บอร์ดค่าจ้าง ยืน มติเดิม! ขึ้นสูงสุด 370 บาท คาด เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

บอร์ดค่าจ้าง ยืน มติเดิม! ขึ้นสูงสุด 370 บาท คาด เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

มติคณะกรรมการค่าจ้าง ยืนยันผลอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 คือ ขึ้นสูงสุด 370 บาท ที่ภูเก็ต ต่ำสุดอยู่ที่ 330 บาท จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 363 บาท

 

วันที่ 20 ธันวาคม 2566  นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้าง ปี 2567 ว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในวันนี้ ได้นำข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 แล้ว

 

ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเดิม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เนื่องจากสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เป็นสูตรที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฯ จังหวัดทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุและผลบนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน

 

 

จึงเห็นควรให้ปรับอัตราค่าจ้างด้วยความเหมาะสมและความเป็นจริง และเป็นการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เป็นธรรม และน่าเชื่อถือโดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 2-16 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.37) แบ่งเป็น 17 อัตรา โดยมี อัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต คือวันละ370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา คือวันละ 330 บาท

 

“สำหรับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้น คณะกรรมการค่าจ้างจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงสูตรในการกำหนดอัตราค่าจ้างใหม่ ซึ่งเป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี ซึ่งวันที่  17 มกราคม 2567 จะลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ส่วนการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 นั้นจะเป็นช่วงใด จะต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่าจะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่ และเมื่อได้สูตรใหม่แล้วจะเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างใหม่อีกครั้ง แต่ตอนนี้ใช้ตามมติเดิมไปก่อน"  

 

 

"อย่างไรก็ตาม จะพยายามทำเต็มที่ และโดยเร็วที่สุด โดยคิดว่าในช่วงปี 2567 จะได้สูตรการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่  ซึ่งเราจะพิจารณาในประเภทกิจการเป็นสำคัญ เช่น การท่องเที่ยว บริการ ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาปรับสูตร  โดยจะรีบนำเข้าครม.ในอาทิตย์หน้า เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด   และให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2567  เป็นต้นไป” นายไพโรจน์ ฯ  กล่าว


 
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาคและการหารือของแต่ละจังหวัด และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข