โอกาส 'SME' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

โอกาส 'SME' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2565 ตลาดยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าราว 2.4 แสนล้าน แต่ส่วนใหญ่นำเข้ากว่า 70% การเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME ที่มีมากกว่า 6,000 ราย จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเพิ่มศักยภาพภายในประเทศ

Key Point :

  • อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดราว 2.4 แสนล้านบาท
  • ขณะที่ส่วนใหญ่นำเข้ากว่า 70% ผลิตในประเทศเพียง 30% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME มากกว่า 6,000 ราย ยังคงมีช่องว่างและโอกาสอีกมากหากได้รับการสนับสนุนทั้งด้านมาตรฐาน การตลาด และการขยายออกสู่ต่างประเทศ
  • ล่าสุด TECELS ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทย

 

ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ สามารถพัฒนาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 2.4 แสนล้านบาท นำเข้ากว่า 70% และการผลิตในประเทศเพียง 30% ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาด ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ยังเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

วารสารเกษมบัณฑิต ให้หมายความ ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ว่า เป็นธุรกิจที่นำองค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น

 

โอกาส \'SME\' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สตีฟ เบอริล นักธุรกิจและนักลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ จากสหรัฐ กล่าวถึง อุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของโลก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือแพทย์วัคซีน ยาชีววัตถุ ว่าล้วนแล้วแต่ตอบโจทย์สุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ปัญหาใหญ่ของโลก อันได้แก่ โลกร้อน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน น้ำ และสุขภาพ นอกจากนี้นวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอีกแหล่งสำคัญในการวินิจฉัยอาการของโรคและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์จึงเป็นธุรกิจแห่งอนาคตของมนุษยชาติ

 

สำหรับประเทศไทยมีการก่อตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) ในปี 2004 ในการเชื่อมโยงศูนย์กลางของนวัตกรรมและการลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 TCELS ประกาศความร่วมมือกับ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมขับเคลื่อน อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ขึ้นแท่น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

 

โอกาส \'SME\' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงาน TCELS Life Sciences Beyond Aspiration โดยระบุว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเป็นอุตสาหกรรมที่มีใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างใกล้ชิด ในเรื่องของการบำบัด รักษา และการสร้างเสริมสุขภาวะประชาชนคนไทย

 

ปี 65 ยา-เวชภัณฑ์ไทย มูลค่ากว่า 2.4 แสนล้าน

 

ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 3-5% แบ่งเป็น การผลิตในประเทศ 30% และ นำเข้า 70% ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าตลาดที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบการวิจัย พัฒนา และต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกแล้ว พบว่า ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้หรือสังคม ตลอดจนส่งเสริมหใกเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการเร่งรัดเข้าสู่ขั้นตอนการใช้ประโยชน์ได้จริงในระยะเวลาที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย

 

“โควิด-19 เป็นตัวพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของโลก เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม กระบวนการคิดค้นยา วัคซีน จากที่เคยใช้เวลา 10 ปี ลดเหลือเพียง 18 เดือน และยังได้สร้างบทเรียนสำคัญว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องที่แยกส่วนกันได้ โรคระบาดไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนมีความเสี่ยงเท่าเทียมกัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ของไทยหลังโควิด-19 จึงต้องมุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตและใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และประเทศไทยพึ่งพาตัวเองได้”

 

ทั้งนี้ กระทรวง อว. มีกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยเศรษฐกิจสร้างมูลค่า สร้างคุณค่า และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต

 

หนึ่งในจุดมุ่งเน้นที่มีศักยภาพที่ทำให้บรรลุได้ภายในปี พ.ศ. 2570 และเกี่ยวข้องกับ TCELS คือ การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และสุขภาวะมูลค่าสูง โดยใช้การพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า หรือ Value Chain กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง ให้เป็นระดับหนึ่งของอาเซียน และไทยสามารถพัฒนายาและเครื่องมือแพทย์ เพื่อลดการนำเข้าได้ ในสัดส่วนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

“TCELS เป็นหนึ่งในกลไกที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง มุ่งเน้นปลายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่ท้าทายและต้องทำงานร่วมกัน กับภาคอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทย”

 

โอกาส \'SME\' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

 

ผนึก 3 หน่วยงาน ดันศักยภาพไทย

 

