ทำไมต้องพัฒนา 'ทักษะทุนชีวิต'

ทำไมต้องพัฒนา 'ทักษะทุนชีวิต'

ผลสำรวจ Adult Skills Assessment in Thailand : ASAT ของคนไทยอายุ 15-64 ปี จากทุกภูมิภาคครั้งแรก พบว่า ทักษะทุนชีวิตของเยาวชนและวัยแรงงาน มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ ดังนั้นการเร่งพัฒนา “ทุนทักษะชีวิต” จึงจำเป็นต้องทำ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ

“คน” คือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในองค์กร เพราะเป็นองค์ประกอบมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตก้าวหน้า เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ จะเห็นได้ว่าบริษัทที่มียอดขายโตต่อเนื่องติดต่อกันหลายๆ ปี และผลตอบแทนกำไรสูง จะมีคนที่มีทักษะความสามารถสมรรถนะสูงๆ หรือมีคนเก่งในองค์กรนั้นๆ หลายคน

ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีกำลังคนวัยแรงงานที่มีสมรรถนะสูง ทักษะชีวิตที่จำเป็นในการทำงานและใช้ชีวิตคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า และมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนา “ทักษะทุนชีวิต” ให้กับกลุ่มแรงงานให้สามารถทำงานได้ดี นำไปสู่การมีรายได้ที่มากพอเลี้ยงดูครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพของประเทศโดยรวม

ทว่าผลการสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand : ASAT) อายุ 15-64 ปี ทุกภูมิภาคครั้งแรกของประเทศไทย พบว่า ทักษะทุนชีวิตของเยาวชนและวัยแรงงาน มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่าน การรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ 64.7% ด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ 74.1% ส่วน ด้านอารมณ์และสังคมต่ำกว่าเกณฑ์  30.3% โดยสัดส่วนทักษะด้านการรู้หนังสือและดิจิทัล ต้นทุนทางเศรษฐกิจมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 20.1% ของจีดีพี ในปี 2565 

เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียดจะเห็นสาเหตุว่ามาจาก "ทักษะทุนชีวิต” ที่ต่ำนั้นมาจากรากฐานของการศึกษา แม้ว่าทุกรัฐบาลจะมีนโยบายให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาถ้วนหน้า แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้หมายความทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม เพราะคุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาแต่แห่งไม่เท่ากัน

ที่สำคัญ “โอกาสการเข้าถึงการศึกษา” แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ซึ่งเกิดจากฐานะของครอบครัว คนที่ยากจนก็ยากยิ่งจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ แค่คิดว่า “จะมีค่ารถ” ไปโรงเรียนได้อย่างไร ขณะที่ไม่มีเงินซื้อข้าว “ทุนชีวิต” ของแต่ละคนจึงไม่มีโอกาสที่จะเท่ากันได้เลย 

ดังนั้นการพัฒนา “ทักษะทุนชีวิต” จึงจำเป็น เพราะถือเป็นรากฐานในการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดได้มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยในทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกๆด้านทั้ง “เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง” โดยเฉพาะ “กลุ่มคน” ที่อยู่นอกระบบการทำงาน และมีระดับการศึกษาน้อย ยิ่งต้องได้รับการพัฒนา “ทักษะทุนชีวิต”เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละคน และต้องสามารถเพิ่มทักษะนำไปพัฒนาการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วย

ที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องร่วมมือเพื่อทำให้เกิด “ระบบการพัฒนาทักษะทุนชีวิต” ที่สอดคล้องกันอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิตแก่คนทุกช่วงวัย และต้องมีการลงทุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และวัยแรงงานที่จำเป็นต้องมีการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ที่สำคัญ “รัฐบาล” จะต้องเป็นแกนหลัก เป็นผู้นำของทุกภาคส่วนที่ทำให้เกิดการพัฒนา “ทุนทักษะชีวิต” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