ส่อง'ศูนย์จักษุ บำรุงราษฎร์' รักษา 'โรคตา'ไร้รอยต่อแม้ซับซ้อน 

ส่อง'ศูนย์จักษุ บำรุงราษฎร์' รักษา 'โรคตา'ไร้รอยต่อแม้ซับซ้อน 

ทั่วโลกคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น กว่า 50% เป็นปัญหาเกี่ยวกับดวงตาที่สามารถป้องกันหรือยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งที่เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถดูแลรักษา 'โรคตา'ได้แม้จะมีความซับซ้อน อย่างแนวทางของ Eye Excellence Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

Keypoints: 

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานประชากรโลก 2.2 พันล้านคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ในจำนวนนี้กว่า 50% เป็นปัญหาโรคตาที่สามารถป้องกันได้หรือยังไม่ได้รับการแก้ไข
  • แนวทางการดูแลและรักษาโรคตา ซึ่งเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด จนถึงผู้สูงอายุ มีหลากกลายรูปแบบ และบางภาวะจะต้องมีการใช้แพทย์ผูู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1 สาขา 
  •   ปี 2565 ของศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อัตราความสำเร็จของการผ่าตัดเกี่ยวกับโรคตาโดยเฉลี่ยสูงกว่า 90% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในระดับสากล 

      ปี 2563 มีประชากรโลก 1.1 พันล้านคนสูญเสียการมองเห็น โดยคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้นอีก 600 ล้านคน เป็น 1.7 พันล้านคน
     ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  กล่าวว่า Eye Excellence Center ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความพร้อมในการดูแลรักษาทุกโรคเกี่ยวกับดวงตาในทุกช่วงวัย ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มอาการทั่วไปจนถึงกลุ่มอาการที่มีความซับซ้อน รวมถึงผู้ที่ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินและกระทบต่อใบหน้าหรือดวงตาอย่างรุนแรง โดยมีจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการในแต่ละด้าน (Sub-specialties) เช่น จักษุแพทย์เฉพาะทางโรคกระจกตา โรคของจอตา โรคของกล้ามเนื้อตา เนื้อเยื่อรอบดวงตาและเบ้าตา

       และในกรณีที่มีความซับซ้อนของโรคอื่นร่วมด้วย จักษุแพทย์จะให้การรักษาร่วมกันกับทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางศูนย์อื่นๆ เช่น แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม, แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา ทีมเภสัชกรและทีมสหสาขาวิชาชีพ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์การรักษามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
       "การตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดวงตาและการป้องกันก่อนเกิดโรคตา เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญและซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้การดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งการมองเห็นที่ดีตามช่วงวัยที่เหมาะสม"ภญ.อาทิรัตน์กล่าว 

ส่อง\'ศูนย์จักษุ บำรุงราษฎร์\' รักษา \'โรคตา\'ไร้รอยต่อแม้ซับซ้อน 

โรคจอตา-เสี่ยงตาบอด

       พญ. เมทินี ศิริมหาราช หัวหน้าศูนย์จักษุและจักษุแพทย์เฉพาะทางโรคจอตาและน้ำวุ้นตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การนำความรู้ความชำนาญการของแพทย์แต่ละท่าน รวมถึงจุดแข็งของแพทย์ในแต่ละสาขามาไว้รวมกันและทำงานร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้กระบวนการการรักษาเกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์หลังการรักษาได้อย่างดีที่สุด ส่วนนี้จะช่วยเอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคยาก หรือโรคที่ซับซ้อน 

  หากป่วยเป็นโรคของจอตาหลาย ๆ โรคที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ เพราะจอประสาทตาเป็นอวัยวะที่เมื่อเสื่อมหรือเสียหายไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ได้เหมือนกระจกตา โดยโรคของจอประสาทตาที่พบบ่อย ได้แก่ จอตาฉีกขาดหลุดลอก จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เบาหวานขึ้นจอตาในผู้ป่วยเบาหวาน โรคจอประสาทตาเสื่อมจากพยาธิสภาพของจอตาเอง มักเป็นแต่กำเนิด เช่น จอประสาทตาบางกว่าปกติ มีรูขาด หลุดลอก หรือเสียหายจากภาวะสายตาสั้นมาก

