หมอจบใหม่ลาออก บอกข้อคิดอะไรเรา | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

หมอจบใหม่ลาออก บอกข้อคิดอะไรเรา | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ต้นเดือนมิถุนายนปี ๒๕๖๖ มีข่าวฮือฮาเป็นที่สนใจของทุกวงการนับตั้งแต่ ข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง ไปจนถึงชาวบ้านธรรมดา ข่าวนั้นก็คือเรื่องของหมอสาวจบใหม่คนหนึ่ง ที่โพสต์บอกถึงฟางเชือกสุดท้าย ที่ทำให้เธอไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้อีกต่อไป ด้วยภาระงานที่หนักเกิน

คือ รวมๆแล้วอาจต้องทำงานถึงสัปดาห์ละเป็นร้อยชั่วโมง เป็นใครก็ไม่ไหว  

แรงกระแทกจากแค่โพสต์ๆเดียว

เดี๋ยวนี้เรื่องอะไรก็ตามที่มันติดกระแส เป็นไวรัลขึ้นมาเมื่อไร อะไรๆก็หยุดมันไม่ได้  เรื่องที่หมอสาวคนนี้โพสต์ไว้คงเป็นเพียงต้องการระบายความเครียดที่มีอยู่ในตัวออกไป  แต่เมื่อมันไวรัล แชร์กันสนั่น 

เรื่องที่เธอคิดว่าเป็นแค่เรื่องของคนตัวเล็กๆอย่างเธอ ไม่มีอะไรสลักสำคัญพอที่ผู้ใหญ่จะมาสนใจ ก็กลายเป็นเรื่องที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขต้องรีบประชุมเป็นการเร่งด่วน และต้องออกมาอธิบายถึงสิ่งที่เป็นไปในวงการแพทย์ไทยในปัจจุบันว่ามีขีดจำกัดอะไรและกระทรวงกำลังทำอะไร

บทเรียนจากกรณีนี้คือแรงกระแทกของโพสต์ที่โดนใจคน ต่อสังคมโดยรวมแบบนี้นับวันจะมีออกมาเรื่อยๆ  เราต้องเรียนรู้และหาวิธีรับมือกับมัน  ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องของแพทย์หญิงคนนี้คนเดียวเท่านั้น

ปัญหาหมอเครียดเป็นปัญหาใหญ่ไหม

ใหญ่แน่ ใครๆก็รู้ เพราะถ้าหมอทำงานหนักเกิน หมอเครียด หมอมีเวลาน้อยที่จะพูดคุยและให้คำปรึกษาแก่คนไข้ ดังนั้นคนที่เดือดร้อนในบั้นปลายก็คือ ชาวบ้าน ที่อาจตายได้เพียงแค่หมอวินิจฉัยและตัดสินใจเร็วจนพลาด 

ถ้าคนตายนั้นเป็นผู้หารายได้หลักเข้าบ้านเรื่องก็จะไม่ใช่แค่พ่อตายแม่ตาย แต่จะมีผลกระทบไปถึงอนาคตของลูกหลาน ที่เมื่อไม่มีการศึกษาก็จะเป็นพลเมืองที่มีโอกาสน้อย กลายเป็นคนไม่ควรจนของสังคมต่อไปอีกเป็นลูกโซ่

หมอจบใหม่ลาออก บอกข้อคิดอะไรเรา | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ปัญหาที่ว่าใหญ่นั้นมาจากภาระงานที่เกินเลยของบุคคลากรทางการแพทย์ อันหมายรวมไปถึงพยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิค ไปจนถึงพนักงานเปล ฯลฯ ที่มีข่าวมาอยู่บ่อยในพักหลังที่โดนคนไข้ตบหรือแม้กระทั่งโดดถีบเอา 

ที่น่าตกใจคือภาระงานที่เกินเลยไปมากนั้นรู้กันอยู่แล้ว  มีตัวเลขฟ้องยืนยันอยู่ด้วยว่าหนักมากจริง

หมอ โดยเฉพาะหมอจบใหม่ มีทางเลือกอื่นไหม

หมอที่ต้องอยู่เวรเป็นบ้าเป็นหลังนี้เป็นหมอจบใหม่ เรียกกันว่า'หมอใช้ทุน'เพราะตอนเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน  ใช้วิธีขอทุนจากหลวงเอา  เมื่อจบมายังไม่เก่งนักจึงต้องมาหัดเรียนรู้งานจากหมอรุ่นพี่  นอกจากต้องตรวจคนไข้นอกแล้วยังต้องตรวจคนไข้ใน  ต้องอยู่เวร  ต้องเป็นผู้ช่วยหมออาวุโส  ต้องอยู่ห้องฉุกเฉิน ฯลฯ  อีกเยอะแยะ 

