‘ผู้นำ’ แบบ Minimalist Leadership เรียบง่าย ถ่อมตัว ทำให้ธุรกิจเติบโตสุดปัง

‘ผู้นำ’ แบบ Minimalist Leadership เรียบง่าย ถ่อมตัว ทำให้ธุรกิจเติบโตสุดปัง

“ผู้นำ” สไตล์ “Minimalist Leadership” ที่เรียบง่าย ถ่อมตัว อาจเป็นเทรนด์มาแรงแซงหน้าผู้นำที่ชอบออกคำสั่งและเข้มงวด ที่ผ่านมาพบว่าผู้นำสไตล์มินิมอลบางเคสสามารถผลักดันธุรกิจเติบโตได้ถึง 400% 

Key Points:

  • แม้ว่าผู้นำแบบ Minimalist Leadership จะมีมานานแล้ว แต่ซีอีโอจำนวนมากก็ยังห่างไกลจากการนำสิ่งนี้ไปปฏิบัติจริง เพราะมักจะรู้สึกขัดกับสัญชาตญาณและไม่สบายใจ 
  • แต่ผู้นำที่ฝึกฝนทักษะดังกล่าวจะมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมที่ต้องการพนักงานที่มีส่วนร่วมและมีความคิดสร้างสรรค์
  • Minimalist Leadership คือ ผู้นำที่มีสถานะเรียบง่าย ไม่ถือยศถือศักดิ์ ถ่อมตัว ไม่จ้องจับผิด หลีกเลี่ยงการเป็นศูนย์กลาง ควบคุมทีมให้น้อยลง แล้วปล่อยให้พนักงานฉายแสงโดดเด่น

ปี 2023 กำลังจะผ่านไป ปีใหม่ 2024 กำลังมา เชื่อว่าผู้นำหรือผู้บริหารหลายๆ คนคงได้ทบทวนบทบาทและผลงานของตนเองกันอยู่บ้าง แล้วคุณพอใจกับมันแค่ไหน? หากรู้สึกว่ายังไม่สามารถบริหารงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจต้องกลับมามองวิธีบริหารทีมของตนเองใหม่อีกทีว่ามีจุดไหนที่ต้องปรับแก้หรือเพิ่มเติมได้บ้าง

หนึ่งในวิธีปรับโหมดวิธีบริหารให้พาทีมและองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้สุดปัง อาจเริ่มจากการปรับพฤติกรรมสู่การเป็นผู้นำแบบ “Minimalist Leadership” ที่เรียบง่าย ถ่อมตัว และไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง 

 

  • เปิดจุดเด่นผู้นำแบบ “Minimalist Leadership” ทำไมถึงส่งผลดีต่อการพัฒนาทีมและองค์กร

แฟรงก์ มาร์เตลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ มหาวิทยาลัยอัลโต ประเทศฟินแลนด์ อธิบายถึงนิยามของ “Minimalist Leadership” ไว้ว่า เป็นบุคลิกผู้นำที่มีสถานะเรียบง่าย ไม่ถือยศถือศักดิ์ ถ่อมตัว อีกทั้ง ซีอีโอที่มีทักษะนี้มักจะไม่จ้องจับผิด หลีกเลี่ยงการเป็นศูนย์กลางของความสนใจ ควบคุมทีมให้น้อยลง พวกเขาจะปล่อยให้พนักงานฉายแสงความสามารถให้โดดเด่น นำข้อดีของบริษัทมาเหนืออัตตาของตนเอง และท้ายที่สุดก็สามารถสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีนวัตกรรมมากขึ้น

โดยทักษะนี้พบได้มากในผู้นำองค์กรของ “ฟินแลนด์” หนึ่งในประเทศแนวหน้าของเทรนด์ “Minimalist Leadership” หรือบางคนเรียกว่า “Nordic minimalist leadership” ซึ่งเป็นประเทศที่ในองค์กรมีลำดับชั้นบังคับบัญชาน้อยที่สุดในโลก
(หมายเหตุ: Hierarchical Structure คือ โครงสร้างองค์กรที่เรียงลำดับการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง เริ่มจาก ซีอีโอ >> ผู้อำนวยการ >> ผู้จัดการ >> พนักงานระดับหัวหน้างาน >> พนักงานระดับเริ่มต้น)

ทั้งนี้มีข้อค้นพบว่า การที่ผู้นำเน้นการออกคำสั่ง สอดส่องเข้มงวด และการบังคับขู่เข็ญ จะไปทำลายแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น และการผลักดันตนเองของพนักงานลดลง (พนักงานจะรู้สึกว่าคิดไปทำไปก็เปล่าประโยชน์ ไม่มีใครสนับสนุน) หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นในองค์กรก็อาจนำไปสู่ผลเสียต่อธุรกิจได้ 

เนื่องจากในปัจจุบันทุกๆ บริษัทย่อมต้องการคนทำงานที่มีความคิดริเริ่มและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาองค์กร อีกทั้งยังมีหลักฐานจากงานวิจัยหลายชิ้น ชี้ว่า พนักงานที่มีแรงผลักดันโดยธรรมชาติด้วยตัวของเขาเอง จะยิ่งทำให้การปฏิบัติงานต่างๆ มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ดังนั้นผู้นำแบบมินิมอลจึงอาจตอบโจทย์การทำงานเชิงความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่า

