ชงแผน ‘เพิ่มสิทธิประโยชน์’ ปี 68 ปรับสูตรใหม่ ‘บำนาญผู้ประกันตน’

กางแผนผลักดันเพิ่ม ‘6 สิทธิประโยชน์’ ประกันสังคมของผู้ประกันตน ปรับสูตรคำนวณ ‘บำนาญชราภาพ’ ใหม่ เตรียมเสนอบอร์ดพิจารณา เดินหน้าขยายเงินดูแลเด็กถึง 12 ปี จ่ายปีละ 1 ครั้ง เพิ่มค่าคลอดบุตร ปรับเงินชดเชยทุพพลภาพจ่ายเต็ม 60% 2 ปี ชดเชยลาไปดูแลคนป่วย
จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมล่าสุดกว่า 24.80 ล้านคน ประกอบด้วยมาตรา 33 จำนวน 12.07 ล้านคนมาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 11.01 ล้านคน และมีเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมมีเงินสมทบสะสม กว่า 2.6 ล้านล้านบาท
เงินสมทบที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะแบ่งสัดส่วนสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ ค่าคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร รักษาพยาบาล การว่างงาน ทุพพลภาพ ชราภาพ และเสียชีวิต
ในปี 2567 สำนักงานประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม 7 กรณี แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว 38.58 ล้านครั้ง จำนวน 112,829.93 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน จำนวน 1,821.25 ล้านบาท รวมสิทธิประโยชน์จากทั้ง 2 กองทุน จำนวน 114,651.18 ล้านบาท
สิทธิประโยชน์ที่ปรับแล้ว
การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้ผู้ประกันตน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ส่วนที่ผลักดันสำเร็จแล้วเมื่อปี 2567 คือ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรอายุ 0-6 ปี จาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 จะใช้เงินกองทุนเพิ่มขึ้นราว 3,000 ล้านบาท ให้เด็ก 1.2 ล้านคน
รวมถึงส่วนประกันการว่างงานปรับเพิ่มจาก 50 % หรือสูงสุด 7,500 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 6 เดือน ปรับเป็น 60 % หรือสูงสุด 9,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน จะเริ่มมีผลในเดือนมี.ค.2568 กรณีแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง
ผลักดันขยายเงินเด็ก-ทุพพลภาพ
สิทธิประโยชน์ที่จะผลักดันปีนี้ คือ
1.ขยายเงินดูแลให้ถึง 12 ปี จากเดิมที่ไม่มีให้ แต่การบริหารจัดการเงินดูแลเด็กจะอยู่ในเงินกองเดียวกับเงินบำนาญชราภาพ จึงอาจจะไม่ได้เท่ากับเด็ก 0-6 ขวบ อาจจะได้รับครั้งเดียวต่อปี ราว 7,200 บาท อย่างน้อยอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคการศึกษา
2.ปรับเงื่อนไขการชดเชยผู้ทุพพลภาพหรือผู้พิการ เป็นการพิจารณาตามความพิการที่ดูจากการใช้งานจริง โดยจะกำหนด 2 ปีแรกหากถูกนิยามว่าทุพพลภาพเกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็จะจ่ายชดเชยให้เต็ม และขยับเป็น 60 % ของฐานเงินเดือนเป็นเวลา 2 ปี
จากนั้นจึงมาประเมินเงื่อนไขความพิการต่อไป จากเดิมที่แบ่งเกณฑ์ความพิการ ด้วยการวัดระดับความพิการรุนแรงมาก-น้อย ทำให้ได้รับเงินสัดส่วนที่ต่างกัน แต่จากการทำการสำรวจพบว่ามีความพิการตามอาชีพ อย่างการเป็นเชฟแล้วเส้นเอ็นมือขาด ไม่สามารถจับตะหลิวได้ อาจไม่ได้รุนแรง แต่สำหรับคนที่เป็นเชฟมา 20 ปี ก็ไม่สามารถทำอาชีพนี้ได้แล้ว
ชงบอร์ดใช้สูตรคำนวณบำนาญใหม่
3.เพิ่มค่าทำคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้งและเป็นเหมาจ่ายค่าฝากครรภ์ แทนแบบเดิมที่จ่ายเป็นรายครั้ง 2 เดือน,4 เดือนมาเบิกครั้งละ 1,500 บาท
4.กรณีเงินบำนาญชราภาพ จะปรับสูตรการคำนวณใหม่ จากเดิมเป็นการคำนวณจากเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย เปลี่ยนเป็นใช้คำนวณเงินเดือนตลอดอายุทำงานจริง
เนื่องจากผู้ประกันตนที่เงินเดือนสูงมาตลอดแต่ถูกเลิกจ้างตอนอายุ 50 ปีแล้วมาส่งประกันสังคมมาตรา 39 หรือต้องทำงานเป็นพนักงานรายวัน ทำให้เงินค่าจ้างลดลงอย่างมากในการคำนวณเงินบำนาญชราภาพซึ่งเรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบของอนุกรรมการแล้ว เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม)ต่อไป
