'ผู้นำ' ที่นับถือตนเองต่ำ นำสู่ Toxic Leadership เพิ่มความเครียดให้ที่ทำงาน

'ผู้นำ' ที่นับถือตนเองต่ำ นำสู่ Toxic Leadership เพิ่มความเครียดให้ที่ทำงาน

"ผู้นำ" ที่มีความนับถือตนเองต่ำ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็น Toxic Leadership ที่เพิ่มความเครียดให้เพื่อนร่วมงานในทีมและสังคมการทำงานในบริษัท

Key Points:

  • ผู้นำแบบ "Toxic Leadership" มักจะเพิ่มความเครียดในที่ทำงานมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้นำคนนั้นมีความนับถือตนเองต่ำ
  • ลักษณะเด่นของผู้นำที่เป็นพิษในที่ทำงาน ได้แก่ มักจะอิจฉาความสำเร็จของทีม, มีความกังวลอย่างต่อเนื่องกับ "ศัตรู" ในที่ทำงาน, มักมองว่าคุณค่าในตนเองถูกขับเคลื่อนโดยผลลัพธ์ล่าสุดเท่านั้น
  •  

วัยทำงานทุกคนรู้ดีว่า "ความเครียด" เป็นสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นแม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ทุกคนก็ย่อมต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมเชิงบวก ทำงานด้วยความสนุก กระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์ สร้างสมาธิ และได้ผลิตผล เพื่อให้งานสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในทางตรงกันข้าม หากพนักงานออฟฟิศต้องเจอกับ "ผู้นำ" หรือหัวหน้างานที่เป็น Toxic People หรือเจอสังคมการทำงานที่เต็มไปด้วย "Toxic Leadership" ก็ย่อมทำให้เกิดความเครียดในที่ทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ผู้นำ (บางคน) กลายเป็น "บุคคลเป็นพิษ" นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการมีความนับถือตนเองต่ำ

ศาสตราจารย์ ดร.ไซมอน แอล โดแลน (Simon L. Dolan) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งทำงานด้านนี้มากว่า 40 ปี ชี้ว่า ผู้นำที่มีความนับถือตนเองต่ำมักจะส่งต่อความเครียดให้กับทีมของตน จากการวิจัยเชิงสำรวจชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า พนักงานออฟฟิศ 3 ใน 5 ของโลกรายงานว่า งานในออฟฟิศของพวกเขาส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตมากกว่าสิ่งอื่นใด

 

  • จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อองค์กรมี "ผู้นำ" ที่เป็นพิษ ?

ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์โดแลนเคยค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับ "วิธีการลดความเครียดในที่ทำงาน" นำมาซึ่งชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้นำและผู้ใต้บังคับบัญชาในหลายๆ ประการ ศาสตราจารย์โดแลนอธิบายว่า ความเป็นผู้นำสามารถสร้างหรือทำลายองค์กรได้ โดยผู้นำที่ดีจะจูงใจทีมงานให้มีความคิดสร้างสรรค์และได้งานที่มีประสิทธิผล แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากมีผู้นำที่เป็นพิษในองค์กร ก็จะไปลดแรงจูงใจของทีม ทำให้ขวัญกำลังใจตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อผลงานของทีม และสามารถทำลายองค์กรได้

ทั้งนี้ ลักษณะเด่นของผู้นำที่เป็นพิษในที่ทำงานนั้น ศาสตราจารย์โดแลนให้ลองสังเกตจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

1. เป็นผู้นำที่มักจะอิจฉาความสำเร็จของทีม 
2. มีความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการแข่งขันหรือ "ศัตรู" ในที่ทำงาน 
3. มักจะให้เครดิตผลงานของผู้อื่น แต่ก็แอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง 
4. มักจะมองว่าคุณค่าในตนเองนั้น ถูกขับเคลื่อนโดยผลลัพธ์ล่าสุดเท่านั้น
5. ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผู้นำลักษณะนี้มักจะใช้อำนาจในทางที่ผิด ละเมิดความไว้วางใจของผู้อื่น และยึดแต่แนวคิดของตัวเองเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำมีเดิมพันที่สูงเสมอ หากผู้นำรู้ตัวว่าพฤติกรรมบางอย่างของตนเองกำลังส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนอื่นๆ ในทีม จะต้องทบทวนตัวเองเสียใหม่ แล้วทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้เป็นผู้นำที่ดี ต้องปรับให้ตนเองมีทัศนคติเชิงบวกในการทำงานกับผู้อื่นให้มากที่สุด

 

  • ทำไมผู้นำบางคนมีพฤติกรรมที่เป็นพิษต่อคนอื่นในที่ทำงาน?