ทั้งนี้ การทำงานที่สำคัญ คือ การทำงานกับเครือข่ายพันธมิตร การลงนามร่วมมือกับ 3 หน่วยงานหลักในครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมจุดแข็ง ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) บูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ MSME เติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล

 

ถัดมา คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นแกนกลางในการสร้างความเข้มแข็ง ดึงศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมของไทยอย่างยั่งยืน และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แก้ไข ในการประกอบธุรกิจ และยังสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิค ประกอบธุรกิจให้ทันสมัย

 

ไทยมี SME การแพทย์สุขภาพมากกว่า 6,000 ราย

 

ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า โครงสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ มีจำนวนผู้ประกอบการรวมกว่า 6,908 ราย มีการจ้างงานกว่า 118,287 คน แบ่งเป็น

  • ขนาด Micro จำนวน 4,207 ราย การจ้างงาน 13,249 คน
  • ขนาด Small จำนวน 2,200 ราย การจ้างงาน 25,502 คน
  • ขนาด Medium จำนวน 336 ราย การจ้างงาน 16,376 คน
  • ขนาด Large จำนวน 165 ราย การจ้างงาน 63,160 คน

 

ดร.อภิรดี ขาวเธียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมเอสเอ็มอี กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทในภาคการผลิต หรือในภาคบริการรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท ถือเป็นลูกค้า สสว. ทั้งหมด

 

สสว. พุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสมุนไพรมาสักพัก โดยร่วมมือกับหลายภาคีเครือข่าย โดยมองเรื่องของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์มีจำนวนเยอะมาก และเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง มีศักยภาพสามารถเข้าถึงตลาดทั้งภาครัฐและเอกชน แต่โอกาสของเรายังไม่มากนัก จึงต้องพยายามสนับสนุน SME ให้เข้าถึงโอกาส

 

"จากข้อมูล โครงสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีผู้ประกอบการกว่า 6,908 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็น SME และมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพียง 165 รายเท่านั้น ขณะที่ SME จากทั้งหมด 6,743 ราย ส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลกว่า 6,245 ราย และ บุคคลธรรมดา 498 ราย ขณะเดียวกัน ในจำนวน 6,743 ราย แบ่งเป็น ภาคธุรกิจ SME อยู่ในภาคการผลิต 1,601 ราย และ ภาคการค้า 5,142 ราย"

 

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โอกาส SME

 

ช่วง 2-3 ที่ผ่านมา เราจะได้ยินเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นแคมเปญหลักที่กรมบัญชีกลาง ร่วมกับ สสว. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการผลักดัน SME สามารถเป็นผู้ขายให้กับภาครัฐได้ ถือเป็นการเปิดตลาดให้ SME ได้กว้างมากขึ้นเพราะรัฐเป็นผู้ซื้อหลัก

 

มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ พบว่า

  • ปี 2564 มีมูลค่ากว่า 50,575 ล้านบาท แต่มีการจัดซื้อจัดจ้างกับ SME ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. 14,802 ล้านบาท 8,856 ราย
  • ปี 2565 มูลค่า 48,940 ล้านบาท มีการจัดซื้อจัดจ้างกับ SME ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. 15,042 ล้านบาท 11,147 ราย

 

ดังนั้น จะพบว่ายังมีช่องว่างอีกมากที่จะสามารถช่วยผลักดัน SME เข้าไปสู่ตลาดภาครัฐได้ ยังมีโอกาสอีกมาก แต่ทำอย่างไรให้ SME เข้าถึง

 

ที่ผ่านมา สสว. มีการเดินสายพูดคุยกับทางโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในการเปิดโอกาสให้เอกชน พบว่า ข้อจำกัดของ SME คือ คุณภาพมาตรฐานซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์และโรงพยาบาลให้ความสำคัญ ถัดมา คือ ความเคยชินกับการใช้งานเพราะความคุ้นชินและเชื่อมั่น ดังนั้น ต้องหาโอกาสที่จะทำให้ SME เจาะตรงนี้เข้าไปได้ โดย สสว. มีความยินดีที่มี TCELS ช่วยในเรื่องของการวิจัยพัฒนา R&D ส่วนในเรื่องของการพัฒนามาตรฐานให้ได้ตามที่โรงพยาบาลต้องการ สสว. จะมีส่วนผลักดัน รวมถึงเรื่องของตลาด สามารถเดินไปกับ TCELS ในการสนับสนุนคุณภาพมาตรฐานให้ผู้ประกอบการ SME ได้