เมื่องานมันหนักเกิน ทนไม่ไหวก็ต้องหาทางออก ทางหนึ่งคือการลาออก แบบที่หมอสาวคนนั้นได้ทำตามรุ่นพี่คนอื่นๆที่ได้ทำมาไว้แล้วก่อนหน้าเป็นสิบปี ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร  ที่ไม่ใช่ใหม่อะไรก็เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีรายได้สูง  หากลาออกไปก็เอาเงินเดือนที่สูงขึ้นนั้นมาใช้หนี้แก่รัฐ  

แต่รัฐไม่อยากได้เงินหรอก  เงินแค่นี้นิดเดียว อยากได้หมออยู่กับโรงพยาบาลมาช่วยกันรักษาคนไข้ดีกว่า 

ปัญหาหมอทนไม่ไหว ลาออกนี้ รู้กันมาก่อนไหม

รู้ครับ  ดูตัวเลขที่หมอลาออกแต่ละปีดังในภาพที่เอามาแสดงประกอบก็ได้   หมอจบใหม่มาทำงานปีแรกยังสดจากมหาวิทยาลัย ยังมีแรง  ยังทนได้  ถึงสิ้นปีมีอัตราลาออกเพียง 1.2%  แต่พอขึ้นเป็นหมอใช้ทุนปีที่ 2 อัตราลาออกเพิ่มเป็นถึง 9.69% 

พอเป็นหมอใช้ทุนปีที่ 3  ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้ว พอสู้กับภาระงานที่หนักนั้นได้แล้ว ตัวเลขก็ลดลงเป็น 4.4%  ถามว่าตัวเลขพวกนี้สูงมากไหมก็ไม่สูงมากในเชิงตัวเลข  แต่ถือว่าสูงมากในแง่การจัดการเพื่อดูแลคนไข้

จึงได้มีความพยายามหาทางแก้ไขกันอยู่  แต่เรื่องมันไม่ง่าย  จะเพิ่มจำนวนหมอพยาบาลรวมทั้งคนงานก็ต้องขออัตรากำลังจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน 

ถ้าได้คนมาก็ต้องมีงบจ้างคน ต้องมีอาคาร ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งก็ต้องไปขออนุมัติจากสำนักงบประมาณ เป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น  หน่วยงานทางการแพทย์พยาบาลตัดสินใจเองไม่ได้  นี่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ต้องการหน่วยเหนือขึ้นไปมาดูแลให้มากขึ้น

หมอจบใหม่ลาออก บอกข้อคิดอะไรเรา | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ถ้าเช่นนั้นจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรให้จบ

การแก้ปัญหานี้มีสองทาง แบบที่วงการธุรกิจเขาใช้กันเมื่อประสบปัญหาหนักๆ เช่น ในช่วงต้มยำกุ้งหรือในเหตุการณ์วิกฤติโควิด คือ หนึ่งเพิ่มรายได้ และสองลดค่าใช้จ่าย

วิธีแรกหรือการเพิ่มรายได้สำหรับกรณีคนไข้ล้นโรงพยาบาลจนหมอไม่พอนี้ ก็คือต้องไปทำความเข้าใจกับรัฐบาลและสำนักงบประมาณให้เข้าใจถึงความจำเป็นให้ได้  แต่เชื่อสิเรื่องนี้ไม่ง่าย  ถ้าง่ายก็คงทำกันไปนานแล้ว 

ไหนจะเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องจูงใจมากขึ้นจากภาระงานที่หนักในขณะที่ปรัชญาชีวิตของคนรุ่นใหม่คือ work-life balance  ไหนจะอาคารสถานที่ที่ต้องเพิ่มและต้องดีกว่าเดิมตามไปด้วย 

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถแพงกว่าตัวอาคารได้เป็นเท่าสองเท่า  แบบที่เห็นที่โรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีแผนจะสร้างอาคารรักษาพยาบาลขึ้นมาอีกหนึ่งอาคาร  งบก่อสร้าง 3 พันล้าน แต่ราคาเครื่องมืออุปกรณ์สูงถึง 6 พันกว่าล้าน  นี่ยังไม่รวมค่าที่ดินด้วยซ้ำ