ประเด็นนี้ศาสตราจารย์โดแลนให้คำตอบว่า บุคคลที่มีพฤติกรรมเป็น Toxic People นั้น มักจะมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เช่น การผ่านประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก, มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และการรับรู้, ในวัยเด็กถูกบีบบังคับให้ต้องแสดงคุณค่าของตนต่อผู้อื่น (ต้องเรียนเก่ง, ต้องได้ที่ 1, ต้องเล่นกีฬา-เล่นดนตรีเก่ง, ต้องว่านอนสอนง่าย ฯลฯ)  จึงทำให้บุคคลเหล่านี้อ่อนไหวต่อความเครียดมากเป็นพิเศษ

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คนๆ หนึ่งกลายเป็น Toxic people มักเกิดจากการขาดความนับถือตนเอง ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน ซึ่งมักนำไปสู่การขาดจริยธรรม ขาดความรู้คิดผิดชอบชั่วดี และทำให้ความฉลาดทางอารมณ์บกพร่องตลอดชีวิต

โดยทั่วไปปฏิกิริยาโต้ตอบต่อความเครียดของ Toxic people นั้น จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละคน เช่น มีความวิตกกังวล เก็บตัวมากเกินไป มีความเข้มงวดสูง ไม่มีความยืดหยุ่น มีความทะเยอทะยานสูง รวมถึงความบกพร่องทางการรับรู้และการควบคุมตนเอง

“ในทางตรงข้าม คนที่รู้สึกว่าสามารถควบคุมตนเองได้ในทุกสถานการณ์ ในทุกๆ จังหวะชีวิต ไม่ว่าจะเจอเรื่องร้ายหรือดี คนกลุ่มนี้จะมีความเครียดน้อย และนี่คือแก่นแท้ของความฉลาดทางอารมณ์ แม้ว่าบางคนจะไม่ใช่คนที่มั่นใจในตัวเองตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถปรับทัศนคติจากภายในให้กล้าแสดงออกมากขึ้นได้” ศาสตราจารย์โดแลนอธิบาย 

 

  • การเป็น "ผู้นำ" ไม่ง่าย มักถูกเหมารวมว่าต้องเก่งเหนือมนุษย์ 

ศาสตราจารย์โดแลนอธิบายในอีกมุมหนึ่งว่า เนื่องจาก "การเป็นผู้นำ" มักถูกร้องขอให้ทำงานหนัก จึงอาจเกิดการเหมารวมลักษณะของ "ผู้นำ" ไว้ว่าจะต้องเก่งเหนือมนุษย์ในทุกด้าน ทั้งด้านความแข็งแกร่ง เข้มแข็ง เป็นคนคุณภาพสูง ทนทานต่อความยากลำบากและการเจ็บป่วยได้มากว่าคนอื่น 

แต่การเหมารวมดังกล่าวอาจส่งผลอันตรายกับคนๆ หนึ่งในฐานะ "ผู้นำ" ได้ เพราะ เมื่อพวกเขาถูกคาดหวังสูงจึงจำเป็นต้องซ่อนความรู้สึกด้านอ่อนแอของตนเองไว้ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลก็ตาม โดยหากผู้นำฝืนทำหรือแกล้งทำเป็นยอดมนุษย์ จะส่งผลให้สภาพจิตใจและร่างกายย่ำแย่อย่างมาก จึงไม่แนะนำให้ทำแบบนั้น

แต่ควรทำสิ่งสำคัญจริงๆ นั่นคือ การคำนึงถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของตนเองตามความเป็นจริง อีกทั้งผู้นำต้องรู้จักจัดการอารมณ์ตนเองได้ดี แม้ว่าจะเผชิญเรื่องที่กระทบจิตใจมาก็สามารถสงบสติอารมณ์ของตนเอง และพูดคุยกับคนในทีมด้วยเหตุผลได้

ในการที่จะทำเช่นนั้นได้ ผู้นำจำเป็นต้องมีตัวช่วยในการควบคุมอารมณ์ให้ตัวเอง เช่น "การลดความเครียดในที่ทำงาน" ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร เริ่มตั้งแต่วิธีการสื่อสารแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท ไปจนถึงเทคนิคการผ่อนคลายส่วนบุคคลสำหรับพนักงาน

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้นำจะถูกคาดหวังให้มีความมั่นใจ แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าสับสนระหว่างความมั่นใจมากเกินไป ผู้นำที่ดีต้องได้รับความเคารพ ได้รับแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย และมีหน้าที่ดูแลการเติบโตให้บริษัท ไม่ใช่แค่คนที่มั่นใจในตนเอง อีกทั้งผู้นำที่ดีควรให้การยกย่องแก่พนักงานที่ทำผลงานได้ดี เพื่อส่งต่อการรับรู้ความสำเร็จทางด้านจิตใจ เช่น ความภาคภูมิใจและความนับถือตนเอง ให้แก่พนักงาน” ศาสตราจารย์โดแลนกล่าวทิ้งท้าย
--------------------------------------
อ้างอิง : Phys.org