 

สินค้าที่โรงพยาบาลต้องการและ SME สามารถผลิต จำหน่ายได้

 

  • กรรไกรผ่าตัด
  • เตียงผู้ป่วย
  • ไม้เท้าค้ำยัน
  • กระปุกเก็บสิ่งส่งตรวจ (Specimen)
  • กระดาษบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • วงจรเครื่องช่วยหายใจแบบใช้แล้วทิ้ง
  • เครื่องออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง
  • งานซ่อมบำรุง
  • เครื่องให้อาหาร
  • ผ้าก็อต
  • สำลี
  • ไม้กดลิ้น
  • Oxygen เหลว
  • Spare Parts ต่างๆ เช่น Sensor ของเครื่องช่วยหายใจ สายไฟติด Socket Battery ตะกั่ว NIFS Lithium เป็นต้น

 

SME ปัง ตังได้คืน

 

ทั้งนี้ SME มีความต้องการอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ คุณภาพมาตรฐาน และ ตลาด สสว. มีเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการ ข้อแรก คือ ด้านคุณภาพมาตรฐาน โดยมีเครื่องมือลดต้นทุน ผ่านโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) หรือทีเรียกง่ายๆ คือ SME ปัง ตังได้คืน ทำหน้าที่เหมือนเป็น E-Marketplace ให้ SME สามารถเลือกรับบริการหรือรับการพัฒนากับหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจในด้านต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

 

โดย สสว. มีงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ในการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการแบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วน 50–80% สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาท ตามขนาดของธุรกิจ ตอนนี้เหลืองบประมาณอยู่ราว 300 ล้านบาท สามารถศึกษารายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ คลิก 

 

ถัดมา ในเรื่องของตลาด การเดินทางไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ สามารถออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง หรือ 80% ได้กับ สสว. เป็นการสนับสนุนการตลาด และสุดท้าย การเข้าสู่ตลาดโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน สสว. ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยจะมีการจัดโรดโชว์ พาผู้ขายไปพบผู้ซื้อทั่วประเทศ ทั้งหมด 6 ครั้ง ตั้งแต่เดือนนี้ - สิงหาคม โดยนำสินค้าไปโชว์ให้แพทย์ โรงพยาบาล ได้ทดลองใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสว. เตรียมไว้ และที่จะทำงานร่วมกันกับ TECELS ด้วย

 

โอกาส \'SME\' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

 

สังคมสูงวัย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิต ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ซึ่งคลัสเตอร์ที่สำคัญ คือ การแพทย์และสุขภาพ ประกอบด้วย 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยา เครื่องมือแพทย์ อาหารเสริม สมุนไพร เครื่องสำอาง และชีววัตถุทางด้านเทคโนโลยี ทั้ง 6 กลุ่ม ถือเป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวัน และเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ใน S-Curve , New S-Curve และ BCG

 

อดิศร อาภาสุทธิรัตน์ ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เราจะมีคนที่อายุยืนขึ้น ก็ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้น

 

"ในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นข้อด้อยทางด้านความสามารถทางการแข่งขัน เพราะมีกำลังแรงงานน้อยลง แต่หากมองอุตสาหกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้า อาเซียนทั้งหมดก็ต้องตามไทยเพราะเขาจะมีผู้สูงอายุที่มากขึ้น ไทยเข้าสู่ตลาดก่อนและเราจะมีประสบการณ์ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้มองเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนต่อไป"

 

ขณะเดียวกัน ไทยมีชื่อเสียงด้านการแพทย์และบริการด้านการแพทย์ชั้นนำของโลก รวมถึง Medical Hub ที่พยายามขับเคลื่อน หลังโควิดพิสูจน์ได้ว่าไทยมีข้อดีหลายอย่าง รวมทั้ง เมื่อโควิดเริ่มหมด นักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในสภาอุตสาหกรรมที่มีทั้งหมดกว่า 45 อุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่ โลหะ ยานยนต์ ดิจิทัลซอฟต์แวร์ เป็นต้น

 

เกิดแล้ว ต้องพร้อมรบ

 

