สิ่งที่น่าจะเป็นเหตุ ตรวจเจอ “เมทแอมเฟตามีนในฉี่”นักเรียน

สิ่งที่น่าจะเป็นเหตุ ตรวจเจอ “เมทแอมเฟตามีนในฉี่”นักเรียน

อย.เผยเก็บตัวอย่างส่งตรวจแล็ป รู้ผลใน 1 สัปดาห์ นักเรียนสอบติดคณะเภสัชตรวจเจอ “เมทแอมเฟตามีน”ในปัสสาวะ พร้อมเผยเหตุที่อาจทำให้ผลออกมาดังกล่าว ส่วนเจ้าตัวบอกกินแต่อาหารเสริมอ้างผิวขาว

     จากรณีการตรวจพบสารเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะ นักเรียนวัย 19 ปี ที่มีการตรวจร่างกายเพื่อเตรียมเข้าเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ทำให้ไม่ผ่านการตรวจโรคเข้าศึกษา ซึ่งมารดาเด็กเชื่อว่าน่าจะมาจากยาทำให้ผิวขาวนั้น

          เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า  เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2566 อย. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าไม่ใช่ยาแต่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่งที่เพื่อนแนะนำให้ใช้ และมีการซื้อผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งผู้เสียหายระบุว่าซื้อมาเพื่อช่วยทำให้ผิวขาว ราคากระปุกละ 80 กว่าบาท ผู้เสียหายซื้อมา 2 กระปุก และขณะนี้ทานอาหารเสริมชนิดนี้เพียงอย่างเดียว จึงต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม
        “ส่วนตัวเชื่อว่าเด็กที่สอบติดคณะดังกล่าว ต้องตั้งใจเรียน ก็คงไม่ไปใช้ยาเสพติด ส่วนจะใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ผู้เสียหายก็ยืนยันว่าใช้เพียงอาหารเสริมตัวนี้  กินบ้างไม่กินบ้าง แต่คืนก่อนที่จะไปตรวจร่างกายกินไป 1 เม็ด ซึ่งต้องไปตรวจสอบดูว่า สารดังกล่าวจะสามารถตกค้างอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน เพราะโดยปกติแล้วจะถูกขับออกทางปัสสาวะ”ภก.วีระชัยกล่าว   

   ภก.วีระชัย กล่าวด้วยว่า  จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวได้มีการขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ถูกต้อง แต่ขอไม่เปิดเผยชื่อ มีโรงงานผลิตใน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยรายละเอียดส่วนประกอบที่จดแจ้ง พบเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไป ไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างเรื่องผิวขาว  เป็นเพียงอาหารเสริม จึงไม่น่าจะมีส่วนผสมของเมทแอมเฟตามีน แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าลดความอ้วน ก็อาจมีโอกาสพบเมทแอมเฟตามีนได้ เพราะจะทำให้คนที่กินรู้สึกตื่นตัว ลดความอยากอาหารก็จะทำให้น้ำหนักลด เหมือนที่เห็นผู้เสพยาบ้าเป็นประจำก็จะมีรูปร่างผอม นั่นคืออาการข้างเคียงของเมทแอมเฟตามีน ก็อาจเกิดจากการปนเปื้อนได้ถ้าหากโรงงานดังกล่าวผลิตอาหารเสริมที่อ้างว่าลดความอ้วน ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฏหมาย

          ในส่วนของการตรวจที่ผู้เสียหายระบุว่า ไปตรวจที่ รพ. แล้วใช้ชุดตรวจเบื้องต้น หรือเรียกว่า เทสคิท (TestKit) ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลบวกลวง หมายความว่าจริงๆ แล้วไม่ได้พบสารเคมี แต่กลับได้ผลบวก การตรวจเบื้องต้นก็มีโอกาสได้ผลลวง ซึ่งเจอบ่อยครั้งกับยาลดน้ำมูก ที่ตรวจแล้วก็เจอสารซูโดอีเฟดรีน ที่ถือเป็นยาเสพติด การตรวจเบื้องต้นด้วยเทสคิท จึงไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีได้ ต้องใช้ผลจากห้องแล็ปเท่านั้น

     “อย. ได้ขอความร่วมมือกับผู้เสียหายในการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นครราชสีมา โดยใช้วิธีการมาตรฐาน จะทราบผลประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งถ้าผลตรวจนี้ไม่พบก็แปลว่าผลตรวจที่ได้มาก่อนหน้านี้เป็นผลบวกลวง”ภก.วีระชัยกล่าว 

      ผู้สื่อข่าวถามว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นของกลางอาจเป็นสินค้าปลอมที่มีลักลอบผสมสารแปลกปลอม  ภก.วีระชัย กล่าวว่า การปลอมสินค้าก็เกิดขึ้นในสังคม แต่ตนตั้งข้อสังเกตว่าราคาสินค้าถูก กระปุกละเพียง 80 บาท คงไม่ได้มีใครมาปลอม เพราะส่วนใหญ่คนจะปลอมในส่วนของที่ขายดีและราคาแพง แต่ในส่วนของข้อเท็จจริงก็ยังไม่สามารถทราบได้