โรคตาในเด็กคลอดก่อนกำหนด

      กรณีที่คุณแม่คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ หรือน้ำหนักตัวลูก ไม่ถึง 1,500 กรัม พญ.ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์ จักษุแพทย์เฉพาะทางโรคกล้ามเนื้อตาและโรคตาในเด็ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า เด็กในกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่การเจริญเติบโตของเส้นประสาท และเส้นเลือดในจอประสาทตาเกิดเป็นเส้นเลือดที่ผิดปกติ อาจทำให้มีเลือดออกที่จอประสาทตาหรือจอประสาทตาหลุดลอก หรือเป็นพังผืดได้

       บำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ชำนาญการในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) หรือ กุมารแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับจักษุแพทย์จะมีการมอนิเตอร์และประเมินพัฒนาการในการมองเห็นและความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่ได้รับการดูแลรักษาในช่วงเวลาที่กำหนด ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร 

      แนวทางการรักษาในกรณีทารกมีโรคจอตาผิดปกติอันเกิดจากการคลอดก่อนกำหนดมีหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ การฉีดยาเข้าไปยับยั้งการเจริญผิดปกติของเส้นเลือดในจอประสาทตา และการผ่าตัดจอประสาทตา นอกจากนี้ เด็กกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะสายตาสั้น ตาเข ตาเหล่ตามมาภายหลังได้มากกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนด จักษุแพทย์โรคตาเด็กจะรับช่วงดูแลต่อและมีการตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดผลเสียต่อดวงตาของเด็กในระยะยาวหรือบรรเทาความรุนแรงหรือความซับซ้อนของโรคได้

ส่อง\'ศูนย์จักษุ บำรุงราษฎร์\' รักษา \'โรคตา\'ไร้รอยต่อแม้ซับซ้อน 

เลนส์แบบใหม่ชะลอสายตาสั้นเด็ก 

     ในเด็กที่โตขึ้น มักจะพบ ‘โรคสายตาสั้นในเด็ก’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเปลี่ยนแปลงเร็วและพบในอายุที่น้อยลง เด็กบางรายสายตาสั้นตั้งแต่ขวบกว่า ส่วนหนึ่งมาจากเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีเด็กหลายรายที่สายตาทั้งสองข้างสั้นไม่เท่ากันและมีค่าสายตาต่างกันมาก และมีความเสี่ยงโรคสายตาขี้เกียจ ซึ่งการที่สายตาสั้นไม่ใช่เพียงรอการแก้ไขด้วยเลสิคเท่านั้น แต่สายตาสั้นที่มากขึ้นจะมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงภายในตาและความเสี่ยงของโรคตา โดยเฉพาะโรคจอตาที่มากขึ้น ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญและพาบุตรหลานมาตรวจเช็คสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อหาแนวทางการป้องกันและรักษาเพื่อชะลอภาวะสายตาสั้นได้ 
      การรักษาและการป้องกันโดยอ้างอิงจากงานวิจัยสากลเรื่องสายตาสั้นที่มีทั่วโลกในขณะนี้ เช่น การรักษาด้วยยา low- dose atropine eyedrops และเลนส์แว่นตาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยชะลอสายตาสั้นในเด็ก ซึ่งบางคนต้องใช้และบางคนไม่ต้องใช้ โดยจักษุแพทย์ตาเด็กจะเป็นผู้ตรวจ ให้ข้อมูลแนะนำในแต่ละรายที่มีความแตกต่างกันไป นอกจากนี้ โรงพยาบาลฯ ได้มีงานวิจัยต่อยอดที่ได้รับการยอมรับจากสากลเกี่ยวกับการการพัฒนายาหยอดตาในกลุ่มนี้ เพื่อให้คนไข้ได้รับประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

