สรุป ‘ข้อกฎหมายที่แรงงานต้องรู้‘ ในปี 2023 ครอบคลุมวันลา-ตอบแชตหลังเลิกงาน

สรุป ‘ข้อกฎหมายที่แรงงานต้องรู้‘ ในปี 2023 ครอบคลุมวันลา-ตอบแชตหลังเลิกงาน

ลากิจต้องได้เงิน ลาป่วยเป็นสิทธิ ลาพักร้อนต้องไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี ลูกน้องมีสิทธิไม่ตอบแชต-รับโทรศัพท์หลังเลิกงาน เปิดข้อกฎหมายที่ “แรงงาน” ต้องรู้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์-ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ-ได้สิทธิประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เพราะข้อกฎหมายไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นองค์ความรู้ที่ทำให้เราสามารถ “ปกป้องสิทธิ์” และรักษาผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับให้กับตนเองได้

“กรุงเทพธุรกิจ” เปิดเช็กลิสต์ข้อกฎหมายจาก กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้อง-ใกล้ตัวมาให้ทุกคนไล่เรียง ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

สรุป ‘ข้อกฎหมายที่แรงงานต้องรู้‘ ในปี 2023 ครอบคลุมวันลา-ตอบแชตหลังเลิกงาน

  • ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน “เป็นสิทธิ”

ว่าด้วยเรื่องของ “วันลา” ที่แต่ละองค์กรมีจำนวนโควตาไม่เท่ากัน รวมถึงข้อกำหนดเล็กๆ น้อยๆ ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาของบริษัทด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากพลิกดูข้อกฎหมายจากกระทรวงแรงงานจะพบว่า มีจำนวนวัน รวมถึงเหตุผลประกอบระบุไว้ ดังนี้

  • ลาป่วย กรณีลาป่วย ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง สูงสุด 3 วันที่ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ แต่หากมากกว่า 3 วันขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ ซึ่งหากลูกจ้างไม่สามารถชี้แจงให้นายจ้างทราบได้ถึงเหตุผลในการลางาน ก็จะไม่นับว่าเป็นวันลาป่วย
  • ลากิจ ลูกจ้างสามารถลาไปทำกิจธุระได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี และในวันที่ลากิจ ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างจากการทำงานตามปกติ โดยจะเป็นการทำเรื่องลาไว้ล่วงหน้า หรือกลับมาเขียนใบลาย้อนหลังก็สามารถทำได้
  • ลาพักร้อน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 ระบุไว้ว่า พนักงานทุกคนมีสิทธิได้รับวันลาพักร้อนหรือวันหยุดประจำปี อย่างน้อย 6 วันต่อปี หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง

นอกจากนี้ ตามพ.ร.บ. ยังระบุอย่างชัดเจนด้วยว่า วันลาทั้ง 3 ประเภท ไม่ได้มีข้อกำหนดตามกฎหมายว่า ต้องผ่านระยะการทดลองงานหรือทำงานครบ 1 ปีขึ้นไปจึงจะได้รับ พนักงานหรือลูกจ้างจะได้รับวันลาทันทีที่เริ่มงาน

ส่วน “ลาพักร้อน” หรือ “ลาพักผ่อนประจำปี” ที่บางบริษัทมีข้อกำหนดให้ใช้ปีต่อปีเท่านั้น หรือมีวันหมดอายุของวันลา ตามข้อกฎหมายระบุไว้ว่า วันลาพักร้อนที่ได้รับจะมีอายุ 1 ปีหลังจากวันที่ได้รับ ส่วนเรื่องของการ “ทบวันลา” ในกรณีที่ใช้วันลาไม่หมด ไม่ได้มีระบุเรื่องนี้ไว้ในบทบัญญัติ สามารถทบได้ สะสมได้ ขึ้นอยู่นโยบายของแต่ละองค์กร ซึ่งไม่เป็นการขัดต่อข้อกฎหมาย

สรุป ‘ข้อกฎหมายที่แรงงานต้องรู้‘ ในปี 2023 ครอบคลุมวันลา-ตอบแชตหลังเลิกงาน

  • ลาออกไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ถ้าไม่มีข้อกำหนดในสัญญาผูกพันกับบริษัท

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 17 ได้ระบุถึงกรณีลาออกไว้ว่า สัญญาการจ้างงานจะสิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาการจ้างโดยมิต้องบอกล่วงหน้า ถ้าตีความตามตัวบทนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า การลาออกไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าให้นายจ้างหรือบริษัทรับทราบ สามารถออกได้เลยทันที

ทว่า หากในสัญญาไม่ได้ระบุวันสิ้นสุดสัญญาไว้ ลูกจ้างและนายจ้างต้องตกลงกันตามระเบียบปฏิบัติขององค์กร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว องค์กรมักระบุในสัญญาจ้างว่า ลูกจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีระยะเวลาในการเตรียมตัว ส่งต่องาน รวมถึงหาพนักงานใหม่มารับช่วงต่องาน

ฉะนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย การแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วันจะเป็นผลดีมากกว่า 

แต่ในกรณีที่การลาออกของพนักงานสร้างความเสียหายให้กับนายจ้างหรือองค์กร นายจ้างก็สามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ แต่หากศาลเห็นว่า ไม่ได้เกิดความเสียหายอะไร นายจ้างพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้องไปเท่านั้น

  • เลิกจ้างต้องบอกล่วงหน้า และจ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสม

เว็บไซต์กระทรวงแรงงานระบุถึงรายละเอียดของ “กรณีเลิกจ้าง” ไว้ว่า นายจ้างต้องแจ้งวันและเหตุผลที่จะเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากไม่ทำตามข้อกฎหมายดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าแก่ลูกจ้าง เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ลูกจ้างได้รับ รวมถึงยังมีรายละเอียดของระยะเวลาการทำงานและสิทธิได้รับค่าชดเชย ดังนี้

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน 
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน 
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน 

สรุป ‘ข้อกฎหมายที่แรงงานต้องรู้‘ ในปี 2023 ครอบคลุมวันลา-ตอบแชตหลังเลิกงาน

  • ทำงานที่บ้านได้ ไม่ตอบแชต-ไม่รับโทรศัพท์ไม่มีความผิด

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 8 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงวันและเวลาในการทำงานจากที่บ้านหรือ “Work from home” ได้ สามารถทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีจากที่ไหนก็ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้เข้าทำงานที่ออฟฟิศ ลูกจ้างก็ต้องได้รับเวลาพัก รวมถึงค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาหรือ “โอที” ตามปกติ 

และที่สำคัญ เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานในแต่ละวันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อคุยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สื่อสารผ่านโปรแกรมแชตหรือโทรศัพท์ก็ตาม โดยพ.ร.บ. ฉบับนี้มีการประกาศใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานในปัจจุบัน

 

อ้างอิง: e-LabourLegal Labour พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานRatchakitchaThairathKomchadluekBangkokbiznews