อัปเดต ติด'โควิด-19'มีอาการ ช่องทางเข้ารพ.แบบ'รักษาฟรี'

อัปเดต ติด'โควิด-19'มีอาการ  ช่องทางเข้ารพ.แบบ'รักษาฟรี'

โควิด-19 หลังสงกรานต์แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อัปเดตแนวทางการรักษา และช่องทางการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลกรณีป่วยมีอาการ แบบรักษาฟรี

 Keypoint :

  • สถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์แนวโน้มผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยเพิ่มขึ้น แต่เป็นระลอกสั้นๆ พร้อมกับกรณีสายพันธุ์กลายพันธุ์ล่าสุด XBB.1.16
  • แนวทางการรักษายังแบ่งผู้ติดเชื้อเป็น 4 กลุ่มเช่นเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในเรื่องของการให้ยาต้านไวรัสและLAAB ในกลุ่มผู้ป่วยที่ 3
  • ช่องทางการเข้ารับการรักษาหากติดโควิด-19แล้วมีอาการป่วย  สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรีตามสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐของแต่ละคน ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง

สถานการณ์โควิด-19

    นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  คาดการณ์แนวโน้มโควิด-19ตั้งแต่ต้นปี แนวโน้มของโรคใกล้เคียงปี 2565 โดยหลังสงกรานต์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นระลอกเล็กและเพิ่มอีกครั้งช่วงฤดูฝน กลางเดือนพ.ค.  และมีลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งตัวเลขโควิดสัปดาห์ที่ผ่านใกล้เคียงที่คาดการณ์ ส่วนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยังต้องติดและให้การดูแลผู้เข้ารับการรักษา เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงและป้องกันเสียชีวิต

สายพันธุ์โควิด-19ในไทย 

    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า  ข้อมูลสายพันธุ์โควิดในไทย ระหว่างวันที่ 8 – 14 เม.ย. 2566 พบ

  • XBB มากที่สุด 30 %
  • XBB.1.5 คิดเป็น 27.5 %
  • XBB.1.9.1 คิดเป็น 15%
  • XBB.1.16 คิดเป็น 10 % 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  สายพันธุ์ XBB.1.16 องค์การอนามัยโลก(WHO) รายงานว่า ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่า XBB.1.16 ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค ยังต้องติดตามต่อไป แต่ตอนนี้อาการป่วย จะไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น

"ส่วนที่มีรายงานในประเทศอินเดียพบว่าเด็กเล็ก มีอาการตาแดง คันตา รวมถึงตาลืมยาก ไม่มีหนองนั้น เป็นอาการที่พบได้แต่ไม่มีข้อมูลว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการทางตามากน้อยอย่างไร แต่อาการสำคัญคือ เป็นไข้ ที่มีอินโฟกราฟิกออกมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย แยกอาการจากโควิดต่างสายพันธุ์ เช่น ตาแดงไม่มีไข้ แสดงว่าเป็น ซึ่งอาจไม่ใช่ การมีอาการตาแดงหรือไม่มีย่อมไม่ได้หมายความว่าเป็น XBB.1.16” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อัปเดต ติด\'โควิด-19\'มีอาการ  ช่องทางเข้ารพ.แบบ\'รักษาฟรี\' แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

       พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์  กล่าวว่า   แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในรพ. กรณีโรคโควิด-19 ฉบับล่าสุด วันที่ 18 เม.ย.2566 ได้มีมีการปรับเปลี่ยนกลุ่มเดียว คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน

 กลุ่มทื่มีปัจจัยสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่

1.อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

2.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ

3.โรคไตเรื้อรัง

4.โรคหัวใจและหลอดเลือด

5.โรคหลอดเลือดสมอง 

6.โรคมะเร็ง(ไม่รวมมะเร็งที่รักษาหายแล้ว)

7.เบาหวาน

8.ภาวะอ้วน

9.ตับแข็ง

10.ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิ) และ11.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
        คำแนะนำในการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเดียวที่มีการปรับเปลี่ยน  โดยให้เลือก 1 ชนิดตามลำดับ คือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์(แพ็กซ์โลวิด) หรือเรมดิซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ หรือLAAB โดยเริ่มพิจารณาให้ยานับจากวันที่เริ่มมีอาการ

ข้าราชการ-ประกันสังคม รักษาตามสิทธิ
     ผู้ติดโควิด-19 ที่มีอาการป่วยหรือต้องการเข้ารับการรักษาในรพ. หากอยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการหรือประกันสังคม สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ฟรี ในสถานพยาบาลที่มีสิทธิอยู่
ติดโควิด-19สิทธิบัตรทอง 

        กรณีผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ มีไข้อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ตรวจ ATK และหากขึ้น 2 ขีดผลเป็นบวก ให้เข้ารับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบบริการที่ สปสช. ดำเนินการรองรับไว้

       กรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียวอาการเล็กน้อย เข้ารับบริการ ดังนี้

1.ร้านยาคุณภาพของฉันให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย ขั้นตอนการรับบริการ ให้ญาติผู้ป่วยเดินทางไปที่ร้านยาที่เข้าร่วม พร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วยเพื่อใช้ยืนยันการรับบริการ จากนั้นเภสัชกรประจำร้านยาจะวีดีโอ คอล (VDO call) กับผู้ป่วยเพื่อซักถามอาการและในกรณีที่มีการจ่ายยา เภสัชกรจะแนะนำวิธีการใช้ยาด้วย พร้อมกับจ่ายยาโดยให้ญาตินำกลับไปให้ผู้ป่วย  ตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197

2.พบแพทย์ออนไลน์ ส่งยาฟรีถึงบ้าน ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน ผู้ป่วยจะได้รับการซักถามและจ่ายยาตามอาการ (หากอาการเข้าเกณฑ์จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์) ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถเลือกรับบริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันสุขภาพ คือ

  • Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) Line ID : @totale https://lin.ee/a1lHjXZn หรือสายด่วน 0620462944, 0618019577
  • แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic
  • แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวเฉพาะพื้นที่ กทม. (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp
  • แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็มดี) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว เฉพาะพื้นที่ กทม.  (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี : @Sooksabaiclinic
  • อัปเดต ติด\'โควิด-19\'มีอาการ  ช่องทางเข้ารพ.แบบ\'รักษาฟรี\'

กรณีผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะเสี่ยงรุนแรง เป็นกลุ่ม 608 หรือมีโรคร่วม และมีอาการรุนแรงขึ้น (สีเหลือง) ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ประจำที่ท่านลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

กรณีผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด-19 สีแดง มีอาการรุนแรง ได้แก่

  • หอบเหนื่อยหนักมาก
  • พูดไม่เป็นประโยค
  • แน่นหน้าอก
  • หายใจเจ็บหน้าอก
  • ปอดอักเสบรุนแรง
  • อ่อนเพลีย
  • ตอบสนองช้า
  • ไม่รู้สึกตัว
  • มีภาวะช็อก/โคม่า
  • ซึมลง
  • ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94

    ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เข้ารับบริการที่หน่วยบริการได้ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดเพื่อรักษาทันท่วงที โดยใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)

หากมีข้อสงสัยการเข้ารับบริการ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เป็นเพื่อนที่ไลน์ OA สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือเข้าเว็บไซต์ของ สปสช. ที่ www.nhso.go.th หากหาเตียงไม่ได้ หรือหน่วยบริการเตียงเต็ม ให้ติดต่อสายด่วน 1330