เปิดปัจจัย-ข้อต้องระวัง ผู้ใหญ่เสียชีวิตจาก'ไข้เลือดออก'สูงกว่าเด็ก

เปิดปัจจัย-ข้อต้องระวัง ผู้ใหญ่เสียชีวิตจาก'ไข้เลือดออก'สูงกว่าเด็ก

'ไข้เลือดออก'ยอดพุ่ง เสียชีวิตแล้ว 17 ราย คาดมิ.ย.ผู้ป่วยสูงมากขึ้นอีก เหตุเข้าหน้าฝนช่วงระบาดตามฤดูกาล  พบผู้ใหญ่เสียชีวิตมาก ปัจจัยเสี่ยงอ้วน-วินิจฉัยล่าช้า-ซื้อยากินเอง

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าสถานการณ์ โรคไข้เลือดออก จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก  ตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 มีผู้ป่วยไข้เลือกออกแล้ว 16,650 ราย มากกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่า เสียชีวิต 17 ราย  โดยเฉพาะการเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งโรคไข้เลือดออกมีการระบาดตามฤดูกาลคล้ายโควิด-19 คาดว่าเดือนมิ.ย.จะมีผู้ป่วยขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายตามบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ต่างๆ ปีนี้ พบว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก บางสถานการณ์มีมากกว่า 50% กลุ่มที่มีลูกน้ำยุงลายสูง คือ โรงเรียน วัด สถานที่ราชการ และโรงงาน โดยจะแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการสำรวจลูกน้ำยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

การเสียชีวิตพบในผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งเดิมเข้าใจว่าจะเป็นเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปีหรือเด็กโตเป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้ใส่ใจระมัดระวังกลุ่มนี้ อัตราการเสียชีวิตจึงลดน้อยลง ระยะหลังผู้ใหญ่ที่คิดว่าโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกมีน้อย แต่กลับพบเป็นมากขึ้น มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ภาวะอ้วนทำให้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก การวินิจฉัยล่าช้า บุคลากรทางการแพทย์เองและผู้ป่วยที่เป็นไข้ ส่วนใหญ่จะนึกถึงโควิด-19 แต่ลืมนึกถึงไข้เลือดออก

"บางครั้งไปกินยาที่ทำให้อาการไข้เลือดออกรุนแรงมากขึ้น เช่น ยากลุ่มเอ็นเสด แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ดังนั้น ถ้ามีอาการไข้สงสัยให้ปรึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่าซื้อยากินเอง ยาที่อาจเป็นอันตรายทำให้เลือดออกง่ายขึ้น จะช่วยลดการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก"นพ.โอภาสกล่าว  

ถามถึงกรณีนางกิ๊ป ตันน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียชีวิตจากไข้เลือดออก หลังมีการร้องเรียนการวินิจฉัยรักษาล่าช้า  นพ.โอภาส กล่าวว่า มอบทีมงานไปสอบสวนดูว่าเกิดจากอะไร เพราะจะมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม อาการโรคไข้เลือดออกช่วงแรกๆ จะเหมือนกับโรคอื่นหลายโรค ทั้งโควิด ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู

“ถ้ามาครั้งแรกจะไม่มีใครวินิจฉัยได้ ถ้ามาครั้งแรกแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้กลับไปพบแพทย์คนเดิม เพราะบางครั้งมีการเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ก็คงต้องดูทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกัน และต้องย้ำเตือนโรคไข้เลือดออกจริงๆ ระยะแรกไม่ใช่โรคที่วินิจฉัยได้ง่าย ต้องให้ความใส่ใจและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะย้ำเตือนและมีหนังสือสั่งการไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ใส่ใจเรื่องไข้เลือดออกเพิ่มเติม”.นพ.โอภาสกล่าว 
//////////