อย.ยัน"กัญชา"ไม่ใช่ยาเสพติด แม้ตัดม.3ออก ไร้วาระถกกลับไปเป็นยาเสพติด

อย.ยัน"กัญชา"ไม่ใช่ยาเสพติด แม้ตัดม.3ออก ไร้วาระถกกลับไปเป็นยาเสพติด

เลขาฯอย.ยัน “กัญชา”ไม่ใช่ยาเสพติด แม้ตัดมาตรา 3 ในร่างพรบ.กัญชากัญชงออก ระบุกฎหมายประกาศพ้นจากยาเสพติดไม่เกี่ยวกับร่างนี้  คกก.ควบคุมยาเสพติดไร้วาระพิจารณากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด  

    จากกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่างพรบ.กัญชากัญชง พ.ศ.... โดยที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาร่างพรบ.กัญชากัญชง ตัดมาตรา 3 ที่ระบุว่า  กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดออกทั้งหมด ทำให้มีการตีความไปว่าสถานะกัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมนั้น 
     เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.กัญชากัญชง พ.ศ..... สภาผู้แทนราษฎร และเลขานุการคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กล่าวว่า ในที่ประชุมสภาฯ มีการพิจารณาถึงมาตรา 3 ซึ่งระบุว่ากัญชากัญชง และสารสกัด ไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายนี้ และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด  ทั้งนี้ ประธานกมธ.มีการเรียกประชุม และเห็นว่าไม่ต้องเขียนกำหนดไว้ก็ได้ จึงมีมติให้ตัดออก

      “การตัดมาตรา 3 ออกไม่กระทบกับมาตราอื่นๆ ในร่างพรบ.กัญชากัญชง ถ้าถามว่าตอนนี้กัญชายังเป็นยาเสพติดหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับร่างพรบ.นี้  ยืนยันว่า ณ ปัจจุบัน กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่อยาเสพติดประเภท 5 ไม่มีชื่อกัญชาอยู่ พูดง่ายๆ ตั้งแต่ยอด ช่อดอก ใบ ลำต้น กิ่งก้าน จนถึงรากไม่มีส่วนไหนเป็นยาเสพติดเลย มีเพียงสารสกัดที่มีค่า THC เกิน 0.2 % โดยน้ำหนักเท่านั้นที่ยังเป็นยาเสพติดอยู่”นพ.ไพศาลกล่าว   

        ผู้สื่อข่าวถามถึงขั้นตอนหากจะให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด นพ.ไพศาล กล่าวว่า  ต้องมีการพิจารณาเห็นชอบและเสนอโดยคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นประธาน เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ดป.ป.ส.) แต่การลงนามในประกาศระบุชื่อยาเสพติดเป็นของรมว.สธ.ที่ดำเนินการตามการเห็นชอบของบอร์ดป.ป.ส.  

   ถามต่อว่าในวาระการประชุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีวาระการพิจารณากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ไม่มี 

       ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ามีการพยายามผลักดันให้ สธ. ชงบอร์ดป.ป.ส. พิจารณาให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด นพ.ไพศาล กล่าวว่า  ไม่ทราบ การทำงาน อย.ทำตามกฎหมาย  ซึ่งจุดประสงค์ที่ต้องการให้ร่างพรบ.กัญชากัญชงฯ ฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ เนื่องจากจะทำให้ การควบคุม การใช้ประโยชน์ของกัญชากัญชง ที่สังคมห่วงใยในเรื่องเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ตลอดจนสถานที่ใช้ วิธีการใช้ ถูกระบุไว้ในกฎหมายฉบับเดียวนี้  ผู้ปฏิบัติงานก็จะเห็นทิศทางชัดเจน แม้สธ.จะมีกฎหมายหลายฉบับที่ดูแล แต่ก็ควรต้องมีกฎหมายเฉพาะออกมา

         “การที่ร่างพรบ.นี้ออกช้า เรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลอยู่  แต่ถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะออกไม่ได้เลย ทั้งที่เป็นอาหาร เครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบัน อย.มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชากัญชงแล้วกว่า 2,200 รายการทั้งที่เป็นยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง”นพ.ไพศาลกล่าว