สธ. เผย 'โนโรไวรัส' จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือราว 300 ราย

สธ. เผย 'โนโรไวรัส' จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือราว 300 ราย

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เผย สถานการณ์ "โรคอุจจาระร่วง" ระบาดใน จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น พบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือ 376 ราย ผลตรวจหาเชื้อ 75% พบ "โนโรไวรัส"

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ "อุจจาระร่วง" จังหวัดภูเก็ต ว่า หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ทีมสอบสวนควบคุมโรคจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกปฏิบัติการควบคุมโรคในจุดต่างๆ

พร้อมทั้งติดตามสอบสวนโรคหาสาเหตุ และยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) "โรคอุจจาระร่วง" เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนควบคุมการระบาด โดยพบผู้ป่วยอุจจาระร่วงในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 จำนวน 383 ราย และเพิ่มขึ้นจนสูงสุดในวันที่ 9 มิถุนายน จำนวน 1,238 ราย จากนั้นผู้ป่วยเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยวันที่ 10 มิถุนายน พบผู้ป่วย 808 ราย วันที่ 11 มิถุนายน 659 ราย วันที่ 12 มิถุนายน 529 ราย ล่าสุดวันที่ 13 มิถุนายน 376 ราย

สธ. เผย \'โนโรไวรัส\' จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือราว 300 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนโรคพบกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด ร้อยละ 26.23 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 19.20 กลุ่มอายุ 34-44 ปี ร้อยละ 14.12 กลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 10.76 และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 10.44 ตามลำดับ ผู้ป่วยอายุน้อยสุดคือ 28 วัน และมากสุด 98 ปี

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง มีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพียง ร้อยละ 13.32 จากการเก็บตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเป็น "โนโรไวรัส" ร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 ตรวจไม่พบเชื้อ สำหรับผลการตรวจโรงน้ำแข็ง 6 แห่งของ จ.ภูเก็ต และโรงผลิตน้ำดื่ม 3 แห่งใหญ่ ที่จำหน่ายในจังหวัด พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานส่วนผลตรวจน้ำและน้ำแข็งไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค

นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ในการเฝ้าระวังควบคุมโรคยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยให้โรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต ค้นหาและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจน พร้อมลงพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย เช่น ร้านอาหาร คอนโดที่พักผู้ป่วย ชุมชนที่พบผู้ป่วยใหม่หลายราย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยส่งตรวจ รวมถึงตรวจสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลอาหาร นอกจากนี้จะติดตามตรวจคลอรีนในแหล่งผลิตน้ำประปา และแจ้งให้โรงแรมเติมคลอรีนในน้ำใช้ รวมทั้งประสานท้องถิ่นเรื่องการเพิ่มคลอรีนในระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งสาธารณะด้วย