7 มาตรการ เตรียมพร้อม "จีนเปิดประเทศ" และ 5 ข้อต้องคำนึง

7 มาตรการ เตรียมพร้อม "จีนเปิดประเทศ" และ 5 ข้อต้องคำนึง

สธ. คาดการณ์ว่าจะมีชาวจีนเดินทางเข้าไทย 5 ล้านคนในปี 2566 โดยได้มีการเตรียมรับสถานการณ์ด้วย 7 มาตรการป้องกันโรค ย้ำต้องไม่เลือกปฏิบัติ สร้างสมดุลความปลอดภัย สุขภาพ และเศรษฐกิจ ด้าน "หมอยง" แนะ 5 สิ่งที่จะต้องคำนึง ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย

หลังจากที่ "ประเทศจีน" เตรียมเปิดประเทศ ยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 เป็นต้นไป หลังจากที่มีการบังคับใช้มานาน 3 ปีเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นผลดีต่อ ภาคการท่องเที่ยวไทย ที่จะได้ฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน

 

โดยเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 11 ล้านคน ครองสัดส่วนประมาณ 27% ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย 39.9 ล้านคนในปีดังกล่าว

 

คาด นทท. จีนเข้าไทย 5 ล้านคน ปี 66

 

ขณะเดียวกัน จากประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยวาระสำคัญ คือ การเตรียมรับสถานการณ์เดินทางที่จะเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ที่มีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน ในปี 2566 รวมทั้งจะมีผู้เดินทางจากประเทศไทยไปประเทศจีนมากขึ้นด้วย ต้องมีการพิจารณามาตรการและเตรียมแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์

 

ด้าน ศ.เกียรติคุณ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการฯ ได้ให้หลักการในการพิจารณามาตรการ ควรคำนึงถึงหลักการเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านวิชาการ ความปลอดภัยสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าออกของประเทศต่างๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

7 แนวทาง พร้อมรับผู้เดินทางจากจีน

 

ขณะเดียวกัน ประชุมคณะกรรมการวิชาการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและประเมินความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลสถานการณ์โรค ข้อมูลการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการของประเทศต่างๆ มีความเห็นร่วมกันว่า ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยสรุปแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ดังนี้


1. กำหนดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ได้แก่ การตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 และกำหนดให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้ พิจารณามาตรการดังกล่าวอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศจีนในการรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ที่กำหนดให้มีการตรวจ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง 48 ชั่วโมง


2. สื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการของไทยและคำแนะนำต่างๆ ให้กับผู้เดินทางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย โดยผ่านกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ประกอบการสายการบิน ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ


3. เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศไทย โดยเฉพาะระบบเฝ้าระวังในผู้เดินทางเข้าประเทศที่ช่องทางเข้าออกประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ (ปัจจุบันสายพันธุ์ที่พบในจีนไม่แตกต่างจากที่เคยมีรายงาน) และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อนำไปพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม

4. เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว


5. สื่อสารเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดบริการสายด่วนสำหรับนักท่องเที่ยว


6. ด้านผู้ประกอบการและร้านค้า ดำเนินการตามแนวทาง SHA, SHA Plus


7. ภาคสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม สื่อสารไปยังผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวให้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 4 เข็ม โดยทางภาคสาธารณสุขจะมีการเตรียมวัคซีนให้กับแรงงาน  ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการคมนาคม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวนรวม 4 เข็ม เพื่อลดการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเตรียมการจัดทำแผนรองรับในระยะต่างๆ ให้มีการติดตามประเมินมาตรการที่กำหนดเป็นระยะ ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์รอบด้าน ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ในผู้เดินทางจากประเทศจีน สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ European CDC แต่หากมีข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์หรือสถานการณ์ระบาดที่เปลี่ยนแปลง จะพิจารณาความจำเป็นของการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้ง


