื่อครองตลาดการแพทย์และเวลเนสโลก

ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2568-2577) ของเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัยและกฎบัตรไทย จึงเสนองบประมาณจำนวน 1.8 แสนล้านบาท

เพื่อให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์ สุขภาพ การวิจัย การพัฒนา การรับรองมาตรฐาน การยกระดับสมรรถนะบุคลากร

พร้อมทั้งการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานเมือง ด้านการพลังงาน คมนาคมขนส่ง สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการครองส่วนแบ่งตลาดเวลเนสโลกไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ในปี 2577

เขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 9 บริเวณตามประกาศของคณะกรรมการนโยบาย Medical Hub มีบทบาทหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดเวลเนสและการท่องเที่ยวทางการแพทย์ของโลก

โดยโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19

กฎบัตรไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย สนับสนุนงบประมาณวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ออกแบบกิจกรรมเศรษฐกิจเวลเนสและกิจกรรมการแพทย์ในพื้นที่เขตนวัตกรรมฯ เพื่อให้สอดคล้องความต้องการของตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ตามเป้าหมาย 5% ในปี 2570

จากการคาดการณ์ของกรุงไทย Compass (2565) ในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวทางการแพทย์โลกจะมีมูลค่า 273.7 พันล้านดอลลาร์ โดยตลาดเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าสูงสุดที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2562

เมื่อจำแนกตามประเภทการรักษาพบว่า โรคมะเร็งมีมูลค่าการรักษาสูงสุด 56,644 ล้านดอลลาร์ ศัลยกรรมกระดูก 42,167 ล้านดอลลาร์ ศัลยกรรมความงาม 36,817 ล้านดอลลาร์

โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (ตอนที่ 4,5) | ฐาปนา บุณยประวิตร

การรักษาภาวการณ์มีบุตรยาก 32,150 ล้านดอลลาร์ การรักษาหัวใจและหลอดเลือด 30,521 ล้านดอลลาร์ การรักษาระบบประสาท 27,639 ล้านดอลลาร์ ทันตกรรม 21,456 ล้านดอลลาร์ และการรักษาพยาบาลอื่นๆ อีก 24,876 ล้านดอลลาร์

ในการออกแบบกิจกรรมเศรษฐกิจของเขตนวัตกรรมการแพทย์ฯ ได้บูรณาการขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของบุคลากรของแต่ละมหาวิทยาลัยและหน่วยวิจัย เข้ากับเป้าหมายการแบ่งส่วนตลาดการท่องเที่ยวทางการแพทย์ของโลก

ดังจะเห็นได้จากการกำหนดบทบาทและความเชี่ยวชาญของ 9 เขตนวัตกรรมฯ ที่ได้รับการออกแบบให้แตกต่างกัน โดยมุ่งให้แต่ละเขตมีความเชี่ยวชาญ ความเป็นเลิศ พุ่งเป้าการผลิตและการบริการไปยังตลาดการแพทย์เฉพาะสาขา ดังตัวอย่างบทบาทจาก 5 เขตนวัตกรรมฯ

เขตนวัตกรรมการแพทย์ฯ จังหวัดภูเก็ตและหาดใหญ่ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเชี่ยวชาญและความเลิศด้าน Medical & Wellness ในสาขา Innovative medicine, holistic care, Thai traditional medicine, nursing home & rehabilitation, international clinical research พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์กลางทันตกรรมของโลกและ Global leader in hydrotherapy

เขตนวัตกรรมการแพทย์ฯ จังหวัดขอนแก่น โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความเชี่ยวชาญและความเลิศด้านนวัตกรรมการแพทย์เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการชะลอวัยและความงาม

มุ่งเป้าไปเป็น Advance medical innovative center for age reversal and health wellness พร้อมการเป็นศูนย์กลางของ Anti-aging, aesthetic and cosmetic wellness (Anti-aging and cosmetic hub/plastic surgery/rejuvenate center, skin and beauty center, DNA repairing, cellular therapy)

เขตนวัตกรรมการแพทย์ฯ จังหวัดเชียงราย โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศตอบโจทย์การเป็น Excellent center of modern medicine and creative wellness tourism โดดเด่นด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย การฟื้นฟูสุขภาพ การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพนักกีฬา

การรักษาโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก จักษุวิทยา มะเร็งเต้านม รวมการแพทย์แม่นยำเฉพาะบุคคลและภูมิคุ้มกันบำบัดระดับเซลล์ พร้อมเป็นเลิศด้านระบบประสาทและสมอง รวมทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

เขตนวัตกรรมการแพทย์ฯ จังหวัดนครราชสีมา โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มีความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศด้านการรักษามะเร็งเฉพาะที่ (Targeted therapy)-BNCT รวมการรักษามะเร็งลักษณะ Immunological therapy

การผ่าตัดกระดูกและข้อ ที่สำคัญ เขตนวัตกรรมแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ขนาดใหญ่ของโลกในอนาคต

บทความตอนต่อไป จะแสดงให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แต่ละเขตกำหนดเป้าหมายไว้ ซึ่งจะเป็นมูลค่าจากการผลิตทางตรงหรือจากการก่อสร้างและการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ พร้อมทั้งผลผลิตที่ได้จากการดำเนินการตามแผนในระยะ 10 ปี

คอลัมน์ Wellness Districts Focus

ฐาปนา บุณยประวิตร

นายกสมาคมการผังเมืองไทย

เลขานุการกฎบัตรไทย

[email protected]