อดิศร กล่าวต่อไปว่า ในตอนที่ตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา เพื่ออยากจะขับเคลื่อน ในช่วงนั้นมาตรฐานต่างๆ ความรู้ยังน้อยมาก แต่ปัจจุบันพัฒนาขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีความยากอย่างหนึ่ง คือ ความรู้และมาตรฐาน และสุดท้าย จะทำอย่างไรให้ผ่านการรับรอง ได้รับเอกสาร และขึ้นทะเบียน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการขึ้นทะเบียนให้สอดคล้องกับยุโปร สหรัฐ สิ่งที่ยากคือ คนที่มีความรู้ในการนำพาไปสู่การขึ้นทะเบียน

 

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียน หลายคนมองว่า อย. ขึ้นทะเบียนยาก แต่ความจริงมีกติกา อย. เหมือนเป็นผู้ให้ใบเกิด ใบสูติบัตร หากเราทำถูกต้อง ก็ได้ใบสูติบัตร แต่ความยาก คือ เมื่อคลอดออกมา โตหรือไม่ ไม่ใช่ต้องการแค่ใบเกิด เพราะอุตสาหกรรม เมื่อเกิดแล้วต้องรบทันที ตลาดทั้งตลาดมีคู่แข่งที่พร้อมรบตลอดเวลา ความยากคือทำอย่างไรให้เกิดมาแล้วไม่ตายก่อน เกิดแล้วโตได้ รอดตายได้ และโตไปนอกประเทศได้ด้วย นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น

 

“หากมองเรื่องของการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสุดท้ายต้องอยู่ที่ตลาด สำคัญที่สุด ภาพที่อยากจะเห็นหลังจากร่วมมือกับ TECELS คือ การเชื่อมโยงประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง กับ ผู้ประกอบการในประเทศไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และเกิดประโยชน์ร่วมกัน เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยประเทศไทยอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกับคนที่มีความสามารถมาช่วยเรามากขึ้นในจุดนี้” อดิศร กล่าว

 

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

 

เภสัชกรวราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องของตลาดในและต่างประเทศ คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ ความเชื่อมั่นของผู้ใช้ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เป็นตลาดและหลักเกณฑ์ร่วมกัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องทำตามมาตรฐานสากล ปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศเริ่มเข้ามาคุยกับทาง อย.ไทย หาก อย.ไทย อนุมัติสินค้า เขายินดีที่จะให้สินค้าไปขึ้นทะเบียนประเทศเขาได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น เรากำลังส่งสัญญาณว่า ต้องมุ่งมั่นยกระดับให้เป็นมาตรฐานสากล กระบวนการของ อย.ก็ต้องเป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ

 

แต่โจทย์เรายากไปกว่านั้น เพราะเวลาเรากำหนดมาตรฐานสากล มันเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ต้องมีความพร้อมพอสมควรที่จะผลักดันให้ผู้ผลิตในประเทศยกระดับการผลิต วิจัย พัฒนา ของตนเอง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม จากที่ดูแลกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาก่อน พบว่า เรื่องข้อกำหนดมาตรฐานทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ๆ เจ้าของผลิตภัณฑ์จะเป็นคนเข้าใจผลิตภัณฑ์ที่เขาเป็นเจ้าของ ที่วิจัยพัฒนาขึ้นมาเอง ต้องพัฒนาแนวความคิดในการควบคุมตัวผลิตภัณฑ์ และข้อกำหนดมาตรฐานของตัวผลิตภัณฑ์

 

แต่การส่งเสริมให้คนเข้าใจ และวิจัยพัฒนา กำกับดูแลด้วยตัวเองได้ เป็นสิ่งที่ต้องฟูมฟัก และใช้เวลา ประกบกับโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องซัพพอร์ต ทั้งนี้ เรื่องของผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบว่า มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน แต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นการสอบวัด แล็บเทส เป็นสิ่งที่เรายังอ่อนอยู่มาก และต้องลงทุน

 

ถัดมา คือ เรื่องของวิธีคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะประเทศเราไม่ได้เกิดมาเป็นประเทศนวัตกรรมมาก่อน วิธีคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ได้เกิดขึ้นเร็ววัน แต่ต้องเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ เช่น Active medical device บางอย่างต้องเกิดจากการซ่อม แกะ ปรับแต่งของเก่า จนเห็นภาพ เข้าใจ และพัฒนาต่อ แต่เราอาจจะขาดโครงสร้างพื้นฐานตรงนี้พอสมควร

 