ผลของการประชุมดังกล่าว จะได้นำเสนอต่อผู้บริหารในระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมรับผู้เดินทางจากประเทศจีนในวันที่ 5 มกราคม 2566 นี้ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการของประเทศร่วมกันต่อไป

 

"หมอยง" แนะ 5 สิ่งต้องคำนึง

 

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับ โควิด-19 ข้อคำนึงการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยระบุว่า ขณะนี้เป็นเวลา 3 ปีแล้วในการระบาดของ covid 19 ความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพราะประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อไปแล้ว ร่วมกับการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับประเทศไทย มีการติดเชื้อไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่ก็ยังมีการฉีดวัคซีน 3 เข็ม เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น

 

สิ่งที่จะต้องคำนึงในการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย

 

1 ประชากรทั่วโลก มีการติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก และไม่เกี่ยวกับชนิดของวัคซีน เช่นในญี่ปุ่น เกาหลี ขณะนี้ติดเชื้อวันละเป็นแสนเสียชีวิตหลายร้อยคนต่อวัน ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ทั่วโลกขณะนี้ มีอาการน้อย หรือจำนวนมากไม่มีอาการ และเป็นการยากที่จะตรวจกรองผู้เดินทางได้หมด การฉีดวัคซีนทั่วโลกครบ 3 เข็ม ไม่น่าจะถึงร้อยละ 10 ของประชากร 7,000 ล้านคน

 

2 สายพันธุ์ในแต่ละประเทศมีความจำเป็นมาก ที่จะต้องรู้ ประเทศไทยได้มีการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ BA.1 จนถึง BA.4/5 และขณะนี้ เป็น BA.2.75 ซึ่งการระบาดตามหลังประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป สายพันธุ์ได้เดินหน้าก่อนเรา ซึ่งขณะนี้เป็น BQ.1 และ BQ.1.1 ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์จะดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลง

เราเองก็ยังไม่อยากที่จะให้สายพันธุ์ BQ.1 และ BQ1.1 เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย แต่ในที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น เพราะเราไม่สามารถที่จะตรวจกรองได้หมด ในอดีตสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยจะตามหลังทางตะวันตกมาโดยตลอด

 

3 การเข้มงวดในแต่ละประเทศที่จะเดินทางเข้ามา จะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ โดยเฉพาะเป็นสายพันธุ์ที่ ประเทศไทยไม่มี และมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดง่าย ถ้าสามารถป้องกันได้ ก็จะลดความเสี่ยงของเราลงได้

 

4 สิ่งที่สำคัญจึงต้องรู้เขารู้เรา ว่าประเทศต้นทางกำลังระบาดด้วยสายพันธุ์อะไรอยู่ ถ้าประเทศต้นทางเป็น BA.4, BA.5 หรือ BA.2.75 ซึ่งประเทศไทยได้ระบาดผ่านไปแล้ว และประชากรส่วนใหญ่ก็มีภูมิต่อสายพันธุ์นี้แล้ว ความวิตกกังวลก็จะน้อยลง

 

5 การควบคุมการเดินทางหรือมาตรการต่างๆที่จะเกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในแง่สายพันธุ์ ความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์ การดื้อต่อระบบภูมิต้านทาน ที่จะมาแพร่กระจายได้ง่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลอย่างละเอียดร่วมในการตัดสินใจ

 

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ข้อมูลจาก Asahi Shimbun ญี่ปุ่นวันที่ 26 ธันวาคม กล่าวไว้ว่า สายพันธุ์ที่พบในจีน ที่ปักกิ่งเป็น BF.7 ซึ่งเป็นลูกของ BA.5 และสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วประเทศจีนขณะนี้เป็น BA.5.2 ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นคือ BF.7 และ BA.5.2 เช่นเดียวกัน

 

"สิ่งที่สำคัญในการป้องกันการระบาดและลดความรุนแรง สำหรับประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องคนไทย ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน และแนวทางการปฏิบัติสุขอนามัย เป็นเกราะกำบัง"