โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (3) | ฐาปนา บุณยประวิตร

โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (3) | ฐาปนา บุณยประวิตร

ต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่สนับสนุนขีดความสามารถของไทย ประกอบด้วย 4 ฐานหลัก ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ, การฝึกอบรมโดยบุคลากรคุณภาพสูง, บริการทางการแพทย์และสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชน

ส่วนฐานที่ 4 อุตสาหกรรมการแพทย์และกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน ได้แก่ ยาและชีวเภสัชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ อาหารทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้นำเสนอไปแล้วในส่วนของอุตฯยาและชีวเภสัชภัณฑ์

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ปี 2562 มีมูลค่าตลาด 463.7 พันล้านดอลลาร์ กรุงไทย Compass (2565) คาดการณ์ในปี 2580 มูลค่าตลาดประมาณ 744.1 พันล้านดอลลาร์ เติบโต 6.1%

สำหรับไทยมูลค่าตลาดในปี 2562 เท่ากับ 1,809.6 ล้านดอลลาร์ ประมาณการในปี 2580 มูลค่า 3,381.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 ไทยส่งออกเครื่องมือแพทย์เป็นอันดับที่ 19 ของโลก

ส่วนวัสดุด้านการแพทย์ ที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากส่งออกเป็นอันดับที่ 15 ของโลก หากจำแนกตามสาขาย่อยพบว่า ไทยส่งวัสดุทางการแพทย์ในสัดส่วนที่มากที่สุด 92% ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 7% และน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค 1%

ตามเป้าหมายหลักของ BCG Model ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์คือ เพิ่มการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์จากบัญชีนวัตกรรมของไทยอย่างน้อย 30% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรมและการผลิตในประเทศ

หรือสร้างรายได้หรือผลบวกทางเศรษฐกิจประมาณ 4 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี (พ.ศ.2564-2568)

อุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ Global Medical Foods Market (2022) รายงานว่า ในปี 2565 ตลาดมีมูลค่า 19.56 พันล้านดอลลาร์ คาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดจะมีมูลค่า 26.55 พันล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ย 6.3% ระหว่างปี 2565-2570

โอกาสครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (3) | ฐาปนา บุณยประวิตร

องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แบ่งอาหารทางการแพทย์ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย nutritious full products, nutritionally incomplete Products, metabolic deficiency formulations และ oral rehydration solutions

ไทยอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาทั้ง 4 กลุ่ม โดยสองกลุ่มแรกมีการลงทุนผลิตแล้วในพื้นที่ภาคเหนือ

อุตสาหกรรมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (2565) รายงานว่า ปี 2564 การค้าปลีกตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกมีมูลค่า 54,957 ล้านดอลลาร์

ตลาดเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหรือมีมูลค่า 31,933 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นตลาดอเมริกาเหนือ 8,639 ล้านดอลลาร์ ยุโรปตะวันตก 8,616 ล้านดอลลาร์ และลาตินอเมริกา 2,581 ล้านดอลลาร์

มูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทย ในปี 2564 ที่ 45,646 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์บำรุงกำลังมีความต้องการลดลง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทเสริมอาหารมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น จากการคาดการณ์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี 2569 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 59.5 พันล้านบาท

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ในกลุ่ม plants and part of plants ไทยส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุดที่ 144.83 ล้านบาทในปี 2564 อัตราการขยายตัว 2.2% รองลงมาเป็นตลาดญี่ปุ่นที่ 94.70 อัตราการขยายตัว 9.83%

ส่วนสมุนไพรกลุ่ม vegetable saps and extracts ไทยส่งออกไปยังเมียนมาสูงสุดที่ 112.60 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 46.61% รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ 69.61 ล้านบาท อัตราการขยายตัว -32.35% อันดับที่สามสหรัฐที่ 26.76 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 160.88%

จะเห็นได้ว่า ฐานหลักทั้ง 4 ฐาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทั้ง 4 สาขา ไม่นับรวมอุตสาหกรรมประกันสุขภาพและอุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนา การลงทุนในไทยอยู่ในภาวะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกับตลาดโลก

อุตสาหกรรมนี้กำลังถูกแปลงให้เป็นเสาหลักของโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสุขภาพที่จะหนุนเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว มีศักยภาพและขีดความสามารถสูงในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศ

สำหรับบทความในตอนต่อไปจะกล่าวลงลึกการพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพจำนวน 9 บริเวณ พร้อมด้วยกลไกผลักดันให้เกิดความสมบูรณ์ของนิเวศและซัพพลายเชน นำไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพของโลก

คอลัมน์ Wellness Districts Focus

ฐาปนา บุณยประวิตร

นายกสมาคมการผังเมืองไทย

เลขานุการกฎบัตรไทย

[email protected]