ที่สำคัญ คือ ขาดบริษัทขนาดใหญ่ที่ลงทุนตั้งแต่ 0-100 ได้ เพราะแม้จะมีบริษัทขนาดใหญ่แต่แผนก R&D ยังมีจำนวนน้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้น ไม่แปลกที่กระบวนการพัฒนาเกิดมาจากฝั่งนักวิชาการ ซึ่งนักวิชาการ กับฝั่ง Developer หรือ คนที่ทำสตาร์ทอัพ วิธีคิด การตลาด อาจจะต่างกัน บางคนเริ่มต้นจากความเป็นไปได้ในด้านเทคโนโลยี แต่อาจจะไม่เหมาะกับการตลาด

 

"เราขาด Conductor ที่จะนำคนกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ มารวมเป็นวงดนตรีเดียวกันและบรรเลงเป็นเพลง ทั้งภาพในเชิงสินค้าและภาพใหญ่เรายังขาด Conductor ทำให้เต้นคนละจังหวะ ภาพรวมจึงกระจัดกระจายไม่โฟกัส นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญ หากปูโครงสร้างพื้นฐานให้ดี โฟกัสให้ดี โครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องแข็งแรงก่อน การวัด เทียบ กำหนดมาตรฐาน แล็บเทสต่างๆ ต้องแข็งแรง"

 

“พอโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงแล้ว Conductor ในส่วนต่างๆ ต้องมี หากยังไม่มีบริษัทใหญ่ที่ลงทุน 0-100 ได้ ต้องมี Conductor ที่จะดูแลให้แต่ละชิ้นส่วนประกอบกันและกลายเป็นสินค้าให้ได้ และภาพใหญ่ ในการมีหน่วยงานที่ร้อยเรียงการทำงานร่วมกัน ดูแลตั้งแต่วิจัยพัฒนาและตลาดในต่างประเทศ ย้ำว่า คุณภาพมาตรฐานเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะยกระดับสินค้าของเราและเป็นที่ยอมรับในและต่างประเทศ”

 

โอกาส \'SME\' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

 

เปิดคลินิก ส่งเสริมผู้ประกอบการ

 

เภสัชกรวราวุธ เล่าต่อไปว่า กว่า 5 ปี เราขยับจากจุดที่เราเคยยืน จากการคุ้มครองผู้บริโภค ข้อกำหนดมาตรฐาน ประกันคุณภาพก่อนและหลังออกสู่ตลาด แต่เรื่องระเบียบข้อบังคับก็มีการปรับวิธีกำกับดูแล ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์นวัตกรรม มีคอนเซปต์เรื่องแซนด์บ็อกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะกำกับอย่างไร หากเข้มงวดเหมือนในต่างประเทศ 100% เขาไม่เกิด แต่จะจำกัดความเสี่ยงอย่างไร เช่น ให้ใช้ในวงการแพทย์ก่อนหรือไม่ หรือ จำกัดวงการกระจายก่อนหรือไม่ นี่คือ คอนเซปต์ของแซนด์บ็อก ทำให้กระบวนการทำกฎหมาย กำกับดูแล ยืดหยุ่นมากขึ้นในการดูแลนวัตกรรม นี่คือสิ่งที่ทำอยู่

 

ขณะเดียวกัน อย. ได้ขยับมาในโซนการประกอบการ ตอนนี้เรามีตึก 10 ชั้น สำหรับผู้ประกอบการ นักวิจัย ซึ่งมีปัญหาเรื่องระเบียบข้อบังคับ และต้องเตรียมเอกสาร ทำการทำสอบอะไรบ้าง ดังนั้น คลินิกให้คำปรึกษาที่จะทำ คือ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัยก่อนว่าสินค้านวัตกรรมของท่านจัดอยู่ค่ายใด เพราะระเบียบข้อบังคับ โอกาส ตลาด แต่ละสินค้าก็ต่างกัน ต้องวินิจฉัยก่อน หลังจากนั้น มีการดูว่าเอกสารต่างๆ ควรจะเตรียมอะไร

 

