ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองต้องรู้! "ถูกเรียกเก็บเพิ่ม" ไม่ต้องจ่ายทุกกรณี

ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองต้องรู้! "ถูกเรียกเก็บเพิ่ม" ไม่ต้องจ่ายทุกกรณี

สปสช.จับมือสภาองค์กรของผู้บริโภค แจ้งผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง "ถูกเรียกเก็บเพิ่ม" ไม่ต้องจ่ายทุกกรณี ระบุ5 ปี มีผู้ร้องเรียนกว่า 3,329 เรื่อง เป็นมูลค่าเม็ดเงินประมาณ 35.7 ล้าน ย้ำปชช.โทรสอบถามสายด่วน 1330 สปสช.ก่อนจะจ่ายเงิน

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2651-2565 พบว่ามีผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง "ถูกเรียกเก็บเพิ่ม" ค่าบริการรักษาพยาบาล และได้ร้องเรียนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค  และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 3,329 เรื่อง เป็นมูลค่าเม็ดเงินประมาณ 35.7 ล้านบาท  โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ถูกเรียกเก็บเพิ่ม ได้รับการเยียวยาครบทุกคนแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และรับทราบข้อมูลทั้งในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และหน่วยบริการ ทั้งภาครัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่ใช้ระบบบัตรทอง ไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มแก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าอื่นๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

17 ปี "สิทธิประโยชน์" ผู้ติดเชื้อ/เอดส์ "บัตรทอง" เข้าถึง เท่าเทียม

ผู้ใช้สิทธิ "บัตรทอง"ยืนยันตัวตนผ่าน "หมอพร้อม"

เช็ก 4 ช่องทาง "สิทธิบัตรทอง" ป่วยโควิดรักษา ฟรี

รวมช่องทาง "ทำฟันปลอม" ฟรี! มีทั้งของรัฐ-เอกชน


ถูกเรียกเก็บเพิ่ม ไม่ต้องจ่าย ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองต้องรู้ทัน

วันนี้ (2 ธ.ค.2565)สปสช.จับมือสภาองค์กรของผู้บริโภคแก้ปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกสถานพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษา “ถูกเรียกเก็บเพิ่ม ไม่ต้องจ่าย สิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน”

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าขณะนี้มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ได้ทำเรื่องร้องเรียนกรณี ถูกเรียกเก็บเพิ่มประมาณ 3,329 เรื่อง เป็นมูลค่าเม็ดเงินประมาณ 35.7 ล้านบาท ทั้งที่ การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ผู้ป่วยจะไม่ต้องถูกเรียกเก็บไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตาม

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้มอบหมาย ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมมือกับสปสช. ในการช่วยเหลือประชาชนเรียกเก็บเงิน ซึ่งในส่วนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำหนังสือไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องนี้  

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ์ และสปสช.เห็นความสำคัญในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากการถูกเรียกเก็บเงิน ซึ่งประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามาได้รับเงินคืนทั้งหมด แต่ก็ไม่อยากให้เกิดกรณีแบบนี้เพิ่มเติม จึงอยากทำความเข้าใจแก่ประชาชน และหน่วยบริการ ถึงการเรียกเก็บ ซึ่งไม่สามารถทำได้  

หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น การคลอดบุตรที่ รพ.รับส่งต่อตามสิทธิ แต่ถูกเรียกเก็บค่ารักษากว่า 1 หมื่นบาท  หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไปรักษา รพ.รัฐที่อยู่ใกล้  วินิจฉัยพบ นิ่วในถุงน้ำดีต้องผ่าตัด แต่ถูกเรียกเก็บค่ารักษากว่า 5 หมื่นบาท เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน และใช้สิทธิคนพิการ แต่ถูกเรียกเก็บค่ากายภาพบำบัดกว่า 3 ปี เป็นเงินเกือบ 4 หมื่นบาท 

 

รพ.ถูกฟ้องร้องต้องคืนเงิน พร้อมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15

