เตรียมตัวให้พร้อม!! 4 กลยุทธ์ปรับแรงงานไทย รับนักท่องเที่ยวจีน

เตรียมตัวให้พร้อม!! 4 กลยุทธ์ปรับแรงงานไทย รับนักท่องเที่ยวจีน

ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 นี้นักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มเดินมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยหลังจากจีนเปิดประเทศ และคาดว่าในไตรมาศแรกจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก  เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวจีน   

กระทรวงสาธารณสุข  ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานครและกระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้ไทยมีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ

คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาสแรกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2566 ประมาณ 300,000 คนหรือประมาณร้อยละ 5 ของนักท่องเที่ยวทุกชาติรวมกัน  ซึ่งคาดว่าเดือนมกราจะเข้ามา 60,000 คน กุมภาพันธ์ 90,000 คน มีนาคม 150,000 คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากในปัจจุบันยังมีจำนวนเที่ยวบินจำกัด 

ทั้งนี้จากข้อมูลการรับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 พบว่าประชาชนจีนรับวัคซีนครบสองเข็มแล้วในสัดส่วนร้อยละ 90.8 ขณะที่ค่าเหยียบแผ่นดินเป็นมาตรการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขณะนี้ยังต้องหารือจึงยังไม่มีผลบังคับใช้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

จับตาเที่ยวบินแรก 9 ม.ค.นี้ ไทยรับนักท่องเที่ยวจีน 200 คน

“เท่าเทียมทุกชาติ” ไม่เลือกปฏิบัติ จีนเปิดประเทศ มาตรการไทยรับนักท่องเที่ยว

“เที่ยวล้างแค้น” เช็ค 5 ข้อควรรู้ก่อนไปท่องเที่ยวเมืองนอก

เซ็นทรัล รีเทล เพิ่มโอกาสการศึกษา สร้างคนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ทางออกเปิดรับนักท่องเที่ยวปลอดโรค

ในส่วนของด้านแรงงานนั้น หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ต้องยอมรับว่าแรงงานได้รับผลกระทบจำนวนมาก ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดย ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงในการควบคุมการแพร่ระบาดของโวรัสโควิด-19 แต่ความสำเร็จนี้ก็ตามมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมหาศาล

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจีดีพีของไทยปีนี้จะลดลงไม่ต่ำกว่า 7.8 % ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักคาดว่าจีดีพีอาจลดลงถึง 8-10% นับเป็นอัตราการติดลบที่รุนแรงที่สุดในอาเซียน หรืออยู่ในกลุ่ม 12 ประเทศ จาก 42 ประเทศที่มีอัตราเติบโตติดลบมากที่สุดตามรายงานของนิตยสาร The Economist

ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุด คือ คนจำนวนหลายล้านคนทั้งในเมืองและชนบทที่ตกงาน หรือต้องหยุดทำงาน กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก อัตราการฆ่าตัวตายใน 6 เดือนแรกของปีนี้พุ่งสูงขึ้นผิดปกติถึง 22 % ธุรกิจจำนวนนับแสนแห่งคงต้องปิดกิจการในไม่ช้า

แม้รัฐบาลจะแจกเงินให้คนทั่วประเทศแล้ว 30.5 ล้านคนๆละ 15,000 บาท เงินประทังชีพกำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจนประชาชนมีงานและมีรายได้ต่อหัวเท่ากับปี 2562 คงต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่และเคยทำรายได้ให้ประเทศถึงร้อยละ 18 ของจีดีพี น่าจะฟื้นตัวช้าที่สุด

ทางออกที่สำคัญที่สุด คือ นโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว/จากประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิดมากที่สุด โดยเฉพาะจีน โดยไม่ต้องกักตัว (ยกเว้นการกักตัวสั้นๆระหว่างรอผลตรวจ) เพราะรัฐบาลจีนสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ผลที่สุด ทำให้เวลานี้คนจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวมณฑลต่างๆได้อย่างเสรีตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน

 

4 แนวทางปรับตัวของแรงงานไทย  รับนักท่องเที่ยวจีน

จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนน่าจะมากพอที่จะช่วยชีวิตของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในไทยได้เป็นจำนวนมาก และอาจช่วยได้มากกว่านโยบายไทยเที่ยวไทย แต่ไม่ต้องใช้เงินภาษีมาจ้างให้คนเที่ยว เมื่อธุรกิจมีลูกค้า รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียเงินกับมาตรการพักชำระหนี้ มาตรการ refinance หรือแม้กระทั่งมาตรการช่วยเพิ่มทุนให้ธุรกิจ

ยิ่งกว่านั้นผลสำคัญ คือ เกิดการจ้างงานจำนวนนับล้านคนในภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีการศึกษาไม่สูงซึ่งมีปัญหาการปรับตัวมากที่สุด ฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจ นโยบายนี้จึงเป็นนโยบายแบบ “ได้กับได้” (win-win)

ด้าน ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เสนอ 4  แนวทางหลักในการแก้ปัญหาแรงงานขาด ในช่วงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน ดังนี้ 

1.การเพิ่มแรงงานเสริม (Additional Non-permanent Staff)

การรับนักศึกษาฝึกงานแบบสหกิจศึกษา และการฝึกงานแบบปกติเพื่อเสริมทีมพนักงานประจำ ควรเน้นนักศึกษาที่มีทักษะการบริการและสามารถใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษได้

