สธ.เผยแนวทางรักษา-วัคซีน 'โควิด-19'ล่าสุด

สธ.เผยแนวทางรักษา-วัคซีน 'โควิด-19'ล่าสุด

ปลัดสธ.ย้ำสถานการณ์โควิด-19ยังรับมือได้ ติดเชื้อมากขึ้น-ไม่เพิ่มความรุนแรงของอาการ การรักษายังเหมือนเดิม ส่วนXBB.1.16 WHO จัดเป็นสายพันธุ์ต้องติดตามเท่านั้น เผยยา-วัคซีนรพ.รัฐ-เอกชนจัดหาได้เองแล้ว  แต่สธ.พร้อมสนับสนุนหากขาดเหลือ รักษารพ.เอกชนต้องจ่ายเงินเอง

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ หลังจากที่ประชาชนมีการเดินทาง พบปะทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น แต่ยังเป็นสถานการณ์ที่รับมือได้ เพราะถึงแม้จะมีการติดเชื้อมากขึ้นแต่อาการไม่มาก จำนวนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจรวมทั้ง 12 เขตสุขภาพไม่ถึง 20 คน และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 2 รายถือว่าน้อยมาก สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของทั่วโลก    

 

XBB สายพันธุ์ต้องติดตาม

สำหรับสายพันธุ์ ที่มีการรายงาน XBB ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิคอน การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) ยังให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ยังไม่ถึงกับเป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวลมากนักไม่ว่าจะเป็น XBB.1.16 ในแง่ของความรุนแรงยังไม่มีหลักฐานว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนเรื่องของการติดง่ายขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการต่างๆขณะนี้ ก็พบว่าอาจจะติดได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการติดง่ายแบบมีนัยสำคัญมากนัก ดังนั้น การดูสถานการณ์ควรดูทั้งเรื่องของสายพันธุ์ อาการทางคลินิก ระบาดวิทยาควบคู่กันไป การดูข้อมูลเพียงด้านใดด้านเดียวอาจจะไม่ครบถ้วน

"การเพิ่มขึ้นขณะนี้ยังห่างไกลจากสมัยก่อนมาก ตอนนี้คนที่ใส่ท่อช่วยหายใจทั้ง 12 เขตสุขภาพมีไม่ถึง 20 คน ตอนที่คนป่วยมากๆมีเป็นพัน และติดตามทุกวัน ทุกสัปดาห์อยู่แล้ว อย่างคนที่ไปทำกิจกรรมสงกรานต์ กลับมาที่ทำงานอยู่ที่บ้าน หากมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก สามารถตรวจ ATK ได้ หากมีอาการก็ไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาต่อไป  ไวรัสเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลา แต่มีทีมติดตามอยู่"นพ.โอภาสกล่าว 

 

การรักษายังเหมือนเดิม

“ที่ประชุมเห็นสถานการณ์ตรงกันว่าถึงแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือมีอาการมาก หรือกลุ่มสี่ยง ยาต้านไวรัสทั้งหลายยังใช้ได้ดีอยู่ ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อไวรัสไม่ตอบสนองต่อยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ โมนูลพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ Long acting antibody (LABB) ก็ยังมีประโยชน์ในการรักษา”นพ.โอภาสกล่าว  

สธ.เผยแนวทางรักษา-วัคซีน \'โควิด-19\'ล่าสุด

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 17 เม.ย.เห็นพ้องต้องกันว่า การรักษายังคงเหมือนเดิม คือ 1.คนอาการน้อยหรือไม่มีอาการไม่ต้องกินยา 2.กลุ่มเสี่ยงอาการน้อยก็ให้ยาตามแนวทางเดิม เพียงแต่ปรับการให้ยาบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องและเข้าใจมากขึ้น ส่วนกรณี ที่มีโรงเรียนแพทย์ ปรับแนวทางการให้ยานั้น ได้มีการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้วยืนยันว่าสื่อบางสื่อมีการสื่อสารข้อความของอาจารย์ออกไปไม่ครบถ้วนไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ยืนยันว่ายาต่างๆ มีเพียงพอโมนูลพิราเวียร์ มีหลายล้านเม็ด แพ็กซ์โลวิดมีสามารถรักษาได้เป็นหมื่นคน เรมดิสซีเวียร์ มีเป็นแสน ไม่ขาดแคลนยารักษา

วัคซีนประจำปี ฟรี

กรณีวัคซีน ที่ประชุมเห็นชอบตามที่อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันมีคำแนะนำว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นการฉีดประจำปีเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ยุทธศาสตร์ภาพรวมการจัดการเรื่องโรคโควิด-19 จะจัดการเหมือนกับโรคประจำถิ่น โรคที่มีการระบาดตามฤดูกาล ดังนั้น การฉีดวัคซีนจะฉีดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีการรณรงค์ในการฉีดทั้งประเทศวันที่ 1 พ.ค. ในกลุ่มเสี่ยง 608  บุคลากรทางการแพทย์แลสาธารณสุข และ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)

รวมทั้งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  ส่วนประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์ก็สามารถฉีดได้ตามความสมัครใจเช่นเดียวกัน โดยจะฉีดปีละครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนตอนนี้หากใครที่รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานเกิน 3 เดือนแล้วหรือติดเชื้อมาเกิน 3 เดือนให้ไปรับวัคซีนได้  ซึ่งวัคซีนมีเพียงพอให้บริการจนถึงสิ้นปี

“สามารถฉีดคู่กันทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าคนที่มีอาการเหมือนไข้หวัด คือมีไข้ น้ำมูก ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัดใหญ่  65% เป็นโควิด 3% ดังนั้นตัวที่พบมากคือไข้หวัดใหญ่ การป้องกันจะคล้ายคลึงกัน คือฉีดวัคซีน คนที่มีอาการทางเดินหายใจ ไม่สบายก็ใส่หน้ากากอนามัยก็จะลดการแพร่กระจายเชื้อไปได้   แต่ก็ต้องมีความระมัดระวัง สบายใจเกินไปก็ไม่ดี ตื่นตระหนกเกินไป ชีวิตจะอยู่ไม่เป็นสุขก็ขอให้ใช้ชีวิตอย่างทางสายกลาง มีความระมัดระวังโดยเฉพาะกลุ่ม 608 คน ที่ยังไม่รับวัคซีนประจำปี หากสะดวกก็สามารถติดต่อขอรับวัคซีนใกล้บ้านได้ ”นพ.โอภาสกล่าว  

 

ยา-วัคซีน รพ.เอกชนไม่ฟรี

ผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดหายาและวัคซีนโควิด-19 ในตอนนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ระบบปกติ โดยรพ.รัฐสามารถจัดหายารักษาได้เอง แล้วเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ผู้เข้ารับการรักษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนวัคซีนรัฐเน้นให้บริการกลุ่มเสี่ยงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กลุ่มประชาชทั่วไปรับได้ฟรีตามสมัครใจ อย่างไรก็ตามทั้งยาและวัคซีนโควิด-19 รพ.เอกชนก็สามารถจัดหามาให้บริการได้เองแล้ว หากประชาชนไปรับบริการที่รพ.เอกชน ก็ต้องเสียเงินเองตามระบบปกติ