ReLExSMILE รักษาสั้น-เอียง 

     พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปัญหาสายตาสั้นและสายตาเอียง และต้องการแก้ไขด้วยรีเล็กสมายส์ (ReLEx SMILE) เหมาะกับผู้ที่มีข้อจำกัดของความหนาของกระจกตา แต่คนไข้มักจะคิดว่ามาตรวจแล้วสามารถรักษาได้ในวันเดียวกัน แต่อันที่จริงการรักษามีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น แพทย์ต้องประเมินอาการหรือสาเหตุของปัญหาที่อาจเกิดร่วมกันได้ บางรายมีความซับซ้อนมาก แพทย์ต้องประสานและปรึกษาร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงค่อยทำ ReLEx SMILE เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ
       "ReLEx SMILE เป็นการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติต่อยอดมาจากเลสิค ไม่มีฝากระจกตาจึงไม่ต้องกังวลเรื่องภาวะแทรกซ้อนจากการแยกชั้นฝากระจกแบบเลสิค ซึ่งอาจเกิดขณะผ่าตัดหรือฝากระจกตาเคลื่อนหลังผ่าตัด โดยReLEx SMILE เป็นเทคนิคที่ใช้เลเซอร์ปราศจากใบมีด เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก2-4มิลลิเมตร รบกวนเส้นประสาทบริเวณกระจกตาน้อย เป็นผลให้ตาแห้งน้อย สามารถแก้ไขสายตาสั้นได้ถึง 1000 และสายตาเอียงได้ถึง 500 " พญ. ฐาริณีกล่าว

ส่อง\'ศูนย์จักษุ บำรุงราษฎร์\' รักษา \'โรคตา\'ไร้รอยต่อแม้ซับซ้อน 

ศัลยกรรมตกแต่งรอบตา 
     ด้าน นพ.ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ด้านเปลือกตา ท่อน้ำตา และเบ้าตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ให้ข้อมูลว่า กรณีไทรอยด์ขึ้นตา ตาโปน ท่อน้ำตาอุดตัน หนังตาตก หนังตาม้วนเข้าใน/ม้วนออกนอก รวมถึงอุบัติเหตุทางตา และอื่นๆ
ศูนย์จักษุให้บริการครอบคลุมในด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง โดยแพทย์จะดูแลรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคเบ้าตาและศัลยกรรมตกแต่งรอบดวงตา  ช่วยให้ตาที่โปนยุบได้ และทำการรักษาให้มีใบหน้าและดวงตากลับมาใกล้เคียงปกติดีได้ 

ปลูกถ่ายกระจกตา 

รศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ประธานชมรมกระจกตาและการแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทย และจักษุแพทย์เฉพาะทางโรคกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  กล่าวว่า ก่อนที่คนไข้จะปลูกถ่ายกระจกตาได้นั้น แพทย์ต้องมีการซักประวัติและตรวจสุขภาพผู้ป่วยอย่างละเอียด ตรวจสุขภาพตาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปลูกถ่ายกระจกตา เช่น ต้องดูว่ามีภาวะต้อหิน ดูประสาทตาและจอตา ความดันลูกตา มีตาแดง มีการติดเชื้อหรือไม่ ต้องเตรียมสภาพผิวตาให้มีความพร้อมที่จะปลูกถ่ายกระจกตา เนื่องจากการอักเสบต่าง ๆ จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านของเนื้อเยื่อได้ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่สอดประสานกันของจักษุแพทย์เกือบทุกแขนง และต้องปรึกษาร่วมกันในแต่ละรายว่าสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาได้หรือไม่ 
         "บำรุงราษฎร์มีการทำงานร่วมกับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย และศูนย์ดวงตานำเข้าจากต่างประเทศที่ได้การรับรองมาตรฐานขั้นสูง โดยมีการตรวจสอบคุณภาพกระจกตาที่จะนำมาเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย มีความใส คุณภาพดี ไม่มีโรคที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาภายหลังการผ่าตัด"รศ.พญ.งามจิตต์กล่าว 

ผ่าตัดกระจกตาเสื่อม-ต้อกระจกในครั้งเดียว 

      รศ. พญ. งามจิตต์ กล่าวอีกว่า ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สามารถทำการรักษาโรคกระจกตาเสื่อมและต้อกระจกได้ในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยลักษณะนี้ถ้าทำการรักษาแบบผู้ป่วยต้อกระจกทั่วไป อาจจะทำให้กระจกตาเสียได้ ดังนั้น ก่อนการรักษาแพทย์จะวางแผนร่วมกันและวิเคราะห์ผู้ป่วยแต่ละรายว่าเหมาะสมกับการรักษาพร้อมกันหรือไม่ โดยแพทย์จะอธิบายถึงวิธีการรักษาและให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจว่าต้องการรักษาแบบใด ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถทำหัตถการได้พร้อมกันถึง 2 โรค ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญการและประสบการณ์ของแพทย์อย่างมาก ทั้งนี้แพทย์แต่ละแขนงต้องทำงานร่วมกันได้แบบไร้รอยต่อจริงๆ