 

  • เช็กลิสต์ผู้นำแบบ “Minimalist Leadership” ที่บางเคสนำพาบริษัทเติบโตถึง 400% 

ยกตัวอย่างการทำงานของผู้นำสไตล์มินิมอลอย่าง “อิลก้า พานาเนน” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Supercell บริษัทเกมมือถือมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ แห่งกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เขาเชื่อว่าเคล็ดลับในการสร้างผลงานยอดนิยม คือ การดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถสูงเข้ามาทำงานด้วยกัน จากนั้นตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานอย่างน่าขันให้พวกเขา แล้วปล่อยให้พวกเขาตัดสินใจร่วมกันว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์อะไร 

แล้วผลลัพธ์ก็ออกมาสุดปังอย่างที่หลายๆ คนเห็น บริษัทสามารถผลิตเกมยอดนิยมระดับโลกมากมาย และมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็น Clash of Clans, Hay Day และ Clash Royale เป็นต้น บริษัทได้พิสูจน์แล้วว่ากลยุทธ์ในการเป็นผู้นำที่เรียบง่าย และไม่เข้าไปรบกวนการทำงานของทีมมากเกินไป สามารถสร้างเวทย์มนตร์ให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างงดงาม

เช่นเดียวกับ “มัตติ อลาฮูตา” ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธาน Nokia Telecommunications ตั้งแต่ปี 1993-1998 เขาทำให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า และต่อมาเมื่อเขารับตำแหน่งเป็นประธาน Nokia’s Mobile Phone ในช่วงปี 1998-2003 พบว่าเขาสามารถทำยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 400% (เพิ่มขึ้นเป็น 29,000 ล้านดอลลาร์) 

ไม่เพียงแค่นั้น ในขณะที่เขาเป็นซีอีโอของ Kone ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลิฟต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงปี 2005-2014 มูลค่าตลาดของบริษัทพุ่งสูงขึ้นจาก 3,400 ล้านดอลลาร์เป็น 21,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเขามากที่สุด เขาตอบว่า มันคือการที่เขาได้ช่วยให้คนของเขาเติบโตและก้าวหน้าขึ้น

 

  • หากต้องการปรับวิสัยทัศน์และการบริหารแบบ “Minimalist Leadership” ต้องเริ่มอย่างไร?

พูดได้ว่าผู้บริหารทั้งสองคนข้างต้นแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์อย่างชัดเจนของการบริหารงานแบบ “Minimalist Leadership” โดยพวกเขาคอยช่วยเหลือทีม สนับสนุนความสามารถของพนักงานทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่ได้เน้นไปที่การสร้างภาพลักษณ์ดูดีหรือการออกคำสั่งจากเบื้องบน ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ว่า บริษัทที่มีผู้นำลักษณะดังกล่าวมักมีฐานะการเงินน่าประทับใจ เพราะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าและสร้างการมีส่วนร่วมที่สูงกว่าผู้นำแบบเดิมๆ 

ทั้งนี้ มีคำแนะนำถึงวิธีการที่จะทำให้ผู้นำสามารถปรับวิสัยทัศน์มาสู่การเป็น Minimalist Leadership ได้ดังนี้ 

1. สร้างวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนร่วมกัน ผู้นำต้องถ่ายทอดแรงจูงใจเชิงรุกของพนักงานทุกคนไปสู่เป้าหมายร่วมกัน แม้จะใช้เวลานานแต่ก็ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าพวกเขาถูกรับฟัง

2. สอนพนักงานให้คิดแบบซีอีโอ ในบางครั้งต้องลองปล่อยให้พนักงานตัดสินใจเอง แล้วคุณเป็นเพียงผู้สนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาตัดสินใจ

3. แทนที่การควบคุมด้วยความไว้วางใจ โดยเฉพาะเมื่อพนักงานเลือกตัวเลือกที่ “ผิด” เจ้านายก็ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง ยอมปล่อยให้ผิดไป แล้วช่วยทีมในการค้นหาทิศทางใหม่ในการแก้ปัญหา ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญทางกลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัท

4. สร้างสมดุลระหว่างอิสรภาพด้วยขอบเขตที่ชัดเจน ผู้นำควรให้อิสระการทำงานกับพนักงานในแบบของพวกเขาเอง ขณะเดียวกันก็คอยให้คำแนะนำและวางกรอบคร่าวๆ ให้ว่าสิ่งใดที่ทำได้และสิ่งใดที่ทำไม่ได้

แม้ว่าความเป็นผู้นำแบบมินิมอลลิสต์อาจรู้สึกขัดกับสัญชาตญาณและไม่สบายใจ แต่ผู้นำที่ฝึกฝนทักษะดังกล่าวจะมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมที่ต้องการพนักงานที่มีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังจะขจัดปัญหาคอขวดที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ อีกด้วย