กรณีที่กล่าวข้างต้น ล้วนเกิดการถูกเรียกเงินเพิ่ม ทั้งที่ไม่สามารถทำได้ จึงอยากทำความเข้าใจกับผู้บริโภค  หรือผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มได้ และหากรพ.เรียกเก็บเงินต้องสอบถาม และแจ้งว่ามาใช้สิทธิอะไรในการรักษาพยาบาล จะได้ไม่ต้องเกิดกรณีร้องเรียน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสถานพยาบาล ถ้าสถานพยาบาล โรงพยาบาลถูกร้องเรียน ต้องจ่ายเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้สถานพยาบาลต้องมีภาระเพิ่ม 

กทม.มีผู้ร้องเรียนมากสุดเกือบ 2,000 เรื่อง

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่าการแก้ปัญหาของผู้ให้บริการ ต้องไม่ใช่เป็นการเรียกเก็บเงินกับคนไข้ แต่ต้องมาหารือกับทางสปสช.ว่าบริการใดไม่สามารถให้บริการได้ หรือมีปัญหาอะไร

จากข้อมูลเรื่องร้องเรียน กรณีถูกเรียกเก็บเงิน ใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) จะเห็นภาพว่ามีการเรียกเก็บเงิน 3,329เรื่อง โดยเฉลี่ยปีละ 500-1,000 เรื่อง ซึ่งเรื่องส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขต 13 หรือคนกทม. มีเรื่องร้องเรียน 1,956 เรื่อง

สำหรับกลุ่มอาการโรค พบว่า

  • โรคระบบย่อยอาหารรวมโรคในช่องปาก มีการร้องเรียนมากสุด 259 เรื่อง
  • การบาดเจ็บ อุบัติเหตุต่างๆ 221 เรื่อง
  • การติดเชื้อโรคโควิด 199 เรื่อง
  • โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ 185 เรื่อง และ โรคระบบหายใจ 179 เรื่อง

ค่ารักษาพยาบาล คิดเป็นมูลค่า 30,086,711บาท

โดยประเภทหน่วยบริการ ที่ได้ถูกร้องเรียนมี 2 ประเภท คือ ไม่มีหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ/รัลส่งต่อตามสิทธิ์ 67% และเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ/รับส่งต่อตามสิทธิ

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามประเภทค่าบริการทางการแพทย์ที่ถูกเรียกเก็บมากสุด ได้แก่

  • ค่ารักษาพยาบาล/ค่ายาในบัญชี/ค่าทำแผล ฯลฯ 2,269 เรื่อง คิดเป็นมูลค่า 30,086,711บาท
  • ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 553 เรื่อง คิดเป็นมูลค่า 1,512,482 บาท  
  • การตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์​และพยาธิวิทยา156 เรื่อง คิดเป็นมูลค่า 307,006 บาท
  • อวัยวะเทียม/อุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา 150 เรื่อง คิดเป็นมูลค่า 2,891,956  บาท
  • ค่าบริการอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าพาหนะส่งต่อ 113 เรื่อง คิดเป็นมูลค่า 402,795 บาท
  • ค่าX-ray,MRI และCT 88 เรื่อง คิดเป็นมูลค่า 499,918 บาท

กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งถ้าเป็นเข้าข่ายสีแดง อาทิ หายใจหมดสติ  ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ทั้งรัฐและเอกชน ค่าใช้จ่ายจะมาเบิกจ่ายที่ต้นสังกัด  ส่วนสีเหลืองกับสีเขียวสามารถเข้าไปที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับสปสช. โดยหน่วยบริการ รพ.ไม่มีสิทธิเรียกเก็บจากคนไข้

กรณีกลุ่มผู้พิการ สามารถเข้าไปใช้บริการได้ทุกที่ 

"หากประชาชนถูกเรียกเก็บเพิ่ม ก่อนจะจ่ายเงินขอให้โทรสอบถาม สายด่วน 1330 ได้ตลอด24 ชั่วโมง และอย่าลืม ยืดอกพกบัตรประชาชน เพื่อจะได้สิทธิการรักษาพยาบาล ขณะที่หน่วยบริการทุกแห่งก็สามารถโทรมาสายด่วน 1330 ได้เช่นเดียวกัน" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว