“สมุนไพรออร์แกนิค” มาแรง ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพทั่วโลก

“สมุนไพรออร์แกนิค” มาแรง  ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพทั่วโลก

ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 พบว่า สมุนไพร ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ "ฟ้าทะลายโจร" ขณะเดียวกัน เทรนด์รักสุขภาพ ส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วโลกมองหา "ผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค" เพื่อเป็นทางเลือกป้องกันและดูแลสุขภาพ

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal & Traditional Products) มีมูลค่าตลาดถึง 54,739 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดการณ์ว่าในปี 2569 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 70,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งมาจากการถูกนำมาใช้ในการรักษาโควิด-19 จนได้รับความนิยมและความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุถึง แนวโน้มอนาคตของผู้บริโภคทั่วโลก พบว่าผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือกในด้านการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และพบว่ากว่า 70% ต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางเลือกที่สามารถปรับสมดุลในร่างกาย โดยเน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค

 

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันเปิดรับผลผลิตที่มาจากธรรมชาติเพื่อใช้เป็นหนึ่งตัวเลือกสำหรับป้องกัน ดูแล และรักษาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังพบข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่คาดการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 59,500 ล้านบาท ภายในปี 2569

 

นับเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจะสามารถขยายตลาดออกไปรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานในภูมิภาค ยกระดับการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สมุนไพร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นอีกหนึ่งหนทางในการผลักดันสมุนไพรให้เป็น “พืชเศรษฐกิจใหม่” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า “ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร” เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีมูลค่าการบริโภคสูงถึงกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท

 

5 ปัจจัยยกระดับสมุนไพรไทย

 

นโยบายแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มีการส่งเสริมสมุนไพรไทยเข้าสู่ตลาดโลกเน้น 5 ประเด็น ได้แก่

1.เศรษฐกิจ ต้องใช้สมุนไพรไทยการแพทย์แผนไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในทุกช่องทาง และปลายทางสมุนไพรไทยต้องเป็นที่เชื่อมั่นของคนในประเทศและต่างประเทศ สมุนไพรไทยต้องกลายเป็นของฝากกระจายไปทั่วโลก

 2.การบริการ สนับสนุนให้การบริการแพทย์แผนไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพโดยเฉพาะการบริการปฐมภูมิ การบริการเฉพาะด้าน การบริการระยะกลาง และการบริการระยะสุดท้าย

3.การคุ้มครองภูมิปัญญา ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและหมอพื้นบ้านไทยให้มีส่วนร่วมในระบบสุขภาพและให้ความสำคัญในการคุ้มครองภูมิปัญญาไทย การขึ้นทะเบียนการจดสิทธิบัตร ป้องกันการลักลอบภูมิปัญญาไทย

4.ศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ แพทย์แผนไทยถือว่าเป็นวิชาชีพหนึ่ง ต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นที่ยอมรับและมีศักดิ์ศรีไม่ใช่ถูกมองเป็นแพทย์ทางเลือกหรือ แพทย์ชั้นสองเหมือนอดีตที่ผ่านมา และ 5. ด้านการวิจัย ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยอย่างจริงจัง เป็นที่ยอมรับ สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาออกแบบระเบียบวิธีวิจัยของแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะ

 

จุฬาฯ-เอกชน พัฒนาสมุนไพร

 

ฉมา แอ็สเซ็ท เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง จากสมุนไพรไทยออร์แกนิค ภายใต้แบรนด์ “ฉมา” หนึ่งในภาคเอกชนที่เจาะตลาด สมุนไพรออร์แกนิค โดยล่าสุด ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว “ฟรุ๊ตตี้-ซี” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออร์แกนิคชนิดเม็ดเคี้ยวจากพืชสมุนไพรที่มีวิตามินซีธรรมชาติสูง ต่อยอดสร้างมูลค่าสมุนไพรไทยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี

 

 

“ปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา แอ็สเซ็ท จำกัด เปิดเผยว่า เทรนด์สุขภาพ (Wellness) ได้รับความนิยมอย่างมาก และจะได้รับความนิยมต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ โดยผู้คนตระหนักถึงสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันที่ดีห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียั่งยืนรอบด้าน โดยเฉพาะเทรนด์การบริโภคสมุนไพร และธรรมชาติบำบัด เนื่องจากคนหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการกิน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอก เลือกรับประทานของที่ดีต่อร่างกาย อาทิ ผักและผลไม้ สมุนไพรออร์แกนิค เสริมภูมิคุ้มกัน ดูแลสุขภาพและร่างกาย

 

จากแนวโน้มความต้องการดังกล่าว ฉมา ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสมุนไพรไทยออร์แกนิค จึงได้ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดเม็ดเคี้ยวจากพืชสมุนไพรที่มีวิตามินซีจากธรรมชาติไม่มีสารปรุงแต่ง ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีตัวเลือกบริโภควิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ สารฟีนอลิกและสารแอนโทไซยานินจากพืชสมุนไพรออร์แกนิค

 

นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน นำจุดแข็งของสมุนไพรไทยมาต่อยอดและสร้างมูลค่าให้กับสุมนไพรไทยสู่ตลาดในประเทศและตลาดสากล

 

แหล่งผลไม้ ออร์แกนิค

 

จากแนวคิดที่สำคัญดังกล่าว ผนวกกับจุดแข็งในด้านความพร้อมเรื่องสมุนไพร ซึ่งเป็นแหล่งผลไม้ที่มีวิตามินซีตามธรรมชาติสูง ทั้งหม่อน กระเจี๊ยบ มะนาว และฟาร์มเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวอย่างครบวงจร จึงได้ริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินซีจากธรรมชาติ จากพืชออร์แกนิคในรูปแบบเม็ดเคี้ยว โดยใช้ส่วนเนื้ออบแห้ง เป็นส่วนผสมหลักและควบคุมคุณภาพด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และมาตรฐานการผลิตที่ดี

 

“ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้ร่วมทำการวิจัยกับศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงการขยายต่อยอดจากการวิจัยไปสู่ระดับการผลิตในเชิงพาณิชย์ที่สถานปฏิบัติการนำร่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างนวัตกรรมจากพืชสมุนไพร” ปรินดา กล่าว

 

หนุนผู้ประกอบการพัฒนาสินค้า

 

ด้าน “รศ.ภก.ดร. พรชัย โรจน์สิทธิศักดิ์” รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจที่สำคัญคือ การช่วยสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรในประเทศ ซึ่งโจทย์ของบริษัทฯ สามารถใช้เครื่องมือเครื่องจักรและเทคโนโลยีของทางคณะฯ ในการพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ ภายใต้การรับรองมาตรฐานที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว

 

“โดยโครงการนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อทดลองขยายขนาดการผลิต ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อทดสอบพารามิเตอร์ต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรมต่อไป”

 

“สมุนไพรออร์แกนิค” มาแรง  ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพทั่วโลก