‘รพ.หนองฮี’ จ.ร้อยเอ็ด ดูแลผู้ป่วย ‘ที่บ้าน’ เบิกค่าใช้จ่ายแบบ ‘ผู้ป่วยใน’

‘รพ.หนองฮี’ จ.ร้อยเอ็ด ดูแลผู้ป่วย ‘ที่บ้าน’ เบิกค่าใช้จ่ายแบบ ‘ผู้ป่วยใน’

โรงพยาบาลหนองฮี จ.ร้อยเอ็ด บริการเปิด Home Ward ดูแลผู้ป่วยที่บ้านตามหลักเกณฑ์กรมการแพทย์ พร้อมเบิกค่ารักษาจาก สปสช. แบบผู้ป่วยในได้ด้วย ระบุ เพียงเดือนเดียว มีผู้เข้ารับการดูแลแล้ว 29 ราย

พญ.รัชฎาพร สีลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองฮี จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา โรงพยาบาลหนองฮีได้เปิดบริการดูแลผู้ป่วยในแบบ Home Ward ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน โดยทีมแพทย์ประจำบ้านและสหวิชาชีพ เบื้องต้นจะเริ่มใน 7 กลุ่มโรคตามที่กรมการแพทย์กำหนด ได้แก่ 1. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 2. โรคโควิด-19 ในกลุ่ม 608 ที่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้

3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ ที่มีข้อกำหนดว่าต้องฉีดยาฆ่าเชื้อวันละ 1 ครั้ง 4. ผู้ป่วยระดับน้ำตาลในเลือดสูง และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย 5. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่มีภาวะอันตราย 6. One Day Surgery หรือบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ 7. ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รพ.เมตตาฯ เตือน ! ระวังโรคตาที่มากับน้ำท่วมขัง

ฟรี ฝัง"รากฟันเทียม"สิทธิบัตรทอง ใส่"ฟันเทียม"ทุกสิทธิรักษา

เตรียมพร้อมอย่างไร? เมื่อเข้าสู่วัยทอง

วิธีรับมือ"ความรักสู่ฆาตกรรม ป้องกันความรุนแรงในครอบครัว"

 

  • ดูแลผู้ป่วย 6 กลุ่มโรคที่บ้าน เบิกค่าใช้จ่ายแบบ ‘ผู้ป่วยใน’ จากสปสช.

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลหนองฮีดูแลได้ 6 กลุ่มโรค ยกเว้นบริการ One Day Surgery หรือบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-30 ก.ย. 2565 พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้ว 29 ราย เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม 608 ผู้ป่วยน้ำตาลในเลือดสูง และผู้ป่วยความดันโลหิต ส่วนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลในขณะนี้อยู่ที่ 15 เตียง

พญ.รัชฎาพร กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลหนองฮีเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2556 ถูกจัดให้เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่สุด สามารถให้บริการแบบผู้นอกได้เท่านั้น หลังจากปี 2560 ที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่ง พบว่าประชาชนต้องการให้มีบริการผู้ป่วยใน หรือแอดมิทด้วย ซึ่งหากโรงพยาบาลจะเปิดวอร์ดสำหรับผู้ป่วยในก็จะต้องขอดำเนินการ และโรงพยาบาลเองก็ไม่มีงบประมาณสำหรับเปิดวอร์ดผู้ป่วยใน ฉะนั้นอาจต้องใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนนานถึง 5 ปี

 

  • บริการ Home Ward ทำงานร่วมกับคนในชุมชน ผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วย

“ส่วนตัวเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตั้งใจเข้ามาอยู่ที่โรงพยาบาลหนองฮี เพราะอยากทำให้เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ หรือ Super Primary Care จึงเกิดการพูดคุยกับประชาชนในอำเภอ และเกิดการทอดผ้าป่าระดมทุนเพื่อสร้างตึกผู้ป่วยใน จนถึงปี พ.ศ. 2562 โรงพยาบาลหนองฮีสามารถให้บริการผู้ป่วยในได้ 10 เตียง และสามารถขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้” พญ.รัชฎาพร กล่าว

พญ.รัชฎาพร กล่าวอีกว่า ในอดีต โรงพยาบาลจะไม่สามารถเบิกค่ารักษากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลที่บ้านได้เหมือนผู้ป่วยใน สุดท้ายก็ต้องดำเนินการเป็นรายเคส เช่น เบิกตามรายกองทุน อาทิ กองทุนผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ แต่หลังจากที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.แล้ว ก็สามารถเบิกได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของสำนักพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. กรมการแพทย์ สธ.

พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า จุดสำคัญของการจัดระบบบริการ Home Ward คือการทำงานร่วมกับคนในชุมชน ผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยได้อย่างยั่งยืน และทีมแพทย์ก็ได้เห็นความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย รวมถึงประชาชนก็จะได้เป็นเจ้าของสุขภาพของคนในครอบครัว และตนเอง