“การคำนวณแบบใหม่จะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นด้วยสัดส่วนที่เป็นธรรม เพราะเคยส่งเงินสมทบด้วยอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ส่งในช่วง 5 ปีสุดท้าย ซึ่งจะทำให้ประกันสังคมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นปีละ 900-1,000 ล้านบาท แต่จะทำให้เงินบำนาญของคนหลักแสนคนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และถ้าสูตรใหม่นี้กระทบทำให้มีคนได้รับเงินบำนาญลดลง ก็จะมีบทเฉพาะกาล 5 ปี ในการชดเชยเพื่อไม่ให้ได้รับน้อยกว่าการคำนวณสูตรเดิม” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
จ่ายชดเชยการลาไปดูแลคนป่วย
5.กรณีการรักษาพยาบาลประกันสังคมอย่างน้อยต้องเท่าเทียมในทางปฏิบัติกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ปัจจุบันเป็นการเท่าเทียมทางกฎหมาย แต่ในฐานะผู้ใช้เห็นว่าหลายรายการที่ได้ไม่เท่ากัน ส่วนที่จะทำให้เป็นรูปธรรม เช่น การรักษาระดับปฐมภูมิให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้ดีขึ้น แทนการต้องเดินเข้า รพ.ที่เป็นคู่สัญญาประกันสังคมเท่านั้น ทำให้เสียเวลาไปแออัดใน รพ. ขณะที่บัตรทองสามารถไปรับบริการคลินิก หรือร้านยาใกล้บ้านได้ โดยจะผลักดันผ่านคณะกรรมการแพทย์ประกันสังคมที่จะมีชุดใหม่เข้ามาในเดือนก.พ.2568
และ 6.เรื่องสิทธิในการลาไปดูแลคนในครอบครัว จะล้อกับพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันพนักงานจำนวนมากไม่สามารถลาไปบอกลาพ่อแม่หรือสำคัญในชีวิตได้ เนื่องจากนิยามกำหนดโรคป่วยระยะสุดท้ายให้ได้รับเงินชดเชยประกันสังคม กรณีลาไปดูแลคนเหล่านี้ แต่บอร์ดประกันสังคมไม่มีอำนาจแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพียงแต่หากลาไปประกันสังคมจะจ่ายชดเชยให้ในส่วนนี้
โดยจะทดลองคิกออฟก่อนปีละ 3-5 วัน และเลือกกรณีคนป่วยที่มีอาการบ่งชี้ เช่น เป็นมะเร็งระยะ 3-4 หรือผ่าตัดเร่งด่วน ให้สามารถเบิกค่าชดเชยได้จากการขาดงานส่วนนี้ หากพบว่าในความเป็นจริงคนอาจจะไม่ได้มาใช้สิทธินี้มากเหมือนที่หลายฝ่ายกังวล จึงจะพิจารณาขยายเพิ่มเติม
ปรับเพิ่มฐานเงินเดือนมาตรา 39
ขณะที่ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งสิทธิประโยชน์จะล้อตามมาตรา 33 ยกเว้นกรณีว่างงาน โดยเรื่องฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณส่งเงินสมทบ ปัจจุบันอยู่ที่ 4,800 บาท โดยมีข้อเสนอจากอนุกรรมการว่าควรคิดเป็น 50 % ของฐานเงินเดือนสูงสุดมาตรา 33 ที่ใช้อยู่ 15,000 บาท จึงควรปรับฐานเงินเดือนมาตรา 39 เป็น 7,500 บาท จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันที่มีการสมทบ 3 ประเภท 70,100 และ 300 บาทต่อเดือน ซึ่งสิทธิรักษาพยาบาลจะใช้สิทธิบัตรทอง แต่การชดเชยของมาตรานี้ หลักๆ จะเป็นเรื่องของการขาดรายได้ เช่น หากเข้ารักษาใน รพ.จะได้รับการชดเชยวันละ 300 บาท ,ชดเชยการขาดรายได้แม้ไม่ได้เข้านอน รพ.วันละ 200 บาท จากการจ่ายเงินสมทบเริ่มต้นปีละ 840 บาท
โดยสิทธิที่จะเพิ่มขึ้น และผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ดประกันสังคมแล้ว คือ ค่าเดินทางไปพบแพทย์ได้ครั้งละ 50 บาท ขยับเป็นครั้งละ 200 บาทจะมีผลในปี 2568 รวมถึง ชดเชยรายได้จากการตั้งครรภ์ สูงสุดได้รับ 9,000 บาทต่อ 1 การตั้งครรภ์ เดิมมาตรา 40 จะไม่มีส่วนนี้ นอกจากนี้ อนาคตจะมีการจูงใจอื่นๆ เช่น การจ่ายล่วงหน้า 1 ปีจะได้รับส่วนลด 10 % และการลาไปดูแลคนป่วยหากมาตรา 33 ได้รับแล้ว ก็จะขยายสิทธิให้มาตรา 40 ด้วย
ขยายสิทธิควบคู่กองทุนมั่นคงได้
หลายคนปล่อยประมาณว่าประกันสังคมทำเพราะถังแตก จึงต้องขยายเพดานฐานเดือนหรือขยายเรื่องต่างๆ แต่เมื่อดูตามสูตรจะพบว่า การปรับสิทธิประโยชน์ทั้งหลายหรือแนวคิดเรื่องการปรับฐานเงินเดือนต่างๆ หรือดึงให้คนมาส่งมาตรา 39 มากขึ้น สุดท้ายที่ได้ประโยชน์มากกว่ากองทุนคือ ผู้ประกันตน เพราะเรื่องชีวิตคนสำคัญมากกว่ากำไรขาดทุน
"จากที่ได้ดูมาเห็นว่าประกันสังคมมีช่องทางในการนำเงินมาเติมเข้ากองทุนอีกมาก และสามารถขยายสิทธิประโยชน์ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงได้ โดยที่ประกันสังคมไม่เคยเจ๊ง และตามกฎหมายเจ๊งไม่ได้” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์