พูดถึงงบประมาณ ก็ต้องพูดถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นๆทุกปีของโรงพยาบาล  ที่ทำให้โรงพยาบาลต่างมีรายได้ไม่พอรายจ่าย เกิดภาวะขาดทุน  แต่การรักษาพยาบาลเป็นไฟต์บังคับ ต้องทำตลอดไป โรงพยาบาลปิดไม่ได้  งานยังต้องเดินต่อ 

ตอนนี้เราจึงเห็นงานประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อระดมทุนจากชาวบ้านของทุกโรงพยาบาล  ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้จะโยงไปถึงวิธีการที่สอง คือ การลดค่าใช้จ่ายที่จะพูดถึงต่อไป

หมอจบใหม่ลาออก บอกข้อคิดอะไรเรา | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ทำอย่างไรจึงจะลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้

ผมไม่ใช่หมอ ไม่ใช่นักการเงิน ไม่ใช่นักจัดการ  แต่ผมเห็นว่ารากของปัญหามาจากจำนวนคนไข้ที่มากเกิน  คือเรามีระบบสาธารณสุขที่ภูมิใจกันมากว่าได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกว่ายอดเยี่ยม  แต่องค์การนั้นไม่ได้มารับรู้ไปกับเราด้วยว่าการที่มีระบบรักษาฟรีทุกโรค ทุกคน นั่นเป็นภาระอันใหญ่เกินความสามารถด้านการเงินปัจจุบันของประเทศ 

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คนต้นคิดโครงการสวัสดิการด้านการแพทย์ที่ดีมากนี้ มิได้ต้องการให้รักษาฟรีแก่ทุกคน  ต้นเรื่องของโครงการของหมอสงวนตั้งใจจะรักษาฟรีเฉพาะคนยากจน ไม่รวมคนที่ไม่จนแต่อยากจนเพื่อที่จะขอรับบริการฟรี รวมทั้งมีมาตรการให้คนที่ไม่จนพวกนี้ต้องร่วมจ่ายด้วย 

ถึงไม่มีแนวคิดนี้ในต้นเรื่องของหมอสงวนเรื่องร่วมจ่ายนี้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันจะเป็นความยุติธรรมให้ทั้งแก่แต่ละคนและแก่ประเทศชาติโดยรวม

ถ้ามีระบบร่วมจ่ายต่อทุกครั้งที่มารับการรักษา  ก็จะทำให้คนที่ไม่จนจริงต้องคิดว่าจะคุ้มไหมที่จะไปโรงพยาบาลแล้วไม่ต้องจ่ายอะไรเลยอย่างเคย  ส่วนราคาร่วมจ่ายจะเป็นเท่าไรนั้นก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญไปช่วยคิดมาให้ 

ถ้าเป็นผม ผมจะให้ร่วมจ่ายแบบเป็นขั้นบันไดด้วย คือ หากรายได้เกินขั้นต่ำแต่เกินไม่มากก็จ่ายน้อย ถ้าเกินแยะก็ต้องจ่ายมาก โดยใช้ระบบ Big Data มาช่วยวิเคราะห์และกำกับ 

หากทำได้เช่นนี้จำนวนคนไข้ที่ไปโรงพยาบาลจะลดน้อยลง ภาระงานของหมอก็ลดน้อยลง ความเครียดจะจางลง หมอลาออกน้อยลง คนไข้ก็แฮปปี้

ใครจะรับงานส่วนนี้ไปทำต่อ

หนีไม่พ้นที่ต้องเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการคลังและการสาธารณสุขรวมถึงสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ซึ่งถ้าเขาไม่เข้าใจถึงความรุนแรงของปัญหาและไม่ดำเนินการต่อ  หมอก็จะลาออกเพิ่มขึ้น 

ส่วนพวกเราชาวบ้านคนไทยก็จะต้องเสียเวลาเป็นวัน เพียงเพื่อเข้าไปพบหมอสองนาที อย่างที่เป็นกันมานับสิบปีแล้ว

ก็ได้แต่หวังว่า จากคลิปไวรัลของแพทย์หญิงคนนั้นจะทำให้พวกเขาเข้าใจได้ง่ายขึ้น  ซึ่งถ้าเป็นได้จริงตามนี้คนไทยทุกคนคงต้องไปกราบหมอสาวคนนั้นอย่างงามๆกันละ.