การรับนักศึกษามาทำงานแบบรายวัน (Casual)  สำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือระหว่างสัปดาห์แล้วแต่ความต้องการสถานประกอบการ   หรือทำงานแบบรายชั่วโมง  ซึ่งแบบนี้สามารถรับนักศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมระดับปริญญาตรี หรือสายอาชีวศึกษา ขึ้นอยู่กับระดับของสถานประกอบการว่าต้องการทักษะภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษระดับใด  หากเป็นโรงแรม 4-5 ดาวก็ต้องเน้นความสามารถด้านภาษามากขึ้น การจ้างแบบนี้จะเป็นการสนับสนุนการฝึกทักษะให้แก่นักศึกษาในระหว่างเรียน  และยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองด้วย

2.การอบรมทักษะเพิ่มเติมหรือเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill and New skill)

หลังจากการระบาดของโควิด-19 เกือบ 3 ปี ทำให้พนักงานเก่าอาจลาออก หรือย้ายงาน ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและ บริการจำเป็นจะต้องจัดอบรมทักษะภาษาจีน อบรมความรู้พื้นฐานวัฒนธรรมจีน การสื่อสารที่ถูกต้อง  เช่น อะไรควรหรือไม่ควรทำ (dos and don’ts)และประเด็นละเอียดอ่อนต่างๆ  การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และควรบริการชาวจีนอย่างไร

3.การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการบริการ (Effective Communication and Service)

  • ควรมีการสื่อสารและให้ข้อมูลเรื่องการบริการต่างๆด้วยภาษาจีนในโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว อย่างครบถ้วน  และเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถศึกษาด้วยตนเอง และลดการสอบถามพนักงาน  ข้อมูลที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อโซเชียลอื่นๆ ควรถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง  เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตามมา
  • ควรเพิ่มการบริการด้วยตัวเอง (Self service) มากขึ้น โดยอาจวางสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ และใช้ภาษาจีนแบบสั้นๆ หรือสัญญาลักษณ์ที่เข้าใจง่ายแทน จะช่วยลดความต้องการผู้ให้บริการได้
  • จัดเตรียม facilities และ  อุปกรณ์ในการบริการต่างๆให้พร้อมตามจุดต่างๆ  โดยคาดคะเนความต้องการล่วงหน้า เพื่อลดการขอบริการเพิ่มเติมจากพนักงาน
  • การจัดระบบคิว (Queueing system) การกำหนดเส้นทางการเดินเข้าและออก เพื่อลดความสับสน การเดินสวนทาง และลดปัญหาการแซง  จะทำให้บริการง่ายขึ้น และไม่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวทั่วไป หรือจัดแยกโซนหากคาดว่าจะรับนักท่องเที่ยวเป็นกรุ๊ป
  • ในจุดที่มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก เช่น จุดขายบัตรเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง  จุดขายคูปองตาม food courts ควรมีล่าม หรือนักศึกษาฝึกงานที่สามารถใช้ภาษาจีนได้ดีมาช่วยเป็นล่ามเสริม และให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยว

4.การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น (Use more IT)

การใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้าน  check-in/check-out  การตรวจสอบยอดการชำระเงินล่วงหน้า  วิธีการชำระเงิน  ก็สามารถช่วยลดความต้องการติดต่อผู้ให้บริการในโรงแรมได้ 

ในจุดท่องเที่ยว หรือร้านอาหารควรมีระบบ card หรือ QR code มาช่วยในการให้ข้อมูลและการชำระเงิน 

การวางแผนการจัดการนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะลดปัญหาการขาดพนักงานแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายการจ้างงานประจำ และสามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   ธุรกิจควรมีการประสานงานกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น  เพื่อรับนักศึกษามาฝึกงาน และทำงานแบบรายวันและรายชั่วโมง โดยมีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม  ขณะเดียวกันธุรกิจก็ต้องจัดระบบพี่เลี้ยง เพื่อให้เกิดประโยชน์และให้ความรู้แก่นักเรียนและนักศึกษาด้วย  การทำงานแบบนี้จะก่อให้เกิด win-win ทั้ง 2 ฝ่ายและทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้ในช่วงหลังโควิด- 19 ที่ลูกค้าต่างชาติกลับมาแล้ว 

"แม้รัฐบาลจะพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน แต่ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่งร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ควรเน้นการบริการโดยใช้ระบบ SHA+ ต่อไป โดยจะต้องยึดแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ เช่น มีเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ การใช้ช้อนกลาง  หรือเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวใส่แมสก์เมื่ออยู่ในที่ที่อากาศปิด   และพนักงานและแรงงานเสริมควรได้รับการฉีดวัคซีนตามข้อกำหนด"  ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม  การช่วยกันดูแลสุขอนามัยและสอดส่องนักท่องเที่ยวผู้มีความเสี่ยงในช่วงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน ยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะวิธีการสื่อสารเรื่องมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยป้องกันนักท่องเที่ยวจากการเจ็บป่วย  หรือหากติดแล้วก็จะช่วยจัดการดูแลรักษาให้หายได้เร็ว  ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างมีความสุข  ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันพนักงานขององค์กรและชาวไทยให้ปลอดภัยจากการติดเชื้ออีกด้วย