รวมทั้งเรื่องคำแนะนำในการวิจัยในมนุษย์ สุดท้าย พยายามเปิดบ่มเพาะผลิตภัณฑ์ เพราะมีผูประกอบการอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงข้อมูล ความช่วยเหลือ ดังนั้น การบ่มเพาะผลิตภัณฑ์ เรารู้ว่าสินค้าของเขามีจุดอ่อนอย่างไร โรดแมปอย่างไร และหน่วยงานใดที่จะช่วยเขาได้ ต้องมีพี่เลี้ยงและคนดูแล หากขาดเงินทุน หรือ ขาดแล็บเทส หน่วยงานใดสามารถช่วยได้ จะทำให้เดินไปได้ และหากเป็นไปได้ก็อาจจะมีคลินิกในการเตรียมเอกสารการขออนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อีกทั้ง มีกระบวนการรักษาความลับตลอดการให้คำปรึกษา นี่คือสิ่งที่เป็นหน้างานใหม่ ที่ อย. เปิดเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของประเทศ

 

นอกจากนี้ ยังสร้างอีโคซิสเต็ม และ โครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้คนอยากจะทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ ระหว่าง อย. และ TECELS ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ไปจนถึงการตลาด อาจจะต้องลงทุนกับระบบสารสนเทศครั้งใหญ่ ที่เชื่อมโยงข้อมูลการตลาดต่างประเทศ ว่าต่างประเทศต้องการผลิตภัณฑ์แบบใด โดย อย. มีกองความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำการศึกษาระเบียบข้อบังคับในต่างประเทศ ว่าเขาต้องการสินค้าประเภทใด และให้ความรู้ผู้ที่จะส่งออก

 

“หากเราสามารถสร้างอีโอซิสเต็มได้ตั้งแต่ต้นจนจบ คาดว่าเรื่องนี้จะเป็นไปได้ ว่าไทยจะขึ้นไปสู่อีกเลเวลหนึ่งและหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง”

 

พัฒนาสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ

 

ศรัณยู ชเนศร์ กรรมการเหรัญญิก หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา หอการค้าไทย ซึ่งมีเกษตรกรจำนวนมาก มีการผลักดันปลูกฟ้าทะลายโจร สู่การใช้ในประชาชน สมุนไพรไทยที่ใช้ได้จริง ณ วันนี้ประชาชนเป็นคนขับเคลื่อนไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล

 

ปัจจุบัน พบว่า ยาหม่องขายดี โดยเฉพาะกับคนจีน นวัตกรรมกรรมหรือแพกเกจจิ้งก็ตรงไปตรงมาแต่ขายดี รวมถึง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสปามีการส่งขายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ลูกประคบ ไพร มีการส่งออกทั่วโลก ทุกวันนี้สปาไทยมีเกือบทุกโรงแรมในโลก ซึ่งใช้อุปกรณ์สปาของไทยเป็นส่วนใหญ่ ในแง่ของพัฒนาการด้านสินค้าบางตัวไปได้เยอะ เหลือแค่ว่า คนที่ใช้ หรือ คนสั่งใช้ ทั้งสองฝ่ายมองว่าคนที่ก้าวหน้ามากกว่า คือ คนใช้ คนที่มองหาสมุนไพรเป็นประชาชนส่วนใหญ่

 

"สิ่งที่หอการค้าไทย ทำคือ ต้นน้ำ เพราะส่วนใหญ่ที่อยู่กับหอการค้าไทยเป็นทำเกษตรกรรม รวมถึงผลักดันมาตรฐานการปลูก เพราะสมุนไพรต้นน้ำ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าออร์แกนิคจริง ณ วันนี้กัญชา หากปลูกในพื้นที่ไม่ถูกต้องก็จะปนเปื้อน และได้กัญชาที่ไม่บริสุทธิ์ หรือสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้ ดูต้นน้ำว่าการปลูกถูกต้องหรือไม่ ตอบโจทย์การผลิตเป็นยาได้หรือไม่"

 

"นอกจากนี้ ยังผลักดัน SME โดยร่วมมือกับ สสว. ในเรื่องการการเงิน การบริหารจัดการ การขาย ให้กับ SME โดยมีโครงการ Big Brother สร้าง SME ให้เป็นนักธุรกิจที่ดี ที่เก่ง และมองหาตลาดได้ รวมถึงเชื่อมโยงกับตลาด และมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ เรียกว่า YEC ที่พร้อมทดลองสิ่งใหม่ๆ มองว่าสิ่งที่ TECELS ผลักดันเป็นการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ วันนี้เราเห็นละครเรื่อง หมอหลวง ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการผลักดันตลาดสุมนไพร คนรุ่นใหม่สนใจสมุนไพรมากขึ้นเรื่อยเป็นสิ่งที่ดี" ศรัณยู กล่าว 

 

โอกาส \'SME\' อยู่ตรงไหน ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์